เลขาฯ องค์การพิทักษ์ รธน. ร้องเลขาฯ ผู้ตรวจการฯ สอบ สนช.เลือก หน.คสช. เป็นนายกฯ ส่อเกี้ยเซี้ย ประโยชน์ขัดกัน เหตุ คสช.เลือก สนช.มาเอง ชี้ยึดอำนาจเพื่อนั่งนายกฯ ถ่วงดุลอำนาจไร้ผลนายกฯ-คสช. คนเดียวกัน ขอชงศาลรธน.วินิจฉัย ลั่นจะหยุดเมื่อลาออก หน.คสช. เลิกควบ 2 เก้าอี้ ยันไม่รับตำแหน่งเหตุไม่ถนัดเป็นฝักถั่ว เตือนประโยชน์ทับซ้อนองค์กรส่งชื่อร่วม สปช.-ผู้ตรวจฯปัดนิ่งเฉย เผยร่วม สปช.ตามกติกา
วันนี้ (22 ส.ค.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อนายเฉลิมศักดิ์ จันทร์ทิม เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบกรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เป็นนายกฯ อาจเข้าข่ายผลประโยชน์ขัดกัน ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเนื่องจาก คสช.เป็นผู้เลือก สนช.และต่อมา สนช.ก็ลงมติเลือกหัวหน้า คสช.เป็นนายกฯ อาจถือได้ว่า “เกี้ยเซี้ย” หรือ “ผลัดกันเกาหลัง” ดังนั้นการเข้ายึดอำนาจการปกครองจึงเป็นเพียงเพื่อต้องการตำแหน่งนายกฯ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวยังวางระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจหรือถ่วงดุลกันระหว่าง คสช.และนายกฯ โดยกำหนดให้ คสช.สามารถเสนอให้ สนช.มีมติทูลเกล้าฯ ให้นายกฯ พ้นจากตำแหน่งได้ ดังนั้น หากหัวหน้า คสช.และนายกฯเป็นคนคนเดียวกันจะเสนอชื่อตนเองให้พ้นจากตำแหน่งได้อย่างไร
นายศรีสุวรรณระบุด้วยว่า แม้ว่าจะมีนายกฯ และครม.ขึ้นบริหารประเทศ แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวยังกำหนดอำนาจหน้าที่ของหัวหน้า คสช.ไว้ต่อเนื่องแทบทุกด้าน โดยสามารถรายงานให้หัวหน้า สนช.และนายกฯ รับทราบอำนาจในการสั่งการระงับหรือยับยั้งการกระทำใดๆ ดังนั้นในเมื่อหัวหน้า คสช.และนายกฯเป็นคนคนเดียวกันจึงเปรียบเหมือนการส่งรายงานมือซ้ายไปให้มือขวา สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจึงร้องเรียนมาที่ผู้ตรวจเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยตนจะถอนคำร้องก็ต่อเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากหัวหน้า คสช. เพื่อไม่ให้นั่งถ่างขาควบสองตำแหน่งเช่นเดียวกับ คสช.คนอื่นๆ ที่อาจได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นรัฐมนตรีก็ควรลาออกจาก คสช.ไม่นั่งถ่างขาเช่นกัน
ทั้งนี้ นายศรีสุวรรณยังระบุว่าจะไม่เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และไม่ขอรับตำแหน่งใดๆ เพราะไม่ถนัดเป็นฝักถั่วให้ใคร ขอทำหน้าที่ในงานที่ถนัด เช่น เอ็นจีโอ และนักกฎหมาย และขอเรียกร้องไปยังองค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และองค์กรอื่นๆ ของรัฐที่เสนอชื่อบุคคลเข้าเป็น สปช.เพราะไม่มีความเหมาะสมและเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อนกัน
ด้านนายเฉลิมศักดิ์กล่าวว่า สำหรับผู้ตรวจฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ จะเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด เพียงแต่เรื่องนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนโดยเฉพาะตัวรัฐธรรมนูญและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้แตกต่างจากฉบับอื่นจะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ และยืนยันว่าแม้ขณะนี้ผู้ตรวจฯ จะเหลือปฏิบัติหน้าที่ 2 คนก็ไม่มีผลกระทบใดๆการทำงานของผู้ตรวจฯ ก็ยังสามารถขับเคลื่อนได้ ส่วนที่สำนักงานผู้ตรวจฯ เสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหา สปช.นั้นเพราะต้องการทำตามกติกาเมื่อมีการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยกันเสนอปัญหาและปฏิรูปสิ่งต่างๆ ที่จะช่วยให้ประเทศเดินหน้าไปได้ก็ควรให้ความร่วมมือ