xs
xsm
sm
md
lg

คสช.เล็งทำความเข้าใจทวงผืนป่า รับสื่อสารอาจมีปัญหา ปัดทำ ปชช.เดือดร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กสม. สัมมนาการจัดการทรัพยาการธรรมชาติ เผย ชาวบ้านร้องประกาศ ฉ. 64-66 ไม่เป็นธรรม สงสัยเหตุใดจึงมีปัญหา ปชช. จี้ยกเลิก แนะให้มีส่วนร่วมคนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ ผู้เชี่ยวชาญแผน กอ.รมน. รับ คสช. ไม่นิ่งนอนใจ ยันทวงผืนป่าไม่ต้องการให้รากหญ้าเดือดร้อน ชี้การสื่อระดับปฏิบัติอาจมีปัญหา เล็งถกทำความเข้าใจ ขอ ปชช. ใจเย็น

วันนี้ (10 ก.ย.) คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมนชน และคณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่าในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ที่มี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯ เป็นประธาน ได้มีประชุมสัมมนา “แผนแม่บทเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน “โดยได้มีการเชิญตัวแทนภาคประชาชนจาก 4 ภาค และผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้แทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผู้แทนกรมป่าไม้ ผู้แทนสำนักแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ โดย นายนิรันดร์ กล่าวว่า นับแต่ที่ คสช. ได้ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 64 และ 66 ที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนำมาสู่การประกาศแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ในระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา กสม. ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านรวมกว่า 15 เรื่อง ว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนโยบายดังกล่าวของ คสช. โดยตัวแทนชาวบ้านที่มายืนยันว่าเป็นผู้ที่เดือดร้อนจริง และยืนยันในเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน รวมทั้งรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาทั้ง 40 และ 50 ก็ได้รับรองในเรื่องของสิทธิชุมชนเอาไว้ ซึ่งตามประกาศของ คสช. ทั้ง 2 ฉบับเข้าใจว่ามีลักษณะเป็นการคุ้มครอง แต่ทำไมในทางปฏิบัติจึงกลายเป็นปัญหากับชาวบ้านทำให้ต้องการทราบว่าจะแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างไร

ด้านตัวแทนชาวบ้านจาก 4 ภาค ก็ได้มีการสะท้อนปัญหาในการเข้าปราบปรามการรุกพื้นที่ป่าภายหลัง คสช. ประกาศนโยบายดังกล่าว โดยเห็นว่าช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ในพื้นที่มีการบังคับเน้นการบังคับใช้ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 64 ค่อนข้างมากกว่าประกาศ คสช. ฉบับที่ 66 ที่เน้นว่าการดำเนินการตามนโยบายนี้จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และไร้ที่ทำกิน จึงทำให้ชาวบ้านที่ที่ทำกินถูกระบุว่าอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวน ป่าอุทยานเดือดร้อน ถูกไล่รื้อ แจ้งความจับ เป็นจำนวนมาก จึงเห็นว่า คสช. ควรมีการทบทวน หรือยกเลิกประกาศทั้ง 2 ฉบับ โดยการแก้ไขปัญหาดังกล่าวควรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเพราะคนกับป่าต้องอยู่ร่วมกันได้

ขณะที่ พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายแผน กอ.รมน. ก็ได้ชี้แจงว่า หัวหน้า คสช. ได้รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้ประกาศทั้ง 2 ฉบับ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งยืนยันว่าในหลักการแล้วมีความชัดเจนว่าแนวนโยบายดังกล่าวไม่ต้องการให้ผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ที่ไร้ที่ทำกินเกิดความเดือดร้อนจากการปฏิบัติตามนโยบาย ขณะเดียวกัน แผนแม่บทฯดังกล่าวของ คสช. ยังจะเป็นการคืนสิทธิให้กับประชาชนมากกว่า แต่การสื่อสารลงในระดับปฏิบัติอาจมีปัญหา ซึ่งกำลังจะมีการประชุมทำความเข้าใจกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้ได้แนวปฏิบัติที่ชัดเจนตรงกัน ไม่เกิดปัญหา จึงขอให้ชาวบ้านใจเย็น หากเห็นว่ามีปัญหาก็สามารถแจ้งมาได้


กำลังโหลดความคิดเห็น