หน.คสช.แจงจัดทำงบ 58 รับตื่นเต้น ย้ำต้องบูรณาการให้ยั่งยืน ปรับนำแผน 57 มาปรับเสริมปี 58 วินัยคลังสำคัญ จับตาสถานการณ์โลก ยันคุ้มค่าโปร่งใสเรียกความเชื่อมั่นคืน สั่งทำโรดแมปแผนงานรายงานทุก 3 เดือน คาด ศก.ไทยปีหน้า ขยายตัว 3.5-4.5% เงินเฟ้อแนวโน้มทรงตัว จัดเก็บรายได้ 2.4 ล้านล้าน ขอมั่นใจใช้เงินมีประสิทธิภาพ ใครเก็บหัวคิวแจ้ง คสช.ทันที
วันนี้ (18 ส.ค.) การประชุมสภาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 10.00 น. โดย พล.อประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวรายงานหลักการและเหตุผลต่อสมาชิกว่า การจัดทำงบปี 2558 สิ่งแรกที่ต้องทำคือต้องบูรณาการงานให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต โดยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยเราได้ดูว่ามีอะไรที่ยังบกพร่องก็จะนำมาเพิ่มในการจัดทำแผนงบประมาณครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในทุกมิติซึ่งประสิทธิภาพการทำงานที่ผ่านมา อาจมีปัญหาเรื่องการบูรณาการกลุ่มงานที่มีงบประมาณหลายกระทรวงและมีการแบ่งแยกกลุ่มงานออกไปเพราะไม่สามารถทำงานหน่วยงานใดโดยกระทรวงเดียวได้ โดยการจัดทำงบประมาณต้องมองตั้งแต่ปี 55-59 เพื่อเป็นการวางแผนระยะยาวในการใช้จ่ายงบประมาณ มิเช่นนั้นก็จะเข้าสู่แบบเดิมจับต้องไม่ได้ ซึ่งในช่วงไตรมาส 3 ของงบปี 57 จะมีงบเหลือใช้อยู่จำนวนมาก จึงได้มีการปรับปรุงโดยนำแผนปี 57 มาปรับเปลี่ยนมาเสริมปี 58 ส่วนเรื่องกาควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณให้เดินตามวินัยการเงินการคลังถือเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงหนี้สาธารณะเราก็เข้าไปดู พร้อมกับดูการเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์โลก เพื่อที่จะเดินประเทศไปข้างหน้าทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสังคมจิตวิทยา วันนี้เอามาบูรณาการเขย่าใส่กล่องใหม่เพื่อเดินหน้าประเทศไปให้ได้
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ปัญหาอีกอย่างคือความไม่ทั่วถึงอาจถูกมองว่าไม่เป็นธรรมลงพื้นที่แค่บางพื้นที่เท่านั้น วันนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนโดยใช้แผนระดับภาค โดยเฉพาะการจัดทำงบประมาณเรื่องน้ำ สาธารณูปโภคพื้นฐาน ผลผลิตการเกษตร ทุกอย่างต้องแก้อย่างยั่งยืน ถ้าเราแก้แบบเร่งด่วนแบบเดิม ตั้งงบชดเชยไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดปัญหาเรื่องเงินกู้ หนี้สาธารณะ การพัฒนางบลงทุนของประเทศก็จะเดินไปไม่ได้ ดังนั้นต้องบูรณาการจัดทำยุทธศาสตร์ประเทศจะต้องมีความชัดเจนและทุกกระทรวงต้องมีการรายงานการใช้จ่ายงบประมาณเพราะเรามีระยะเวลาจำกัด 1 ปีเท่านั้น แต่ละกระทรวงจะต้องมีโรดแมปว่า 3 เดือนข้างหน้าจะทำอย่างไรเพื่อให้ประเทศขับเคลื่อนได้และส่งต่อให้รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา ดังนั้น แผนงานปี 58 จะต้องเดินอยู่ในกรอบปี 59 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 11 เมื่อเริ่มปี 59 จะต้องก้าวสู่แผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 12-13 ประชาชนจะได้ดูว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีอะไรบ้าง
“คสช.เข้ามาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.จนถึงวันนี้ เป็นการแก้ปัญหาต่างๆ โดยเอางบเก่ามาเคลียร์ โดยกระทรวงทบวงกรมเอาไปทำในสิ่งที่ขาด ไม่ได้เอากลับเข้ามางบกลางที่เหลือก็ผูกพันไปปีหน้า เอางบประมาณไปทำในสิ่งที่แต่ละกระทรวงขาดและขอไม่ได้เพื่อความต่อเนื่อง ผมเริ่มต้นมาก็ต้องขอโทษ เสียงอาจจะดังไปนิด แต่เสียงมันก็เป็นอย่างนี้ไมได้ดุเดือดอะไร วันนี้เค้าก็เตือนมาแล้วให้ใจเย็นๆ ผมก็ตื่นเต้น ปวดท้องมาตั้งแต่เช้าแล้ว ทุกคนยังไม่มีความสุข”
สำหรับงบประมาณปี 2558 เป็นจำนวนไม่เกิน 2,575,000,000,000 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบค่าใช้จ่าย รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นเป็นจำนวน 2,533,034,659,800 บาท และเพื่อชดใช้เงินคงคลังจำนวน 41,965,340,200 บาท เหตุผลเพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น มีงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณฯ พ.ศ. 2558 ใช้เป็นหลักในการจ่ายเงินแผนดิน และเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง ที่กำหนดให้ตั้งงบประมาณรายจ่าย เพื่อชดใช้เงินคงคลังตามที่จ่ายไปแล้ว สำหรับภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2557 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 1.5-2.5 อัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 1.9-2.9 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญจากอุปสงค์ภายในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นช่วงครึ่งปีหลังหลังสถานการณ์การเมืองชัดเจน และการบริหารราชการแผ่นดินดำเนินต่อได้ โดยการเร่งทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ให้บังคับใช้ได้เป็นกฎหมายตามกำหนด เบิกจ่ายได้ตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณ สร้างความเชื่อมั่น กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย การลงทุนภาคเอกชน ให้อุปสงค์ภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ
สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 58 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5-4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลก เป็นปัจจัยสนับสนุนให้มูลค่าส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากปี 57 สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจปี 58 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ 1.8-2.8 ใกล้เคียงปี 57 แม้จะมีแรงกดดันจากอุปสงค์ที่ฟื้นตัว แต่คาดว่าระดับราคาน้ำมันจะค่อนข้างทรงตัว ขณะเดียวกันดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลต่อเนื่องจากปีก่อน เนื่องจากมูลค่าการส่งออกที่เร่งตัวขึ้น และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว สำหรับฐานะและนโยบายการคลังปีงบประมาณปี 58 ประมาณการว่าจะเก็บรายได้สุทธิทั้งสิ้น 2,434,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนร้อยละ 2.1 เมื่อหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 109,000 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่นำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายรัฐบาลจำนวน 2,325,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
“คสช.ตระหนักดีถึงความสามารถจัดเก็บรายได้ ที่คาดว่าจะเพิ่มไม่มากเนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ประกอบกับใช้มาตรการทางภาษีเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน การลดความเหลื่อมล้ำและกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงทำให้มีการกำหนดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 58 จำนวน 2,575,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงบประมาณปี 57 เพิ่มขึ้นเป็น 50,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 2 โดยเป็นเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจำนวน 250,000 ล้านบาท ปัจจุบันฐานะเงินคงคลังมีจำนวน 333,429 ล้านบาท จะบริหารเงินคงคลังให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ประมาณปี 58 เป็นการตั้งงบแบบขาดดุล โดยนำการใช้จ่ายในปี 57 เป็นข้อมูล ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางกรอบกำหนดวงเงินงบประมาณ ซึ่งกำหนดนโยบายและแนวทางจัดสรรงบประมาณที่สำคัญ เช่น จัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการ พิจารณาการใช้จ่ายให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายปีหน้า”
สำหรับกรอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ ได้แก่ 1. ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเร่งรัดวางรากฐานที่ดีของประเทศ 186,240.7ล้านบาท 2. ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งรัฐ 222,762.7 ล้านบาท 3. ยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม 169,112.6 ล้านบาท 4. ยุทธศาสตร์การศึกษา สาธารณสุข คุณธรรม จริยธรรม และคุณภาพชีวิต 955,921 ล้านบาท
5. ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 135,121.8 ล้านบาท 6. ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม 24,741.4ล้านบาท 7. ยุทธศาสตร์การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 9,594.9 ล้านบาท 8. ยุทธศาสตร์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี 354,484.6 ล้านบาท และ 9. รายการค่าการดำเนินการภาครัฐ 517,020.3 ล้านบาท
“ผมยืนยันว่าการจัดสรรงบ ปี 58 มีพื้นฐานหลักการ เหตุผลที่ชัดเจนและเหมาะสม จึงขอให้มั่นใจว่าเงินภาษีอากรของประชาชนจะมีการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ยึดหลักการความระมัดระวัง ความคุ้มค่าและโปร่งใส และระหว่างปีงบประมาณจะมีกลไกเพื่อติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายอย่างใกล้ชิด ทุกหน่วยงานจะต้องรายการใช้จ่ายงบประมาณทุกๆ 3 เดือนให้ทราบ ค่าก่อสร้างจะต้องลดลง 10-30 เปอร์เซ็นต์ จะต้องไม่มีการเรียกรับผลประโยชน์ ใครเก็บค่าหัวคิวเรียก คสช.ได้เลย ซึ่ง คสช.เชื่อมั่นว่า หากดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติได้ รวมทั้งวางรากฐานที่ดีเพื่ออนาคตของประเทศ”
หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้เวลา 1.15 ชั่วโมง ชี้แจงหลักการและเหตุร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ สมาชิกได้ทยอยอภิปรายแสดงความเห็น