xs
xsm
sm
md
lg

“ปชป.-พท.” ไว้ท่ายึกยัก เมินร่วมปฏิรูปกับ “คสช.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานการเมือง

ส่อเค้าว่าจะไม่มีนักการเมืองจากพรรคใหญ่เข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 119/2557 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ

ที่ตอนหนึ่งระบุว่า การเสนอชื่อบุคคลเพื่อรับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติต้องให้นิติบุคคลซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรมาแบ่งปันกันเป็นผู้เสนอชื่อ

“จึงเห็นควรกำหนดว่า กรณีนิติบุคคลที่เป็นพรรคการเมืองประสงค์จะเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองนั้นเป็นผู้เสนอชื่อ”

นอกจากประกาศฉบับดังกล่าวแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไปสำทับไว้ในการพูดในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมาที่มีใจความตอนหนึ่งได้วิงวอนขอความร่วมมือกับนักการเมือง พรรคการเมืองให้เข้ามาร่วมกับเรื่องการวางแนวทางการปฏิรูปไว้ด้วย

สำหรับประกาศ คสช.ฉบับดังกล่าวที่ไม่ได้มีสภาพบังคับตามกฎหมายเป็นแค่การขยายความพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ให้มีความชัดเจนมากขึ้นว่า หากพรรคการเมืองจะเสนอชื่อคนเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ต้องทำโดยให้หัวหน้าพรรคเป็นคนเสนอชื่อ ผนวกกับคำเชิญชวนของ “บิ๊กตู่” ข้างต้นทั้งหมด มีนัยคือ

การขอความร่วมมือให้ทุกพรรคการเมืองที่จดทะเบียนอยู่กับคณะกรรมการการเลือกตั้งเวลานี้ได้ส่งคนมาร่วมในกระบวนการสรรหาและคัดเลือกคนเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นั่นเอง

แต่เมื่อสองพรรคใหญ่ “ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย” ปฏิเสธจะร่วมสังฆกรรมด้วยกับ คสช.เพื่อส่งคนไปเป็น สปช. คงมีแต่บางพรรคเช่น ภูมิใจไทย ที่มีอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นหัวหน้าพรรค หรือพรรคพลังชล ของสนธยา คุณปลื้ม ออกมาบอกว่าพร้อมให้ความร่วมมือ

เมื่อทั้งประชาธิปัตย์-เพื่อไทยปฏิเสธไม่ร่วมด้วย ประกาศ คสช.ฉบับที่ 119 และตัว พล.อ.ประยุทธ์ที่ออกมาขอความมือดังกล่าวก็หงายเงิบไป เสมือน พล.อ.ประยุทธ์ไร้ความหมายทางการเมือง

ว่าไปแล้วเท่าที่เช็กกระแสสังคม พบว่าต่างเห็นด้วยกับการที่พรรคการเมืองปฏิเสธไม่เข้าร่วมในกระบวนการเลือก สปช.

เพราะมองว่านักการเมือง-พรรคการเมือง คือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองโดยตรงกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นคนที่จะต้องอยู่ในเกมการเมืองเมื่อมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรเมื่อดูจากอำนาจหน้าที่ของ สปช.จะเห็นได้ว่า เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำไม่ว่าจะเป็นการที่สภาปฏิรูปฯ ต้องไปศึกษาและวางแนวทางการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ เช่น การเมือง กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม สื่อมวลชน พลังงาน จากนั้นก็นำแนวทางต่างๆ ส่งไปให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

อีกทั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติก็ได้โควตาส่งคนไปเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญมากที่สุด คือ 20 คน จาก 36 คนจะกุมเสียงข้างมากใน กมธ.ได้แล้ว ที่สำคัญ สภาปฏิรูปฯ คือผู้ลงมติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไปยกร่างมาหรือไม่ หากสภาปฏิรูปฯ ไม่เห็นชอบ ทุกอย่างก็ต้องไปนับหนึ่งใหม่อีก

สมาชิกสภาปฏิรูปฯจึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเมืองไทยหลังจากนี้ค่อนข้างมากเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการทำคลอดและเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะเป็นกติกาการเมืองต่อไป

หลายคนจึงเห็นว่าไม่สมควรที่จะให้นักการเมือง พรรคการเมือง มีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ เพื่อให้กระบวนการปฏิรูปและการยกร่างรัฐธรรมนูญปลอดจากการเมืองให้มากที่สุด

พบว่าสองพรรคใหญ่ เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ ก็พยายามจะโหนเหตุผลข้างต้นอธิบายต่อสังคมถึงการไม่ส่งคนไปร่วมในกระบวนการเลือก สปช.

แม้ในความเป็นจริงแล้วบางฝ่ายในสองพรรคใหญ่นี้โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยดูจะเชื่อตรงกันว่าที่ไม่อยากไปร่วมสังฆกรรมก็เพราะรู้ดีว่า ร่วมไปก็เท่านั้นเพราะจะเป็นการไปสร้างความชอบธรรมให้กับ คสช.ว่าดึงทุกฝ่ายมาร่วมวงคัดเลือก สปช.ได้ทุกพรรคพร้อมร่วมวงปรองดอง-ปฏิรูป

แต่ถึงเวลาเลือก สปช.จริงๆ ทาง คสช.ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเลือก สปช.ได้ทั้งหมด 250 คนก็ต้องเลือกคนของตัวเองอยู่แล้ว ยากจะเลือกคนของพรรคการเมืองไปร่วมเป็นสมาชิก สปช.250 คน โดยเฉพาะฝ่ายเพื่อไทย-เสื้อแดง

ดังนั้นขืนไปร่วมวงด้วย มีแต่เสียมากกว่า

แต่เพื่อไม่ให้มีปัญหามากก็ต้องหาเหตุผลมาอ้างให้มันดูไม่ชนกับ คสช.มากไปเช่นบอกว่า ประกาศคสช.ล็อกไม่ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม ไม่ให้มีการประชุมพรรคแล้วจะไปมีมติส่งคนไปร่วมคัดเลือกเป็น สปช.ได้อย่างไร หัวหน้าพรรคจะเสนอชื่อใครได้ต้องถามมติพรรคก่อน ก็หาเหตุแบบนี้มาอ้างกันไปก่อน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องพรรคการเมืองควรส่งคนไปร่วมกระบวนการเลือก สปช.ด้วยหรือไม่ก็มีข้อโต้แย้งในเชิงสนับสนุนประกาศของ คสช.ที่ให้หัวหน้าพรรคการเมืองส่งคนมาร่วมเป็น สปช. ด้วยเหตุว่า นักการเมืองพรรคการเมือง คือตัวการสำคัญในการทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองหากจะทำให้ปัญหานี้จบ ก็ต้องให้นักการเมืองมีส่วนร่วม อีกทั้งนักการเมืองมีประสบการณ์โดยตรงกับเรื่องการเมือง กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม รวมถึงเรื่องอื่นๆก็ควรใช้ประสบการณ์ความเห็นของนักการเมืองให้เป็นประโยชน์ในการมาเสนอข้อคิดเห็นต่อ สปช.เพื่อจะได้ออกแบบรัฐธรรมนูญมาให้ดีที่สุด เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

โดยเฉพาะนักการเมืองพรรคการเมือง เพื่อว่าจะได้ไม่มีปัญหาในภายหลัง เพราะหากไม่เข้ามาร่วมแล้วยกร่างรัฐธรรมนูญกันออกมา พวกนักการเมืองก็จะมาหาเหตุมาขอแก้ไขรัฐธรรมนูญกันอีกแล้วก็จะเกิดกระแสต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันอีก สุดท้ายปัญหาก็จะวนกลับมาที่จุดเดิมอีก

ความเห็นต่างเรื่องพรรคการเมืองควรมีส่วนร่วมในการกระบวนการปฏิรูปยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เวลานี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นของกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กว่าจะทำกันเสร็จคงมีเรื่องวุ่นวายตามมาตลอดทาง
กำลังโหลดความคิดเห็น