เอเอฟพี – ในวันนี้ (6 มิ.ย.) ไทม์ อิงก์ (Time Inc.) ผู้จัดพิมพ์นิตยสารชื่อโด่งดังเก่าแก่ของอเมริกา อย่าง ไทม์ (Time), ฟอร์จูน (Fortune), พีเพิล (People), สปอร์ตส์ อิลลัสเตรเต็ด (Sports Illustrated) เสร็จสิ้นกระบวนการแยกตัวออกมาเป็นบริษัทอิสระอีกครั้งหนึ่ง และเริ่มต้นใหม่อีกคราในสมรภูมิสื่อที่ปรากฏความท้าทายใหม่ๆ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
การแยกตัวคราวนี้เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความเลวร้ายน่าเศร้าใจของแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งประสบความลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ มาเป็นเวลาแรมปีแล้ว จากการย่างก้าวเข้ามาของข่าวสารยุคดิจิตอล
ในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ กระบวนการแยกกิจการด้านนิตยสารนี้ ออกมาจาก ไทม์ วอเนอร์ (Time Warner) สื่อยักษ์ใหญ่ที่เป็นบริษัทแม่ เป็นอันจบลงอย่างเป็นทางการ ยุติการแต่งงานที่นำเอา 2 กิจการนี้มาควบรวมกันซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 1990
บริษัทใหม่ในชื่อเก่าแห่งนี้ ถือเป็นตัวอย่างล่าสุดของการที่กิจการด้านสื่อสิ่งพิมพ์ถูกแยกออกมาจากกลุ่มธุรกิจสื่อรายยักษ์ ก่อนหน้านี้ไม่นานนัก บริษัทนิวส์คอร์ป (News Corp) ของเจ้าพ่อสื่อ รูเพิร์ต เมอร์ด็อค ก็ได้ผ่าอาณาจักรของตนออกเป็น 2 ซีก ได้แก่ ซีกกิจการนันทนาการ และซีกกิจการสื่อสิ่งพิมพ์ ขณะที่ ทรีบูน โค. วางแผนจะดำเนินการทำนองเดียวกัน
นิกกี้ อุชเชอร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ซึ่งมีความชำนาญด้านนิวมีเดียเป็นพิเศษ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่ ไทม์ วอร์เนอร์ กระทำในคราวนี้ ก็คือ “การโละเอากิจการนิตยสารแมกกาซีนทิ้งไป เพื่อช่วยให้ตนเองรอดพ้นภาวะขาดทุนต่อเนื่องปีแล้วปีเล่า”
ทางด้าน เคน ด็อกเตอร์ นักวิเคราะห์ของบริษัทวิจัยนาม “เอาต์เซลล์” แสดงความเห็นพ้องด้วย โดยบอกว่า “นี่เท่ากับเป็นการประกาศยืนยันว่า พวกทรัพย์สินที่อิงอยู่กับสิ่งพิมพ์นั้น ไม่มีลู่ทางสำหรับการเติบโตขยายตัวในอนาคตอีกแล้ว”
กระนั้นก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า บริษัทไทม์อิงก์ ที่แยกตัวเป็นอิสระเช่นนี้ จะมีโอกาสทำการปรับโฟกัสของตนเสียใหม่ ในการดำเนินยุทธศาสตร์ที่มีอนาคตมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งสำหรับบรรดานิตยสารที่มีอยู่ในมือ และสำหรับการบูรณาการนิตยสารเหล่านี้ให้เข้ากับบริการทางด้านออนไลน์
ด็อกเตอร์คาดหมายทิศทางอนาคตของ ไทม์ อิงก์ ว่า คงจะมีการขายทรัพย์สินบางส่วนออกไป แต่ก็อาจจะมีการซื้อทรัพย์สินบางอย่างเข้ามาด้วย
เขาแจกแจงว่า สำหรับนิตยสารรายสัปดาห์ “ไทม์” ซึ่งถือเป็นกิจการ “เรือธง” ของ ไทม์ อิงก์ นั้น มีปัญหาสำคัญตรงที่ “ไม่ค่อยเข้ากับยุคสมัยเสียแล้ว” และก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า นิตยสารรายสัปดาห์เช่นนี้จะสามารถแข่งขันได้อย่างไร ในโลกของสื่อข่าวสารที่กำลังเคลื่อนตัวไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน
ด็อกเตอร์ชี้ว่า บริษัทอิสระแห่งใหม่นี้ จะต้องตัดสินใจว่าต้องการโฟกัสเน้นหนักไปที่การหาข่าวมารายงานอย่างฉับไว และเสนอเนื้อหาสาระแบบวิเคราะห์เจาะลึก (long-form journalism) หรือจะมุ่งไปที่สิ่งพิมพ์ทางด้าน “ไลฟ์สไตล์” อย่างเช่น นิตยสาร ฟู้ดแอนด์ ไวน์ (Food & Wine) และ แทรเวล แอนด์ เลชเชอร์ (Travel & Leisure) โดยที่เขามองว่า ไทม์ อิงก์ คงจะต้องการเดินไปในเส้นทางไลฟ์สไตล์ ซึ่งดูมีอนาคตมากกว่า
ขณะที่ อุชเชอร์ มองว่า ถ้าบริษัทแห่งใหม่นี้ต้องการที่จะลงสนามแข่งขันทางด้านการเสนอข่าวรายวันแล้ว ก็จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มมากขึ้น เพื่อหาข่าวมารายงานอย่างฉับไวแก่พวกลูกค้าดิจิตอลของตน ขณะที่ยังต้องคงเนื้อหาสาระแบบวิเคราะห์เจาะลึกเอาไว้สำหรับพวกลูกค้าที่อ่านสิ่งพิมพ์
เธอชี้ต่อไปว่า เวลานี้ ไทม์ อิงก์ มีนักเขียนชั้นเยี่ยมอยู่มากมายที่กำลังผลิตผลงานมาป้อนให้สำหรับการนำเสนอเป็นรายสัปดาห์ แต่สำหรับสภาพแวดล้อมแบบเว็บ ซึ่งเรียกร้องต้องการเนื้อหาทุกๆ วัน 7 วันต่อสัปดาห์ และวันละ 24 ชั่วโมงแล้ว บริษัทแห่งใหม่จำเป็นต้องทำอะไรเพิ่มขึ้นอีก
ย้ายบ้าน
บริษัท ไทม์ อิงก์ แห่งใหม่ซึ่งจะนำโดย โจ ริปป์ ผู้บริหารมากประสบการณ์ กระทำสิ่งที่ถือเป็นความเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ประการหนึ่ง นั่นคือ การย้ายออกจากอาคารไทม์แอนด์ไลฟ์ ซึ่งตั้งอยู่ในย่านมิดทาวน์ของนิวยอร์ก หลังจากปักหลักอยู่ตรงนี้เรื่อยมาตั้งแต่ปี 1959 โดยจะไปอยู่ยังแถบโลเวอร์แมนแฮตตัน
นอกจากนั้น ไทม์ อิงก์ ยังตกลงเข้าผนวกกิจการบริษัทเทคโนโลยีนาม “โคซิ” ในสัปดาห์นี้ เพื่อให้มาช่วยเกื้อหนุนเว็บไซต์ต่างๆ ของบริษัทให้มีศักยภาพสูงสุด
ตามเอกสารของบริษัท ไทม์ อิงก์ ถือเป็น “หนึ่งในบริษัทซึ่งมีแบรนด์ด้านสื่ออยู่ในมืออย่างเข้มแข็งที่สุด” โดยที่แบรนด์ด้านสิ่งพิมพ์สามารถเข้าถึงลูกค้าในสหรัฐฯได้ประมาณ 100 ล้านรายต่อเดือน ส่วนออนไลน์ก็อยู่ในระดับ 70 ล้านรายต่อเดือน
ขณะที่ทรัพย์สินซึ่งมีอยู่ หลายๆ ตัวเป็นหัวนิตยสารชื่อโด่งดังเก่าแก่ เป็นต้นว่า ฟอร์จูน ที่ตีพิมพ์จำหน่ายมาตั้งแต่ปี 1929, สปอร์ตส์ อิลลัสเตรเต็ด เปิดตัวปี 1954, และ พีเพิล ซึ่งเริ่มพิมพ์ฉบับแรกในปี 1974 นอกจากนั้นยังมีเอดิชั่นฉบับนานาชาติทั้งสำหรับสิ่งพิมพ์และสื่อดิจิตอลรวมแล้วราวๆ 50 เอดิชั่น
ทางด้านฐานะการเงินเมื่อคำนวณแบบแยกเป็นอิสระ กิจการนี้ในปี 2013 สามารถทำรายรับได้ 3,350 ล้านดอลลาร์ ทว่ากลับแสดงกำไรสิทธิได้จุ๋มจิ๋มเพียงแค่ 201 ล้านดอลลาร์
“นี่แหละคือสภาพแวดล้อมที่เป็นปัญหาท้าทายเหลือเกินสำหรับวงการนิตยสาร” มาร์ก เจอร์โควิตซ์ แห่ง โครงการวารสารศาสตร์ ของสำนักวิจัย พิว รีเสิร์ช เซนเตอร์ กล่าวแสดงความเห็น ทั้งนี้จากการศึกษาวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ของเขา แสดงให้เห็นว่า ยอดขายนิตยสารในสหรัฐฯเมื่อนับกันเป็นฉบับเดี่ยวๆ แล้ว ได้ลดต่ำลงถึง 43% นับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา
ไม่มี “สูตรลับสู่ความสำเร็จ”
“นิตยสารเหล่านี้จะต้องพยายามทำเม็ดเงินจริงๆ จากยุคดิจิตอลให้ได้” เจอร์โควิตซ์ กล่าว พร้อมกับเสริมว่า สูตรสำหรับการทำเงินให้ได้นี้ จวบจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนเลย “มันยังไม่มีสูตรลับสู่ความสำเร็จอะไรทั้งนั้น” เขาย้ำ
กระนั้น ซามีร์ ฮุสนี ผู้อำนวยศูนย์นวัตกรรมนิตยสาร ของคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี ยังคงมองการณ์ในแง่ดีว่า การที่ ไทม์ อิงก์ แยกตัวออกมาเป็นบริษัทอิสระเอกเทศ น่าจะช่วยให้กิจการนี้ก้าวพ้นจากสภาพของการเป็น “ลูกบุญธรรมผู้ยากจน” ของเครือกิจการสื่อยักษ์ใหญ่
“สิ่งที่ดีที่สุดซึ่งกำลังเกิดขึ้นมาในตอนนี้ ได้แก่การนำเอาพวกนิตยสารเหล่านี้กลับมาอยู่ในมือของผู้คนซึ่งรู้จักและทะนุถนอมแมกกาซีนพวกนี้” ฮุสนี บอก
เขายืนยันด้วยว่า ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่เชื่อกัน จริงๆ แล้วในเวลานี้คนอเมริกันยังอ่านนิตยสารกันเป็นจำนวนมาก และมีบริษัทผู้จัดพิมพ์บางราย เป็นต้นว่า บริษัทเฮิร์สต์ ประสบความสำเร็จในการออกนิตยสารหัวใหม่ๆ และประคับประคองนิตยสารหัวเดิมๆ เอาไว้ให้มีผลประกอบการที่ดี
ฮุสนีมองว่า ไทม์ อิงก์ กำลังหวนกลับคืนสู่รากเหง้าดั้งเดิมของตนในเรื่องการเสนอข่าวและข้อเขียนที่มีคุณภาพสูง พร้อมกับบอกว่า “ไม่มีใครที่สามารถทำนิตยสารรายสัปดาห์ได้ดีเหมือนที่ ไทม์ อิงก์ กำลังทำอยู่”
“ผมเชื่อจริงๆ ว่า นี่คือการแยกตัวออกมาเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ทั้งสำหรับ ไทม์ อิงก์ และสำหรับนิตยสารทั้งหมดในบริษัทนี้” เขากล่าว
“คุณจะมองเห็นถึงความตื่นเต้นได้ไม่ยากเลย มันอาจจะมีความหงุดหงิดหวั่นผวากันบ้าง แต่พวกเขาต่างรู้ดีว่า ถ้าหากพวกเขาล้มเหลว ก็เป็นการที่พวกเขาล้มเหลวจากการทำในสิ่งที่พวกเขารัก ไม่ใช่จากการถูกผลักไสให้ต้องทำในสิ่งที่พวกเขาเกลียด”