รายงานการศึกษาของ ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง Digital TV in Thailand ระบุว่า ตอนที่ อังกฤษจะเปลี่ยนระบบโทรทัศน์จากระบบอนาล็อค เป็นระบบดิจิตอล เมื่อปี 1998 คณะกรรมการอิสระเพื่อกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ของอังกฤษ หรือ ไอทีซี ( ITC –Independence Television Commission) ไม่ยอมให้กลุ่มนิวส์คอร์ป ของรูเพิร์ต เมอร์ด็อก เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ดิจิตอลด้วย เพราะกลัวการผูกขาดข้ามสื่อ เนื่องจากนิวส์คอร์ป เป็นเจ้าของทั้งหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ วิทยุ และสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม BskyB
เมอร์ด็อกไม่แคร์ และทุ่มเทปรับปรุงคุณภาพรายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกมาเป็นของตนได้สำเร็จ รวมทั้งการปรุบปรุงคุณภาพสัญญาณ ระบบริการหลังการขาย เพื่อแข่งกับทีวีดิจิตอล
สงครามแพลตฟอร์ม ระหว่าง BskyB ซึ่งเป็นเปย์ทีวี ระบบดาวเทียม กับ ITV ซึ่งเป็นทีวีภาคพื้นดินระบบดิจิตอล ปรากฏว่า BskyB ชนะอย่างขาดลอย ITV ต้องยุติกิจการในปี 2002 คนดูกว่า 1.2 ล้านครัวเรือนต้องประสบกับภาวะจอดับ
ในที่สุด OFCOM หน่วยงานดูแลผู้บริโภคบริการโทรคมนาคม ต้องดึง บีบีซี เข้ามาเป็นแกนนำในการเปลี่ยนผ่านระบบทีวีจากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอล และยอมให้นิวส์คอร์ป เข้าร่วมประมูลบางส่วน ซึ่งใช้เวลาถึง 10 ปี ในการเปลี่ยนระบบ
บทเรียนจากอังกฤษก็คือ ทีวีดิจิตอลนั้น เป็นเพียงหนึ่งในเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มการแพร่ภาพโทรทัศน์แพลตฟอร์มหนึ่งเท่านั้น อีกสองแพลตฟอร์มหลักซึ่งคือ ระบบเคเบิล และระบบดาวเทียม ทีวีดิจิตอลไม่ใช่เทคโนโลยีเพียงหนึ่งเดียวที่จะปฏิวัติ หรือพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมทีวีแต่อย่างใด
นี่คือความเป็นจริงที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่องในบ้านเรา กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เป็นความจริงที่แตกต่างจากความคิดหรือภาพฝัน ก่อนการประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอลเมื่อปลายปีที่แล้วโดยสิ้นเชิง
เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมในประเทศไทยมาก่อนทีวีดิจิตอลไม่ต่ำกว่า 10 ปี ปัจจุบัน ผู้ชมทีวีทั่วประเทศชมผ่านสองระบบนี้ไม่ต่ำกว่า 60 % ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการพัฒนาเทคโนโลยีคุณภาพสัญญาณอย่างต่อเนื่อง มีกลุ่มผู้ชมที่ชัดเจนเหนียวแน่นสำหรับรายการแต่ละประเภท
ทีวีดิจิตอลเป็นผู้มาใหม่ ซึ่งยังไม่มีอะไรเป็นจุดขาย นอกจาก คุณภาพสัญญาณที่คมชัด แต่ต้องแบกภาระอันหนักอึ้งคือ ค่าใบอนุญาต ราคาเฉลี่ยต่อใบตั้งแต่ 1,000-3,000 ล้านบาท ในขณะที่มีรายได้เพียงค่าโฆษณาอย่างเดียว ในภาวะที่เพิ่งจะตั้งไข่ สัญญาณการแพร่ภาพยังจำกัด ช่องทีวีดิจิตอลเกือบ 20 ช่อง จากทั้งหมด 24 ช่อง ไม่มีใครรู้จัก จึงไม่มีเอเยนซี่รายไหนกล้าลงโฆษณาด้วย
เมื่อยี่สิบปีก่อน มีการประมูลสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ด้วยมูลค่าถึง 25,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลาสัมปทาน 25 ปีๆ ละ 1,000 ล้านบาท ด้วยการเล็งผลเลิศของกลุ่มผู้ถือหุ้นว่า สถานีโทรทัศน์แห่งใหม่นี้ จะสามารถทำรายได้จากโฆษณาได้อย่างมหาศาล ปรากฏว่า ความเป็นจริง ตรงข้ามกับสิ่งที่คิดฝันกัน ในที่สุดเมื่อกลุ่มชินคอร์ปเข้ามาเทกโอเวอร์กิจการ อาศัยอำนาจการเมืองฉีกสัญญาสัมปทานทิ้ง เพราะจ่ายไม่ไหว ลดค่าสัมปทานเหลือเพียงปีละ 230 ล้านบาท จนนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครองว่าผิดสัญญา และต้องยุติกิจการไปในที่สุด
บทเรียนอีกบทหนึ่งจากกรณีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอลของอังกฤษคือ คุณภาพของรายการเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความแตกต่าง ซึ่งจะนำไปสู่ชัยชนะ ITV พยายามประมูลลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกแข่งกับ BskyB แต่สู้ไม่ได้ และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำห่ายแพ้ในสงครามแพลตฟอร์ม
กรณีช่อง 3 อนาล็อก หรือช่อง 3 original ไม่ยอมนำรายการไปออกคู่ขนานในช่อง 3 ดิจิตอลที่ประมูลได้ ทำให้ทีวีดิจิตอลไม่มีจุดขายที่จะมาแย่งชิงผู้ชมจากทีวีดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวี รายการของช่อง 3 ทั้งรายการคุยข่าวและละครนั้น ต้องยอมรับว่ามีเรตติ้งสูงมาก และทำรายได้ค่าโฆษณาเป็นกอบเป็นกำ
การที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลเรียกร้องให้ กสทช. บังคับให้ช่อง 3 ออกอากาศคู่ขนานทางช่องดิจิตอลด้วย ก็เพราะต้องการใช้รายการช่อง 3 เป็นตัวช่วยให้ผู้ชมรู้จักทีวีดิจิตอลมากขึ้น แต่เรื่องอะไรช่อง 3 จะยอมทุบหม้อข้าวตัวเอง เพื่อช่วยให้ทีวีดิจิตอลแจ้งเกิดได้ ช่อง 3 ประกาศชัดเจนในแถลงการณ์ล่าสุดว่า จะออกอากาศในระบบอนาล็อกต่อไปอีก 6 ปี จนถึงปี 2563 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดสัมปทานกับ อสมท. หาก กสทช. ต้องการให้ช่อง 3 ออกอากาศคู่ขนานช่องดิจิตอลเร็วกว่านั้นต้องมาคุยกันก่อน และต้องเคารพสิทธิของช่อง 3 ด้วย
นี่คือความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้นกับธุรกิจทีวีดิจิตอล ไม่มีเรตติ้ง ไม่มีโฆษณา ไม่มีจุดขาย ถึงเวลาที่จะต้องถามตัวเองว่าจะอยู่รอดและแข่งขันได้ด้วยอะไร