คสช.แถลงผลงาน 2 เดือนผ่านทีวีทุกช่อง บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายแก้ปัญหา โดยเฉพาะปากท้อง ผลผลิตตกต่ำ บริหารจัดการน้ำ โครงสร้างทางกฎหมาย การตัดไม้ทำลายป่า โรดแมปปฏิรูปการศึกษา รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ทั่วประเทศ คาด พ.ร.บ.งบประมาณปี 58 ผ่านสภา ส.ค.-ก.ย. ประกาศใช้ ต.ค.นี้
วันนี้ (27 ก.ค.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้จัดรายการพิเศษสรุปผลการปฏิบัติงานของ คสช.เดือนที่ 2 (ห้วงวันที่ 21 มิ.ย. ถึง 22 ก.ค. 2557) ความยาว 40 นาที มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ในระยะแรก คสช.ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ได้แก่ ปัญหาอาชญากรรม การพนัน ยาเสพติด การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า การปราบปรามอาวุธสงคราม กลุ่มผู้มีอิทธิพลต่างๆ การดูแลผู้ประกอบการรถรับจ้าง การลักลอบแรงงานต่างด้าว มาตรการแก้ไขปัญหาปากท้องค่าครองชีพ การช่วยเหลือเกษตรกร การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ปลดล็อกอุปสรรคการค้า การลงทุน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มงาน คือ กลุ่มงานการบริหารราชการแผ่นดิน กลุ่มงานรักษาความสงบเรียบร้อย และกลุ่มงานสร้างความปรองดองและการปฏิรูป
กลุ่มงานบริหารราชการแผ่นดิน ต่างเดินหน้าตามนโยบายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ได้มอบหมายให้ทุกฝ่ายรีบแก้ปัญหาที่สะสมมานานให้เกิดผลสัมฤทธิ์และมีประสิทธิภาพสูงสุด ได้แก่ ฝ่ายความมั่นคง ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายเศรษฐกิจ ฝ่ายสังคมจิตวิทยา และอื่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต เช่น ปัญหาความเห็นต่างทางการเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และเรื่องแรงงานราคาถูก โดยมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ทุกภาคส่วน ควบคู่ไปกับการชี้แจงกับนานาชาติถึงสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาของ คสช.
ส่วนฝ่ายเศรษฐกิจ ยังคงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ทั้งระยะสั้น และระยะยาว โดยจัดโครงการธงฟ้าราคาประหยัด พร้อมขอความร่วมมือตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และอาหารปรุงสำเร็จ ส่วนปัญหาผลผลิตทางการเกษตร คสช.อนุมัติงบประมาณเพื่อกระจายผลไม้ ส่วนปัญหายางพาราได้ช่วยเหลือปัจจัยการผลิต ส่วนระยะยาวจะสนับสนุนให้ใช้ยางในประเทศและลดต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ คสช.ยังให้พิจารณาจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผลผลิตทางการเกษตรทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ
ขณะเดียวกัน หลังปลดล็อกโครงการรับจำนำข้าวสำเร็จ ได้เร่งช่วยเหลือชาวนาโดยลดต้นทุนและสนับสนุนปัจจัยการผลิต ระยะกลางเน้นลดต้นทุน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และการแก้ไขปัญหาระยะยาว กำหนดพื้นที่ปลูกข้าวให้สอดคล้องพันธุ์ข้าวและความต้องการตลาด และการส่งเสริมใช้ปุ๋ยอินทรีย์และการปลูกพืชทดแทน และการแต่งตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุนกว่า 100 โครงการ แลกเปลี่ยนด้านการลงทุนเพื่อสร้างความเชื่อมั่น และให้ความเห็นชอบ พ.ร.ฎ.ด้านภาษี 3 ฉบับ ส่วนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กำหนดนโยบายให้ครบทุกมิติ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำอุปโภคบริโภค และคุณภาพน้ำ ล่าสุดแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 5 กลุ่ม และกำหนดโรดแมป 3 ระยะ ก่อนเสนอแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้หัวหน้า คสช. และแถลงภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้
ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ได้เดินหน้าแก้ไขโครงสร้างทางกฎหมาย เช่น การทุจริตในภาครัฐ การปราบปรามยาเสพติด และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชนควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการเสนอกฎหมายให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ 5 ฉบับ ขณะเดียวกันยังเดินหน้าปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด โดยมี 6 มาตรการปราบปรามและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด โดยบูรณาการหน่วยความมั่นคงต่างๆ สามารถติดตามจับกุมผู้ค้ายาเสพติดได้ 49,386 คดี รวมทั้งเดินหน้าปราบปรามอาวุธสงครามอย่างเข้มข้น
ฝ่ายสังคมจิตวิทยา รับผิดชอบปัญหาที่ทำให้สังคมไทยอ่อนแอ เช่น การแก้ไขปัญหามลพิษจากเหตุไฟไหม้กองขยะ โดยจัดทำโรดแมปแผนปฏิบัติการเสร็จเรียบร้อยแล้ว การบุกรุกทำลายทรัพยาการป่าไม้นอกจากการจัดทำโรดแมปแล้ว ยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับกุมผู้กระทำความผิดจำนวนมาก มูลค่าส่งออก 260 ล้านบาท และยึดทรัพย์ 88 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าทวงคืนผืนป่าแผ่นดิน และจับกุมผู้เกี่ยวข้องในคดี เช่น จ.สระบุรี และ จ.ภูเก็ต ด้านการศึกษาได้จัดทำโรดแมปปฏิรูปการศึกษา ประเด็นสำคัญทั้งการผลิตบุคลากรทางการศึกษา และขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และเพิ่มหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และศีลธรรมแยกออกต่างหาก เริ่มใช้ในภาคการศึกษาหน้า ขณะเดียวกัน ยังบรรจุค่านิยมสังคมไทย 12 ประการ การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน
ฝ่ายกิจการพิเศษ เตรียมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 82 พรรษา มี 4 กิจกรรมหลัก อาทิ การจัดสร้างภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติ พระพุทธรูปประจำพระชนม์วาร กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติที่บริเวณสวนอัมพร สนามหลวง พิธีจุดเทียนชัยถวายพระพร และกิจกรรมอื่นๆ ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องราวร้องทุกข์ผ่านสายด่วน 1111 พบว่ามีเรื่องร้องเรียนและแสดงความคิดเห็น 26,024 เรื่อง และปรับปรุงศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งการแก้ปัญหาคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุมปัญหาทุกประเด็น เช่น การแก้ไขปัญหาปากท้อง ส่วนการแก้ปัญหาตลาดโบ๊เบ๊ หลังประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วให้ตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหา ส่วนระยะยาวให้ลงทะเบียนผู้ประกอบการ
ส่วนงานที่ขึ้นตรงกับหัวหน้า คสช. ส่วนใหญ่มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ให้เป็นเอกภาพ การจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ทั่วประเทศ ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ทั้งปัญหาความขัดแย้งที่ลดลง แนวโน้มทางเศรษฐกิจดีขึ้น ครอบครัวที่เห็นต่างกลับมาคุยกัน ทำให้ปัญหาที่หมักหมมคลี่คลายไป ส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 คาดว่าฝ่ายนิติบัญญัติจะดำเนินการในช่วงเดือนสิงหาคม ถึงกันยายน และจะทูลเกล้าฯ ถวายภายในวันที่ 15 ก.ย.นี้ ส่วนกลุ่มงานรักษาความสงบเรียบร้อย พบว่า ประชาชนทุกพื้นที่ลดความกังวลลง กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ธุรกิจท่องเที่ยวคล่องตัว แต่ คสช.ยังจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมไว้ตลอดเวลา ขณะเดียวกันยังจัดระเบียบรถตู้ และวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รวมทั้งรถแท็กซี่
ส่วนกลุ่มงานสร้างความปรองดองและการปฏิรูป มีกลุ่มงาน 2 ส่วน คือ ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ มีหน้าที่เสริมสร้างบรรยากาศความปรองดองสมานฉันท์ โดยได้รวบรวมความคิดเห็นจากประชาชนทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ครบทุกจังหวัดในเดือนแรก และสังเคราะห์ข้อมูลความคิดเห็น และสรุปประเด็นได้ 11 ประเด็น นอกจากนี้ ยังได้จัดสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีประสบการณ์ จัดการประชุมกลุ่มย่อย และการจัดการเสวนา เพื่อรวบรวมข้อมูลแนวความคิดเห็นเพิ่มเติม สรุปประเด็นการปฏิรูปการเมือง 4 เรื่อง ทุจริตคอร์รัปชัน 4 ด้าน จะสามารถรายงานให้หัวหน้า คสช.ได้ในสิ้นเดือนนี้ นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมลักษณะเสริมสร้างบรรยากาศปรองดองสมานฉันท์โดยศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปของ กอ.รมน.ภาค 1-4 และด้จัดทำ MOU ระหว่างผู้นำทางความคิดที่เคยเห็นต่างกันในแต่ละพื้นที่
และเมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว โดยมีทั้งหมด 17 หน้า 48 มาตรา มีสาระสำคัญ อาทิ ให้รัฐบาล ฝ่ายบริหาร คณะรัฐมนตรี รับผิดชอบงานเฉพาะด้านการบริหาร โดย คสช.รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีสมาชิก 220 คน ทำหน้าที่ออกกฎหมาย สภาปฏิรูป (สปร.) มีสมาชิก 200 คน ทำหน้าที่คล้ายสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) คือ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอมาและยังมีหน้าที่กำหนดวาระการปฏิรูปประเทศ เป็นต้น
คำต่อคำ
การบริหารราชการแผ่นดินของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ในห้วงระยะเวลา 2 เดือน เป็นการปฏิบัติตามแนวทางขับเคลื่อนประเทศไทยหรือ โรดแมป ระยะที่ 1 โดยการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่เกิดขึ้นก่อนที่ คสช.ได้เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ให้ประเทศสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ต่อไป และเพื่อเตรียมการเข้าสู่โรดแมป ระยะที่ 2 ในกรอบเวลา 2-3 เดือน ซึ่ง คสช.ได้พบปัญหาที่ต้องแก้ไขหลายปัญหาด้วยกัน เช่น การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การพนัน ยาเสพติด การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า การปราบปรามอาวุธสงคราม การปราบปรามกลุ่มผู้มีอิทธิพลต่างๆ การดูแลผู้ประกอบการรถรับจ้างที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ขบวนการลักลอบนำพาแรงงานต่างด้าว รวมไปถึงมาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องค่าครองชีพ การช่วยเหลือเกษตรกร การปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบ เพื่อปลดล็อคปัญหาอุปสรรคในด้านการค้า การลงทุน โดยทุกๆ มาตรการได้รับฟังความเห็น และข้อเสนอแนะจากทั้งข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อให้ผลการดำเนินการเป็นไปตามความคาดหวังของประชาชนและเกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ภารกิจทั้งหมดได้ดำเนินการผ่านการปฏิบัติงานที่แบ่งเป็น 3 กลุ่มงานคือ กลุ่มงานบริหารราชการแผ่นดิน กลุ่มงานรักษาความสงบเรียบร้อย และกลุ่มงานสร้างความปรองดอง และการปฏิรูป
กลุ่มงานบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ฝ่าย และ 1 ส่วนงาน ต่างเดินหน้าปฏิบัติตามนโยบายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ได้มอบหมายให้ทุกฝ่ายรีบดำเนินการแก้ไขปัญหาที่สะสมมานานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และมีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนี้
1. ฝ่ายความมั่นคง โดย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้า และ พล.อ.อักษรา เกิดผล เสนาธิการทหารบก เป็นรองหัวหน้า ยังคงเดินหน้าปฏิบัติการสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศด้วยการบูรณาการการทำงานที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ ในทุกด้านทั้งฝ่ายเศรษฐกิจ ฝ่ายสังคมจิตวิทยา หรือฝ่ายอื่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเห็นต่างทางการเมือง จนนำไปสู่ความแตกแยก การพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมที่เน้นเรื่องผลกำไร รวมทั้งเรื่องแรงงานราคาถูก โดยมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับทุกภาคส่วน ทั้งข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ประชาชน ภาคประชาสังคม นิสิตนักศึกษาที่ต้องมีจิตสำนึก และมีความรับผิดชอบในการที่จะช่วยกันทำให้ประเทศชาติปลอดภัย ควบคู่ไปกับการชี้แจงทำความเข้าใจกับนานาชาติถึงสถานการณ์ และแนวทางของ คสช. รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งจากการที่หัวหน้าฝ่ายต่างๆ ได้พบปะพูดคุยกับเอกอัครราชทูต สภาหอการค้า และกลุ่มผู้ประกอบการต่างๆ ของต่างประเทศ อาทิ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน ระหว่างหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง กับเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยซึ่งได้ผลตอบรับในทางที่ดี โดยมีความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และยืนยันถึงความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ คสช. แก้ไขปัญหาเหล่านั้น ส่งผลให้สื่อต่างประเทศนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ของไทยในเชิงบวกมากขึ้น เห็นได้จากในการจัดกิจกรรมระหว่างประเทศ เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงจากภาคส่วนต่างๆ มีโอกาสเดินทางมาสัมผัสกับสถานการณ์ในประเทศไทยด้วยตนเอง เช่น การเป็นเจ้าภาพประชุม ระดับรัฐมนตรีว่าการฯ แห่งอาเซียนว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 6 มีผู้แทนทั้งระดับรัฐมนตรี และอธิบดีมาร่วมประชุมถึง 63 ประเทศ
ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพไทยกับมิตรประเทศนั้น ผู้นำกองทัพมิตรประเทศ โดยเฉพาะประเทศใน ASEAN ล้วนมีท่าทีสนับสนุนกองทัพไทย อาทิ กองทัพอินเดียได้เชิญ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะรองหัวหน้า คสช. ไปเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ และการเตรียมจัดการฝึกประจำปีของกองทัพไทยภายใต้รหัสการฝึก Pirap Jabiru และการฝึก Pitch Black ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมนี้ ขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาได้แสดงความประสงค์ที่จะมีการฝึกร่วมผสม Cobra Gold 2015 ในไทยต่อไป และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคม ASEAN ฝ่ายความมั่นคงได้จัดประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อวางแผนดำเนินงานในระยะเฉพาะหน้า ระยะเร่งด่วน และระยะยาว โดยมีลักษณะเป็น Single Command และมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อขับเคลื่อน 3 เสาหลัก ได้แก่ คณะอนุกรรมการฯด้านการเมืองและความมั่นคง คณะอนุกรรมการฯ ด้านสังคมและวัฒนธรรม คณะอนุกรรมการฯ ด้านเศรษฐกิจ และคณะอนุกรรมการฯ ด้านประชาสัมพันธ์ ซึ่งทำงานเกื้อกูลกัน เพื่อขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินการที่หยุดชะงัก รวมทั้งเตรียมการแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องตามนโยบายของหัวหน้า คสช.
สำหรับการดูแล และให้บริการประชาชน ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงาน เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายของ คสช.เป็นไปอย่างรวดเร็ว และเป็นรูปธรรม โดยยังคงสานงานต่อจาก 1 เดือนแรกที่ให้ความสำคัญกับการให้บริการ และดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง เท่าเทียมกัน รวมถึงการดำเนินการกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้งต่อสถาบันสำคัญของชาติ การป้องกันการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและทรัพยากรธรรมชาติ การเล่นการพนัน การติดตามทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย การแก้ปัญหาการทุจริต การแพร่ระบาดของยาเสพติด และอาวุธสงคราม โดยสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้เป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเห็นผลงานได้อย่างชัดเจนคือการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว และการค้ามนุษย์ ที่ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service เพื่อนำแรงงานผิดกฎหมายมาจดทะเบียนให้สามารถตรวจสอบและดูแลได้ตามหลักมนุษยธรรมแล้ว 8 จังหวัด โดยในสัปดาห์นี้ได้จัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนฯ จำนวน 6 ศูนย์ใน กทม. นอกจากนี้ยังให้ผู้ที่ประกอบกิจการเรือประมงที่มีแรงงานต่างด้าวทำงานอยู่ จัดทำบัญชีรายชื่อ สัญชาติ และจำนวน แจ้งกับแรงงานจังหวัด และจะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้า และจะมีการจัดชุดออกตรวจแรงงาน นายจ้าง และผู้ประกอบการอย่างจริงจัง
2. ฝ่ายเศรษฐกิจ โดย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นหัวหน้า และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกเป็นรองหัวหน้า ยังคงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งในระยะสั้นได้เร่งรัดดูแลเรื่องค่าครองชีพ และราคาสินค้าด้วยการให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจัดโครงการธงฟ้าราคาประหยัด มีการจัดอาหารสำเร็จรูป และสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพมาจำหน่ายในราคาถูกให้กับประชาชนรวม 21 ครั้ง สามารถลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน คิดเป็นมูลค่ากว่า 27 ล้านบาท พร้อมขอความร่วมมือผู้ประกอบการ และห้างค้าปลีกค้าส่งกว่า 1,000 ราย ตรึงราคาจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นจำนวน 205 รายการเป็นเวลา 6 เดือน รวมทั้งขอความร่วมมือให้ลดราคาจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จที่ประชาชนนิยมบริโภค 10 รายการอยู่ที่จานหรือชามละ 35-40 บาท
ส่วนปัญหาผลผลิตทางการเกษตร คสช.ได้อนุมัติงบประมาณ 163 ล้านบาท เพื่อกระจายผลไม้ที่ผลผลิตกำลังออกสู่ตลาดนอกแหล่งผลิต แยกเป็นลำไยจาก 8จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 74.5 ล้านบาท เงาะและลองกองจากภาคตะวันออกจำนวน 51 ล้านบาท มังคุดและลองกองจากภาคใต้จำนวน 37.5 ล้านบาท ส่วนปัญหาราคายางพารานั้นได้กำหนดแผนดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้น ได้อนุมัติงบประมาณกว่า 6,160 ล้านบาทให้กับเกษตรกร 112,253 ราย เพื่อช่วยเหลือปัจจัยการผลิตครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ ในอัตราไร่ละ 2,520 บาท เฉพาะที่เปิดกรีดแล้ว ขณะที่ระยะยาวจะสนับสนุนให้มีการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งยังได้เตรียมมาตรการสร้างเสถียรภาพราคาอย่างยั่งยืน โดยการสนับสนุนสินเชื่อผ่อนปรนให้แก่สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการแปรรูปยางพารา การเปิดตลาดใหม่ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการกำหนดพื้นที่เหมาะสมในการปลูกยาง หรือโซนนิ่ง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรอย่างยั่งยืน คสช.ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจาณาจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผลผลิตทางการเกษตร ให้กระจายอยู่ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อเชื่อมต่อการดำเนินงานของทุกหน่วยงานให้มีการบูรณาการ ในการติดตามกำกับดูแลทุกมาตรการให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ขณะเดียวกันยังช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก และสามารถเสนอแนะข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับปัญหาข้าวนั้น ภายหลังการปลดล็อคปัญหาโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/2557 สำเร็จ คสช.ได้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการนโยบาย และบริหารจัดการข้าว” ที่มีหัวหน้า คสช.เป็นประธานกรรมการ ได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาข้าวให้เป็นไปอย่างยั่งยืนและมีการบูรณาการ โดยเน้นการเพิ่มผลผลิต และมูลค่าข้าวให้สามารถแข่งขันกับตลาดได้มากขึ้น โดยแบ่งกรอบเวลาดำเนินการเป็น 3 ระยะคือ
การแก้ปัญหาระยะสั้น ให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือชาวนาในช่วงการผลิตข้าวนาปี ปี 2557 /2558 ให้มีรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยการช่วยลดต้นทุนการผลิต และสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกร เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่
การแก้ปัญหาระยะกลางซึ่งต้องใช้เวลา 1–3 ปี จะมุ่งหาแนวทางให้การปลูกข้าวมีต้นทุนที่ต่ำ และมีผลผลิตต่อไร่ที่สูง รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพของข้าว เพื่อให้เกษตรกรมีกำไรจากการขายข้าวเปลือก และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 สำหรับการระบายข้าวจะไม่เร่งระบายข้าวเร็ว จนทำให้เสียราคา และการกำหนดราคาต้องให้เป็นไปตามกลไกตลาด
สุดท้ายคือ การแก้ปัญหาระยะยาวซึ่งต้องใช้ระยะเวลามากกว่า 3 ปีนั้น การแก้ปัญหาต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ โดยกำหนดเขตพื้นที่ปลูกข้าว Zoning ให้เหมาะสมกับการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด การส่งเสริมการตลาดเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวให้เป็นไปตามกลไกตลาด การส่งเสริมการมีส่วนร่วมและที่สำคัญคือ การส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และปลูกพืชทดแทน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน โดยไม่ต้องใช้งบประมาณของรัฐบาลอุดหนุน
และเพื่อเป็นการฟื้นฟูความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน คสช.ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก หรือ Eastern Sea Board และคณะกรรมการขับเคลื่อนความพร้อมเข้าสู่อาเซียน รวมทั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI ซึ่งจากการประชุมคณะกรรมการ BOI ที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติโครงการไปแล้วเกือบ 100 โครงการ มูลค่าการลงทุนเกือบ 200,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการทบทวนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต โดยสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย นอกจากนี้ ยังได้มีการร่วมประชุมทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเพื่อรับฟังข้อมูล แลกเปลี่ยนข้อมูลกับกลุ่มนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมทั้งเอกอัครราชทูตต่างประเทศที่ประจำการในประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนอีกด้วย ล่าสุด คสช.ได้เห็นชอบตามที่กรมสรรพากรเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาจำนวน 3 ฉบับ คือให้ขยายระยะเวลาการใช้บังคับบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 7 ขั้น การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 20 และการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือร้อยละ 7 ที่จะสิ้นสุดในปี 2557 เลื่อนเป็นสิ้นสุดในปี 2558 ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ส่วนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ คสช.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงการดูแลคุณภาพน้ำ ล่าสุด ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 5 กลุ่ม เพื่อให้การวางแผนและดำเนินการเป็นไปตามระบบลุ่มน้ำ เป็นกลุ่มลุ่มน้ำที่มีความเชื่อมโยงกัน และสามารถนำน้ำต้นทุนมาบริหารจัดการแบ่งปันกันได้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยได้กำหนด Road Map ในการดำเนินการไว้ 3 ระยะ คือ
ระยะแรก เป็นการจัดทำโครงร่าง แผนงาน โครงการ ตามความรับผิดชอบของคณะอนุกรรมการทั้ง 5 กลุ่มกำหนดเวลาให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2557
ระยะที่ 2 เป็นการจัดทำร่างแผนบริหารจัดการน้ำ แนวทางดำเนินการและมาตรการแก้ปัญหา กำหนดเวลาให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2557
ระยะที่ 3 การจัดทำแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฉบับสมบูรณ์ ประกอบด้วย แผนงาน โครงการ และงบประมาณ กำหนดเวลาให้เสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม 2557 ก่อนจะเสนอให้หัวหน้า คสช.พิจารณา และอนุมัติเป็นแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดจะใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน และจะสามารถแถลงแผนดังกล่าวได้ภายในสิ้นเดือนตุลาคม 2557
3. ฝ่ายกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม โดย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้า และพล.ท.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เป็นรองหัวหน้า รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้อง และผลกระทบที่เกิดจากข้อกฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และการลดความเห็นต่าง โดยตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมได้เดินหน้าแก้ไขโครงสร้างอำนาจของฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ซึ่ง คสช.ได้มุ่งเน้นที่จะแก้ไขกฎหมายด้านต่างๆ ให้สามารถปราบปรามการทุจริตภาครัฐ การปราบปรามยาเสพติด และการปราบปรามกระบวนการค้ามนุษย์ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยดำเนินการไปพร้อมๆ กับผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ที่ผ่านมาได้ผลักดันกฎหมายให้มีผลบังคับใช้แล้วจำนวน 11 ฉบับ เช่น การเพิ่มเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญที่ได้รับเงินต่ำกว่าเดือนละ 9,000 บาท และการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งได้เตรียมเสนอร่างกฎหมายที่เป็นประโยชน์แก่สังคมในวงกว้างให้เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระแรกรวม 5 ฉบับ เช่น ร่าง พ.ร.บ.การทวงหนี้ และร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อคุ้มครองสิทธิของลูกหนี้ และผู้ค้ำประกัน เป็นต้น
ส่วนผลงานในภาคปฏิบัติ นโยบายสำคัญที่เร่งเดินหน้า คือ การปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด โดยหลังจากหัวหน้าฝ่ายกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมได้ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 15 กระทรวงได้มีความเห็นร่วมกันให้เร่งรัด 6 มาตรการ เพื่อปราบปรามและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด อาทิ การเพิ่มความเข้มข้นในการสกัดกั้น และปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด การจัดระเบียบสถานบริการและสถานประกอบการ การสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด การยึด และอายัดทรัพย์สินผู้เกี่ยวข้องทั้งระบบ เป็นต้น ทั้งนี้ ได้มีการประเมินผลครั้งแรกใน 30 วัน ซึ่งผลจากการการบูรณาการหน่วยงานความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. สายงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. และภาคอื่นๆ ทำให้สามารถติดตามจับกุมขบวนการค้ายาเสพติดทั้งรายย่อย และรายใหญ่ได้ 49,386 คดี ผู้กระทำผิด 52,200 คน ของกลางยาบ้า 10,677,441 เม็ด ยาไอซ์ 246.40 กิโลกรัม กัญชา 1,606 กิโลกรัม ยึดและอายัดทรัพย์สินได้มูลค่า 305.82 ล้านบาท จับกุมเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้ 32 คน
ขณะที่ในส่วนของเรือนจำ หลังดำเนินการย้ายนักโทษคดียาเสพติดที่เสี่ยงต่อการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด 415 คนไปคุมขังที่เรือนจำกลางเขาบิน จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นเรือนจำที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูงสุดแล้ว ยังกำหนดให้แต่ละเรือนจำและทัณฑสถาน เอกซเรย์เจ้าหน้าที่ทุกนายตามโครงการ “เจ้าหน้าที่สีขาว” ซึ่งต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกประเภทด้วย โดยทุกแห่งต้องดำเนินการให้เห็นผลภายใน 30 วัน นอกจากนี้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง.ยังได้ส่งบัญชีที่ต้องสงสัยเกี่ยวกับการกระทำผิดมาให้ คสช.ตามที่ได้ขอความร่วมมือไว้รวม 470 บัญชี แบ่งเป็นบัญชีความผิดเกี่ยวกับแก๊งคอลเซนเตอร์ 324 บัญชี บัญชีเกี่ยวกับคดีฉ้อโกงภาษี 112 บัญชี บัญชีเกี่ยวกับการค้ายาเสพติด 20 บัญชี และบัญชีเกี่ยวกับคดีฉ้อโกงทางอินเทอร์เน็ต 14 บัญชี
และนอกจากการปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังเดินหน้าปราบปรามอาวุธสงครามตามนโยบายของ คสช. อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง อาทิ การจับกุมผู้ต้องหาพร้อมอาวุธสงครามเป็นจำนวนมาก อาทิ อาวุธปืนอาก้า อาวุธปืนเอ็ม 16 ระเบิด กล้องเล็งยิง และเครื่องกระสุนนับพันนัด และการจับกุมผู้ต้องหายิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่บริเวณพื้นที่ชุมนุมหน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ราชดำริ มีผู้เสียชีวิต 3 ราย พร้อมของกลางเป็นเครื่องยิง ทั้งลูกระเบิดแบบเอ็ม 79 อาวุธปืนเอ็ม 16 และลูกระเบิดอีกนับสิบลูก ซึ่งของกลางทั้งหมดอยู่ในสภาพใช้งาน สามารถใช้ยิงทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินได้
4. ฝ่ายสังคมจิตวิทยา โดย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นหัวหน้า และพล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ เป็นรองหัวหน้า รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาที่ทำให้สังคมไทยอ่อนแอ ซึ่งนอกจากการจัดกิจกรรมคืนความสุขให้กับคนในชาติรูปแบบต่างๆ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีแล้ว ฝ่ายสังคมจิตวิทยาได้เร่งขับเคลื่อนงานในทุกด้าน โดยด้านสิ่งแวดล้อมได้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาขยะและมลพิษ หลังเกิดเหตุไฟไหม้สถานที่กำจัดขยะหลายครั้ง และหลายพื้นที่ที่มีกองขยะตกค้างสะสมได้ทำความเดือดร้อนแก่สุขภาพอนามัยของประชาชน จึงได้จัดทำ Road Map และแผนปฏิบัติการทั้งระยะเร่งด่วน ระยะสั้น ระยะยาวจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนก่อนเสนอให้ คสช.พิจารณา โดยแผนปฏิบัติการที่จัดทำขึ้นได้มีการ บูรณาการ การบริหารจัดการขยะในภาพรวม การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง การกำจัดแบบรวมศูนย์ การเลือกวิธีการกำจัดขยะที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และการนำขยะมาใช้ประโยชน์ เช่น แปรรูปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า
ส่วนการปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ นอกจากมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำ Road Map การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่าไม้แล้ว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับกุมผู้กระทำความผิดพร้อมของกลางได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถจับกุมผู้ต้องหาคดีทำลายทรัพยากรป่าไม้ได้ทั้งหมด 123 คดี ผู้ต้องหา 125 คน ยึดของกลางไม้พะยูง ไม้ชิงชัน ไม้ประดู่ คิดเป็นปริมาตร 261,574 ลูกบาศก์เมตร มูลค่าส่งออกกว่า 260 ล้านบาท รถยนต์ใช้ในการกระทำผิด 25 คัน รถจักรยานยนต์ 9 คัน เลื่อยโซ่ยนต์ 14 เครื่อง รถไถนา 1 คัน พร้อมอายัดทรัพย์เครือข่ายลักลอบตัดไม้พะยูงข้ามชาติมูลค่ากว่า 88 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังเดินหน้าทวงผืนป่าคืนแผ่นดิน ตามนโยบายของ คสช. อย่างจริงจัง จนพบว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่จังหวัดสระบุรีคือ ป่าท่าฤทธิ์,ป่าลำทองหลางและป่าพญากลางนับพันไร่ เพื่อสร้างสิ่งก่อสร้างเป็นรีสอร์ท พร้อมจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องไปดำเนินคดี และล่าสุดยังได้ร่วมกันเปิดยุทธการลุยผู้บุกรุกอุทยานแห่งชาติสิรินาถ อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เพื่อทวงคืนผืนป่า 2,743 ไร่ มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวนกรณีนี้แล้ว โดยแบ่งกลุ่มที่เชิญมาไต่สวนเป็น 4 กลุ่มคือ ข้าราชการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ข้าราชการสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้าราชการสังกัดกรมที่ดิน และกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน
ส่วนด้านการศึกษา ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ ศึกษารวบรวมข้อมูล และระดมความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนในการจัดทำ Road Map การปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาคนระยะยาว โดยประเด็นสำคัญที่จะมีการปฏิรูป นอกจากการผลิตบุคลากรครูหรือบุคลากรทางการศึกษาที่จะมาเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กและเยาวชน ตลอดจนการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาแก่โรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ และโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลแล้ว ยังได้มีการปรับปรุงหลักสูตรให้เพิ่มวิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมืองและศีลธรรม โดยแยกออกจากสังคมศึกษา เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ภาคภูมิใจในความเป็นไทย ความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ มีจิตสำนึกความรับผิดชอบเห็นประโยชน์ของประเทศชาติและส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน โดยเริ่มใช้ในภาคการศึกษาหน้า นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวัฒนธรรม นำนโยบายการสร้างค่านิยมของคนไทย 12 ประการ ตามนโยบายหัวหน้า คสช. ไปสู่การปฏิบัติ โดยกระทรวงศึกษาธิการได้บรรจุค่านิยมของคนไทย 12 ประการให้อยู่ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว ขณะที่กระทรวงวัฒนธรรมจะรับผิดชอบการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างเสริมค่านิยมไทยส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย ส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย
และในฐานะเสาประชาสังคมและวัฒนธรรม ฝ่ายสังคมจิตวิทยาได้เตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านประชาคมสังคม และวัฒนธรรมอาเซียน ปี 2557-2559 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีทิศทาง และรูปแบบการดำเนินการเป็นไปตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน นอกจากนี้ได้เสริมสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนถึงความสำคัญของการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยการส่งเสริมให้มีตัวแทนอาเซียนภาคประชาชนเสนอแนะความต้องการควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้ ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการสร้างประชาคมอาเซียน ให้กับอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สภาเด็ก และเยาวชนทุกระดับเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนต่อไป
5. ฝ่ายกิจการพิเศษ โดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นหัวหน้า มี พล.ท.สุชาติ หนองบัว เป็นรองหัวหน้า ได้เตรียมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา 12 สิงหาคม 2557 ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ โดยมีหัวหน้า คสช. เป็นประธานกรรมการ เห็นชอบจัดกิจกรรมหลัก 4 กิจกรรม ประกอบด้วย
1) กิจกรรมเผยแพร่พระเกียรติคุณ จัดสร้างภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติฯ เป็นภาพยนตร์สารคดี 2 เรื่อง คือเรื่องทศวรรษแรกของการทรงงาน กับเรื่องชัยชนะบนแผ่นดินอีสาน และเป็นภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติฯ 2 เรื่อง คือ เรื่องด้วยรัก กับเรื่องเสียงจากแดนใต้
2) กิจกรรมโครงการจัดสร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมวารสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในโอกาสพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559
3) กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯระหว่างวันที่ 9-12 สิงหาคม 2557 โดยภาครัฐ และเอกชน ณ บริเวณสวนอัมพร ลานพระราชวังดุสิตและท้องสนามหลวง รวมถึงกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ในส่วนภูมิภาคทุกจังหวัด
4) พิธีจุดเทียนชัยถวายพระพรชัยมงคล ณ บริเวณท้องสนามหลวง วันที่ 12 สิงหาคม 2557 นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ อื่นๆ อาทิ การลงนามถวายพระพร
ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชน ผ่านช่องทางร้องเรียน 1111 นั้น ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมามีประชาชนร้องทุกข์และแสดงความคิดเห็น 26,024 เรื่อง แก้ไขปัญหาได้ 22,497 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 86.45 และอยู่ระหว่างการดำเนินการ 3,527 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสังคมและสวัสดิการมากที่สุด ส่วนเรื่องที่ประชาชนเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปมากที่สุดคือการปฏิรูปประเทศ การปฏิรูประบบราชการ การปรองดอง/สมานฉันท์ และการป้องกันและปราบปรามการทุจริต นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงพื้นที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่มายื่นข้อร้องเรียน และเร่งรัดกระบวนการติดตามและแก้ไขปัญหาให้รวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมทั้งแจ้งผลการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนทราบโดยเร็ว
นอกจากการรับเรื่องราวร้องทุกข์แล้ว การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภคก็เป็นเรื่องที่ประชาชนมีความคาดหวังสูง ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น คสช.ได้ยกระดับ และขับเคลื่อนการคุ้มครองผู้บริโภคของไทยให้ครอบคลุมปัญหาทุกประเด็น โดยช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ได้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนที่มีการรับเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 1,590 เรื่อง แก้ไขสำเร็จ 158 เรื่อง อยู่ระหว่างการไกล่เกลี่ย 1,317 เรื่อง ที่เหลือจำนวน 145 เรื่องอยู่ในขั้นตอนการกลั่นกรอง สำหรับเรื่องที่มีการร้องเรียนมากที่สุดคือ ปัญหาเรื่องรถยนต์ ผู้ประกอบการท่องเที่ยว อาคารชำรุด สินค้าและบริการ ตามลำดับ ส่วนการแก้ปัญหากลุ่มผู้ค้าแผงลอยตลาดโบ๊เบ๊นั้น ภายหลังจากการประชุมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจนครบาล กระทรวงมหาดไทย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และตัวแทนกลุ่มผู้ค้าแผงลอยตลาดโบ๊เบ๊ เพื่อร่วมกันจัดระเบียบ ที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อยขึ้นมาแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งการดำเนินงานในขั้นต้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทำให้การจราจรมีความคล่องตัวมากขึ้น ประชาชนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น ส่วนการจัดระเบียบในระยะยาว กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการตามแผนการจัดระเบียบ ประกาศให้มีการลงทะเบียนผู้ประกอบการ และเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
สำหรับส่วนงานที่เป็นหน่วยขึ้นตรงกับหัวหน้า คสช. โดย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ คสช. และ พล.ท.ชาตอุดม ติตถะสิริ เป็นรองเลขาธิการ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานต่างๆ ของ คสช. รวมถึงการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนต่างๆ ของประชาชนโดยเฉพาะเรื่องที่เป็นปัญหาปากท้องของประชาชน จากการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานต่างๆ ของ คสช. พบว่าส่วนใหญ่มีความคืบหน้าไปอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการในเรื่องการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมสำคัญตามนโยบาย จนสามารถจับกุมผู้ต้องหาคดีสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีสถานการณ์การชุมนุมและคดีที่มีการใช้อาวุธสงครามก่อเหตุ ส่วนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนให้แก่ประชาชน และการปรับปรุงโครงสร้างการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความเป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพและรวดเร็วตามแนวทาง “พื้นที่ปลอดเหตุ ประชาชนปลอดภัย” พบว่าสถิติการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา เช่น เดือนมิถุนายน 2556 เกิดจำนวน 141 ครั้ง เดือนมิถุนายน ปีนี้เกิด 102 ครั้ง เป็นต้น เมื่อ คสช.ได้จัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ขึ้นทั่วประเทศในทุกระดับมาตั้งแต่ 28 พ.ค. 57 เพื่อยุติความเห็นต่างและสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดองสมานฉันท์ ด้วยการจัดกิจกรรมคืนความสุขให้กับประชาชน และการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เสนอความต้องการในการปฏิรูปประเทศแล้วเสร็จใน 30 กรกฎาคมนี้ ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ สังเกตได้จากสถานการณ์ความขัดแย้งได้ลดลงจำนวนมาก แนวโน้มทางเศรษฐกิจดีขึ้น ครอบครัวที่เห็นต่างกันก็กลับมาคุยกัน ทำให้ปัญหาที่เคยหมักหมมมาค่อยคลี่คลายไป และสำหรับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ที่ คสช.มีมติให้ความเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 จำนวน 2,575,000 ล้านบาท โดยเป็นนโยบายขาดดุล จำนวน 250,000 ล้านบาท รายได้สุทธิจำนวน 2,325,000 ล้านบาท งบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 จำนวน 50,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.0 นั้น คาดว่า ฝ่ายนิติบัญญัติจะดำเนินการพิจารณาภายในห้วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายนนี้ และจะนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในวันที่ 15 กันยายน 2557 และสามารถประกาศใช้ได้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ส่วนการเปรียบเทียบการเบิกจ่ายงบประมาณ ภายหลังจาก คสช. เข้ามาบริหารประเทศหน่วยงานต่างๆ มีความชัดเจนในการดำเนินงาน ทำให้การเบิกจ่ายเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 240,363 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.5
ในส่วนของกลุ่มงานรักษาความสงบเรียบร้อย ยังคงมีความจำเป็นต้อง เชิญบุคคลที่อยู่ในความขัดแย้งทั้งโดยตรงและโดยอ้อมเข้ารายงานตัวเพื่อสร้างความเข้าใจ โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อความมั่นคงของประเทศ และประชาชนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี และในช่วงเดือนที่ 2 นี้จะเห็นได้ชัดเจนว่าประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศลดความกังวลลง กลับมาใช้ชีวิตตามปกติสุข ขณะที่ธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการกลับมามีความคล่องตัวดังเดิม อย่างไรก็ตาม คสช.ยังจําเป็นต้องเตรียมความพร้อมไว้ตลอดเวลา
ส่วนการจัดระเบียบรถบริการขนส่งสาธารณะ คสช.ได้ดำเนินการจัดระเบียบรถรับจ้างหรือรถบริการขนส่งสาธารณะ โดยส่วนของรถตู้มีการจัดระเบียบไม่ให้จอดรถที่บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิซึ่งกีดขวางการจราจร และเคลื่อนย้ายจุดจอดไปยังสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ สำหรับการจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซด์มีการขจัดผู้มีอิทธิพลที่แสวงหาประโยชน์จากวินเถื่อน และจัดให้มีการจดทะเบียนวินมอเตอร์ไซด์รับจ้างให้เกิดความถูกต้อง สำหรับการจัดระเบียบรถแท็กซี่ ต้องไม่ให้เอาเปรียบผู้โดยสารโดยคิดเกินกว่าอัตราค่าเดินทางจริงอย่างเข้มงวด สำหรับการดำเนินการได้แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะแรก คือ การบังคับใช้กฎหมายและจัดระเบียบอย่างเข้มงวด ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 คือ การแก้ไขปัญหาอย่างถาวร รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกันสภาพปัญหาต่อไป
สำหรับกลุ่มงานสุดท้าย คือ กลุ่มงานสร้างความปรองดอง และการปฏิรูป โดย พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม รับผิดชอบ มีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป มี พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ เป็นหัวหน้า และคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ มีหน้าที่กำหนดแนวทางในการเสริมสร้างบรรยากาศความปรองดองสมานฉันท์ ซึ่งได้เดินหน้ารวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เพื่อเสริมสร้างความรักความสามัคคีและคืนความสุขแก่คนในชาติอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปจังหวัดครบทุกจังหวัดในเดือนแรก เดือนที่ 2 ได้รวบรวมและจัดทำหัวข้อการรับฟังความคิดเห็นจากส่วนต่างๆ อาทิ ผลงานที่มีอยู่เดิม งานวิจัย วิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้อง ส่วนราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม และองค์กรอิสระต่างๆ รวมทั้งข้อเสนอแนะของประชาชนจากทั่วประเทศนำมาสังเคราะห์ เพื่อให้ได้หัวข้อการรับฟังความคิดเห็น โดยคณะทำงานได้รวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วน ทางช่องทางโทรศัพท์, จดหมายอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-mail ไปรษณียบัตร จำนวน 2,787 เรื่อง รวมทั้งได้สังเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารและงานวิจัย จำนวน 418 เรื่อง จากข้อมูลดังกล่าวคณะทำงานฯ ได้สรุปประเด็นในการปฏิรูปขั้นต้น โดยพิจารณาจากความสำคัญและความเร่งด่วนได้ 11 ประเด็น อาทิ การขจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กระบวนการยุติธรรม พลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคม เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้จัดสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ทรงคุณวุฒิ, ผู้มีประสบการณ์และผู้เชี่ยวชาญ ทั้งส่วนราชการ นักวิชาการ ผู้แทนพรรคการเมือง ภาคธุรกิจ องค์กรอิสระ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กลุ่มเห็นต่าง รวมถึงภาคประชาชนอื่นๆ รวม 53 ครั้ง จัดการประชุมกลุ่มย่อย 5 ครั้ง ครั้งละ 50-80 คน และจัดเสวนา 3 ครั้ง โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวประมาณ 2,000 คน เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของแนวความคิดเห็นเพิ่มเติมใน 11 ประเด็น
และจากการรวบรวมผลการรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปจัดทำ “กรอบความเห็นร่วม” ในประเด็นการปฏิรูปการเมือง และการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน สรุปได้ว่าการปฏิรูปการเมืองมีอยู่ 4 เรื่อง คือ โครงสร้างทางการเมือง การคัดสรรบุคคลดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ปราศจากการครอบงำจากนายทุนพรรคการเมือง กระบวนการถ่วงดุลอำนาจการบริหาร และกระบวนการถอดถอนบุคคลดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนของการปฏิรูปเพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่นมีแนวทางสำคัญรวม 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการป้องกัน ด้านการปราบปราม ด้านโปร่งใส และด้านเป็นธรรม ซึ่งผลสรุปดังกล่าวจะสามารถรายงานให้ คสช.ทราบ เพื่อนำไปพิจารณาใช้ได้ในสิ้นเดือนนี้
ส่วนผลงานที่สำคัญสามารถทำให้กลุ่มคู่ขัดแย้งกลับมาสามัคคีและร่วมมือร่วมใจกันเดินหน้าประเทศไทยอีกครั้ง ผ่านการจัดกิจกรรมลักษณะเสริมสร้างบรรยากาศปรองดองสมานฉันท์โดยศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปของ กอ.รมน.ภาค 1-4 จนถึงขณะนี้รวมกิจกรรมทั้งหมด 84,252 ครั้ง และได้จัดทำ MOU ระหว่างผู้นำทางความคิดที่เคยเห็นต่างกันในแต่ละพื้นที่ มาแล้วกว่า 177 ฉบับ ครอบคลุมกว่า 403 แกนนำ กว่า 3,003 จังหวัดถึงระดับตำบล และเวทีเสวนาจัดแล้ว 176 เวที ครอบคลุมกว่า 30,842 หมู่บ้าน
หากพิจารณาจากปรากฏการณ์ที่เห็นได้จากสังคม ถึงแนวทางการขับเคลื่อนประเทศของ คสช.แล้ว เห็นได้ชัดเจนว่าสถานการณ์และปัญหาในด้านต่างๆ ได้เริ่มคลี่คลายลงตามลำดับ หลังได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชน โดยเฉพาะการจัดระเบียบสังคมและสิ่งผิดกฎหมายที่มีการดำเนินการอย่างเฉียบขาด อย่างไรก็ตามปัญหาต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการจัดการแก้ไขนั้น เป็นปัญหาที่สะสมมายาวนาน ซึ่งหลายปัญหาต้องใช้ระยะเวลาในการสะสาง และหลายปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ด้วย คสช. เพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกกลุ่มทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน และสิ่งที่สำคัญที่สุดอันเป็นเจตนารมณ์ของ คสช. คือการคืนความสุขให้กับประชาชน โดยการลดความหวาดระแวง ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ลดการทุจริตคอรัปชั่น สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้ได้โดยเร็ว พร้อมกับนำทุกปัญหาที่มีผลกระทบโดยเร่งด่วนกับความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน การสร้างอาชีพรายได้ให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย สร้างกระบวนความคิด ความรู้ ให้กับประชาชนเพื่อให้เป็นประชาชนที่เข้มแข็ง มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก และเพื่อให้พร้อมก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนและประชาคมโลกในโอกาสต่อไปโดยเร็วที่สุด
และในวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นวันครบรอบ 2 เดือนของการบริหารราชการแผ่นดิน โดย คสช. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว โดยมีทั้งหมด 17 หน้า ประกอบด้วย 48 มาตรา ซึ่งมีสาระสำคัญ อาทิ ให้รัฐบาล ฝ่ายบริหาร คณะรัฐมนตรี รับผิดชอบงานเฉพาะด้านการบริหาร โดย คสช. รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีสมาชิก 220 คน ทำหน้าที่ออกกฎหมาย สภาปฏิรูป (สปร.) มีสมาชิก 200 คน ทำหน้าที่คล้ายสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) คือ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอมาและยังมีหน้าที่กำหนดวาระการปฏิรูปประเทศ เป็นต้น
ทั้งนี้ คสช. มุ่งหวังให้การบริหารราชการแผ่นดิน นับจากนี้ต่อไป เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประชาชนชาวไทย ทุกพวก ทุกฝ่าย มีความรัก ความสามัคคี และมีความปรองดองสมานฉันท์ อันเป็นแนวทางสำคัญและมั่นคง เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างสมบูรณ์ และยั่งยืนในทุกมิติ