xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำกับอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เรื่อง “ผู้นำกับอำนาจ” เป็นเรื่องสำคัญสำหรับสังคม สังคมมนุษย์ทุกระดับชั้นจะดำเนินไปด้วยความสงบสุข ปราศจากปัญหาน้อยใหญ่ทั้งหลายทั้งปวง มันก็ขึ้นอยู่กับผู้นำในสังคมใช้อำนาจถูกต้องชอบธรรม ถ้าผู้นำทุกระดับขั้นใช้อำนาจที่ตนมีอยู่ให้ถูกต้องสอดคล้องด้วยเหตุผลและชอบธรรมแล้ว รับรองทุกคนที่อาศัยอยู่ในสังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน จะได้รับความเป็นธรรม ความยุติธรรม ความเสมอภาคโดยทั่วกัน ทั้งนี้ ก็เพราะผู้นำใช้อำนาจปราศจากอคติ คือไม่มีความลำเอียง ด้วยอำนาจฉันทา โทสา ภยา โมหาคติ ผิดก็ว่ากันไปตามผิด ถูกก็ว่ากันไปตามถูก ใครทำผิดก็ต้องถูกลงโทษ ไม่ยกเว้นว่าจะเป็นใคร ทำผิดต้องถูกลงโทษเสมอเหมือนกันหมด ดังนั้น ผู้นำทุกระดับขั้น ก่อนจะลงโทษใครควรใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญให้รอบคอบ อย่าผลีผลามทำอะไรตามอารมณ์ชักจูงเพราะสิ่งที่ทำลงไปแล้ว ทำคืนไม่ได้ ทำผิดแล้ว จะเสียใจในภายหลัง

ในสังคมมนุษย์ยุคปัจจุบันทุกวันนี้ เรื่องของผู้นำกับอำนาจมันเป็นเรื่องประหลาดที่จะไม่น่าจะเกิดขึ้นในสังคมยุคนี้ แต่มันก็มีให้เห็นอยู่โดยทั่วไป นั่นก็คือผู้นำในระดับสูงที่มีหน้าที่มีตำแหน่งในการบริหารประเทศชาติบ้านเมืองมักจะพากันใช้อำนาจในทางให้โทษมากกว่าในทางให้คุณ เพราะความสำคัญผิด เห็นผิด เข้าใจผิดว่า พวกตนมีอำนาจอยู่ในมือแล้ว จะทำอะไรก็ได้ตามความชอบใจ ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ไม่มีอะไรที่คนมีอำนาจทำไม่ได้ นี่แหละผู้นำที่มีอำนาจพวกเขามักจะพากันคิดเช่นนี้ทั้งนั้น พวกเขาถือว่าเมื่อมีอำนาจแล้วใครจะกล้ามาแหยม เพราะอำนาจเป็นใหญ่ในโลก ดังนั้น ขณะใด เมื่อใด พวกไหนมีอำนาจแล้ว พวกนั้นก็เป็นใหญ่ในโลก แล้วพวกเขาจะทำอะไรก็ได้ตามความพอใจ ทำเรื่องผิดให้เป็นถูก ทำเรื่องถูกให้เป็นเรื่องผิดก็ได้ ใครจะกล้ามาขัดขวาง…ว่าเข้านั่น…เห็นไหมล่ะ!

สังคมไทยของเราทุกวันนี้ บรรดาผู้นำซึ่งมีอำนาจในระดับสูงแต่ว่ามีจิตใจต่ำถูกครอบงำด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ทิฏฐิมานะ อิจฉาริษยา นินทาว่าร้ายและอคติ พวกผู้นำเหล่านี้มักจะพากันใช้อำนาจไม่เป็นธรรมไม่ใช้ธรรมเป็นอำนาจ การใช้อำนาจนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะคนที่ใช้อำนาจมักเป็นคนที่ขาดเหตุผล ทำอะไรลงไปด้วยความผลุนผลัน ถูกกิเลสประเภทต่างๆ ผลักดันแล้วก็ทำลงไป โดยไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบ ชอบคิด ชอบพูด ชอบทำอะไรตามใจตนเอง การคิด การพูด การทำอะไรตามใจตนเอง ก็คือการทำ การพูด การคิด ตามฤทธิ์ของกิเลสตัณหานั้นเอง เมื่อผู้นำใช้อำนาจในทางที่ผิดอันเกิดจากฤทธิ์ของกิเลสตัณหาก็นำพาให้คนในสังคมได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนต่างๆนานา ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทุกวันนี้

หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา สำหรับผู้หลักผู้ใหญ่จะนำไปใช้ในฐานะเป็นผู้นำของสังคมทุกระดับนั้นก็ได้แก่ “พรหมวิหารธรรม” ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหม, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ, ธรรมประจำใจของผู้มีคุณความดียิ่งใหญ่, ธรรมของผู้นำ มีอยู่ ๔ ประการคือ : -

๑. เมตตา ความรักใคร่ปรารถนาให้คนอื่นมีความสุข
๒. กรุณา ความสงสารต้องการช่วยให้คนอื่นพ้นทุกข์
๓. มุทิตา ความพลอยดีใจในเมื่อเห็นคนอื่นได้ดี
๔. อุเบกขา มีใจเป็นกลางไม่เข้าข้างอคติ

ผู้นำของสังคมทุกระดับ ต้องเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจในการปกครองหมู่คณะให้ดำเนินไปด้วยความราบรื่น และมีความสุขความเจริญ ความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน ผู้นำแต่ละระดับจึงจำเป็นต้องใช้ธรรมเป็นอำนาจ อย่าใช้อำนาจไม่เป็นธรรมเพราะการใช้ธรรมเป็นอำนาจ ความผิดพลาดจะไม่เกิดขึ้นในการพิจารณา คดีความต่างๆ ในทางสังคม เพราะคำว่า “ธรรม” นั้น ได้แก่ความดี, ความถูกต้อง, ความจริง ดังนั้น ผู้นำที่ใช้ธรรมเป็นอำนาจ อำนาจนั้นจึงเป็นอำนาจที่ดี ที่ถูกต้อง, ที่เป็นความจริง เป็นสิ่งที่ทุกคนให้การยอมรับ สนับสนุน ในสังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน เป็นการสร้างสรรค์คนในสังคมให้มีความรักกันบนพื้นฐานความเป็นธรรม ความยุติธรรม และความเสมอภาค

ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้นำในสังคมนิยมใช้อำนาจไม่เป็นธรรม ในการพิจารณา อรรถคดีความต่างๆในทางเข้าข้างอคติ มีความลำเอียงเพราะชอบ (ฉันทาคติ) ลำเอียงเพราะชัง (โทสาคติ) ลำเอียงเพราะกลัว (ภยาคติ) ลำเอียงเพราะเขลา (โมหาคติ) การใช้อำนาจไม่เป็นธรรมนั้นนำแต่ความทุกข์ความเดือดร้อน บั่นทอนความสงบสุข ของคนในสังคมให้หมดไป เหลือไว้แต่ปัญหานานาประการเป็นการทำลายสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันในทุกๆ ด้านปานประหนึ่งนรกอเวจี เพราะมีคนไม่ดีเป็นผู้นำของสังคม มีรสนิยมในการใช้อำนาจอย่างไม่มีมาตรฐาน ดังเหตุการณ์ในสังคมไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ผู้นำไทยผู้ใหญ่ในสังคม ที่ทำการบริหารบ้านเมืองอยู่ในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ พวกผู้นำเหล่านี้เป็นผู้นำที่ขาดธรรมประจำใจ ทำให้ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า เป็นผู้นำแทนที่จะแก้ปัญหา ความทุกข์ ความเดือดร้อนของประชาชน กลับเป็นคนสร้างปัญหาเสียเอง นี้แหละเขาเรียกกันว่าผู้นำที่ใช้แต่พระเดช (อำนาจ) อย่างเดียว ไม่เคยมีพระคุณต่อประชาชนเลย

ผู้นำที่ดีตามหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา ต้องมี “พรหมวิหารธรรม” เป็นเรือนใจ คือมีเมตตา ความรักใคร่ปรารถนา ให้คนอื่นและสัตว์อื่นมีความสุข จะคิดอะไรก็ให้คิดด้วยเมตตา จะพูดอะไรก็ให้พูดด้วยเมตตา จะทำอะไรก็ให้ทำด้วยเมตตา ปรารถนาให้เพื่อนเกิด, แก่, เจ็บ, ตายด้วยกันมีแต่ความสุข ปราศจากความทุกข์นานาสารพัน จะทำ จะพูด จะคิดอะไร ก็ให้ทำ ให้พูด ให้คิด ด้วยกรุณา มีความสงสารต้องการช่วยเหลือเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันให้พ้นจากความทุกข์ จะทำ จะพูด จะคิดอะไร ก็ให้ทำ ให้พูด ให้คิด ด้วยมุทิตา มีความพลอยดีใจในเมื่อเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันได้ดีมีความสุข ความเจริญ ก็ขอให้พวกเขาเหล่านั้นได้ดี มีความสุข ความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ข้อนี้มีความสำคัญที่สุด ที่ผู้นำทุกระดับจะต้องแสดงออกซึ่งความพอใจ ความดีใจ ในเมื่อเห็นคนอื่นทำดีแล้วได้ดี อย่ามีความอิจฉาริษาในความดีของพวกเขาเป็นอันขาด อย่าใช้อำนาจในการทำลายความดีของคนอื่น ซึ่งมีอยู่ดาษดื่นในสังคมของผู้นำบ้าอำนาจในปัจจุบัน ข้อสุดท้าย จะทำ จะพูด จะคิดอะไร ก็ให้ทำ ให้พูด ให้คิดด้วยอุเบกขา คือให้ความเป็นธรรม ความยุติธรรม ความเสมอภาคแก่ทุกคนซึ่งเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บตาย ด้วยกัน นี่แหละท่านผู้อ่านผู้ฟังทั้งหลาย เรื่องของผู้นำกับอำนาจ นำมาเสนอท่านทั้งหลายก็จบเพียงเท่านี้แล…. ขอย้ำให้ผู้นำทั้งหลายใช้ธรรมเป็นอำนาจกันเถิด จะเกิดศิริมงคลส่งผลให้สังคมมีแต่ความสงบสุข ทุกประการ

(คัดลอกจาก ธรรมเทศนาเรื่อง ผู้นำกับอำนาจ ของ พระวิเทศธรรมรังษี ( หลวงตาชี ) เจ้าอาวาส วัดไทย กรุงวอชิงตันดีซี ใน www.Luangtachi .org)


กำลังโหลดความคิดเห็น