xs
xsm
sm
md
lg

จ่อใช้ กม.ฟอกเงิน-ภาษี จัดการผู้ลักลอบทำลายป่า

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


จัดประชุมศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามแผนยุทธการ “พิทักษ์ทรัพยากรแผ่นดินสู่ความยั่งยืน ขั้นที่ 1” สนองนโยบาย คสช.เพื่อรักษาพื้นที่ป่าไม้ไว้ให้ได้ 40 เปอร์เซ็นต์ ภายในระยะเวลา 10 ปี

วันนี้ (22 ส.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมบูรณาการป้องกันปราบปรามกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามแผนยุทธการ “พิทักษ์ทรัพยากรแผ่นดินสู่ความยั่งยืน ขั้นที่ 1” ได้เชิญผู้แทนจากหน่วยรับผิดชอบหลัก พล.ท.คณิต อุทิตสาร ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 26 หน่วยงาน ตามแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติกล่าวว่า การประชุมในวันนี้ (22 ส.ค.) เป็นการประชุมเพื่อขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าที่นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติแผนแม่บทฯ นี้ เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้มีความห่วงใยและให้ความสำคัญในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก และได้ทราบถึงสถานการณ์ที่มีความวิกฤติอย่างรุนแรง ซึ่งเมื่อ 70 ปีที่แล้ว พื้นป่าของประเทศไทยมีอยู่ประมาณร้อยละ 60 ของพื้นที่ประเทศ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง ร้อยละ 30 เท่านั้น โดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 11 ว่า ประเทศไทยสมควรที่ต้องมีป่าไม้ไว้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ เพื่อเป็นการรักษาระบบนิเวศไว้ให้ได้ เพราะฉะนั้นแผนแม่บทฯ ดังกล่าว จึงได้มีการกำหนดจุดประสงค์ ว่า ประเทศไทยต้องมีและรักษาพื้นที่ป่าไม้ไว้ให้ได้ 40 เปอร์เซ็นต์ ภายในระยะเวลา 10 ปี นับจากนี้เป็นต้นไป

พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติกล่าวต่อว่า ในแผนแม่บทฯ ได้มีการกำหนดแนวทางการปฏิบัติไว้ 3 ข้อ คือ 1. การป้องกันและปราบปราม ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี โดยเป็นการปฏิบัติขั้นเด็ดขาด เพราะหากไม่ใช้มาตรการนี้ก็จะไม่สามารถหยุดขบวนการลักลอบเหล่านี้ได้ 2. การแก้ไขปรับปรุงเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการภายในของส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่ทำให้การแก้ไขการตัดไม้ทำลายป่าแ ละการบุกรุกที่สาธารณะขาดประสิทธิภาพ ซึ่งจะใช้เวลาตั้งแต่บัดนี้ โดยจะใช้เวลา 2 ปี และ 3. การจัดการในระยะยาว จะมีการฟื้นฟูและการจัดระบบโซนนิ่ง โดยจะใช้เวลาประมาณ 10 ปี ทั้งหมดนี้เป็นภาพรวม ทั้งนี้ ภารกิจในเรื่องนี้ยังเป็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีกรมหลักอยู่ 3 กรม คือ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทั้ง 3 กรม ยังเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติภารกิจนี้อยู่ ส่วนหน่วยงานอื่นๆ ทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กองทัพบก (ทบ.) กองทัพเรือ (ทร.) และกองทัพอากาศ (ทอ.) พร้อมทั้งส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะเป็นหน่วยงานเสริมการปฏิบัติของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันถือว่าวิกฤติอย่างยิ่ง โดยกระทรวงทรัพย์เพียงหน่วยงานเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตได้ทันท่วงที จึงจำเป็นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ความร่วมมือ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของชาติให้ได้

ทั้งนี้ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติกล่าวอีกว่า ในส่วนของ ตร.ได้มีการดำเนินการออกแผนรองรับแผนแม่บทฯ โดยได้กำหนดเป็นยุทธการพิทักษ์ทรัพยากรแผ่นดิน ซึ่งเบื้องต้นได้กำหนดระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. 2557 - 21 ก.พ. 2558 ซึ่งนัยยะของ 6 เดือนนี้ คือ ให้ทุกพื้นที่ในความรับผิดชอบของ สตช. สนับสนุนการทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การทำงานดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ และจะมีการนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาใช้ คือ กฎหมายการฟอกเงิน การยึดทรัพย์ รวมถึงกฎหมายภาษีและสรรพากรมาใช้ด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผลการปฏิบัติในห้วงที่ผ่านมาและมีการกำหนดเป้าหมายหรือไม่ว่าในการปราบปรามจะมีกำหนดเป้าหมายอย่างไร พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติกล่าวว่า ได้มีการกำหนดเป้าหมายการปฏิบัติไว้แล้วซึ่งที่ทำมาก่อนหน้านี้ 1 เดือน ได้มีการสร้างจิตสำนึก ปลูกฝัง โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งการปลูกป่าในช่วงเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา สามารถปลูกป่าไม้พะยุงทั้งหมดได้ 1 ล้านกว่าต้น นอกจากนี้ ในส่วนของการปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดได้ 2,000 กว่าราย มีผู้ต้องหา 1,000 กว่าราย ซึ่งมูลค่าความเสียหายถึง 1.5 พันล้านบาท มีการยึดทรัพย์ในกระบวนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า มูลค่าทรัพย์สินประมาณกว่า 100 ล้านบาท โดยเป็นเงินหมุนเวียน 1.5 พันล้านบาท เพราะฉะนั้น เราสามารถดำเนินการสืบสวนสอบสวนได้เป็นอย่างดี และจะมีการประเมินผลทุกเดือนอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น