xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯ ป.ป.ท.หนุนผลักดันกฎหมายพิสูจน์หลักฐานการเงินสาวคดีโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประยงค์ ปรียาจิตต์ (ภาพจากแฟ้ม)
เลขาธิการ ป.ป.ท. หนุนแนวคิด คสช. ผลักดันร่างกฎหมายพิสูจน์พยานหลักฐานทางด้านการเงินและบัญชี ช่วยสืบสวนคดีทุจริต ย้ำขอบเขตอำนาจกฎหมายต้องไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เผยหน่วยงานรัฐส่งข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างโครงการรัฐ งบฯ 1 แสนบาท กว่า 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว ย้ำราคาต้องสมเหตุสมผล

วันนี้ (22 ก.ค.) นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวถึงแนวคิด คสช.ในการออกกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการพิสูจน์พยานหลักฐานทางด้านการเงินและบัญชี รวมทั้งข้อมูลอื่นๆ ว่า การสืบสวนทางการเงินที่ผ่านมา กฎหมายจะให้อำนาจในชั้นสอบสวน หรือชั้นไต่สวน แต่ในชั้นสืบสวนไม่มีเครื่องมือ ทำให้เมื่อมาถึงขั้นตอนการสอบสวนหรือไต่สวน พยานหลักฐานจะมีน้อย ทำให้ต้องไปค้นหลักฐานเพิ่มเติม ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานในชั้นสืบสวนลดน้อยลง ดังนั้น กฎหมายนี้เชื่อว่าเพื่อให้มีเครื่องมือในชั้นสืบสวน อย่าง ป.ป.ท. เองเครื่องมือสอบเบื้องต้นไม่มี แต่หาทางแก้โดยไปขอรับการรับการสนับสนุนจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แต่ถ้ามีกฎหมายนี้ก็จะทำให้การทำงานคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

แต่ทั้งนี้ อำนาจในการสืบสวนเจ้าพนักงานเองก็ต้องใช้เท่าที่จำเป็น ไม่กระทบสิทธิของบุคคลภายนอกจนเกินไป ตรงนี้กฎหมายต้องคุ้มครองเอกชน และบุคคลภายนอกนอก ดังนั้น ในการยกร่างกฎหมายต้องคุยรายละเอียด ขอบข่ายของกฎหมายจะมีมากน้อยแค่ไหน เพราะในสถาบันการเงินก็มีกฎหมายคุ้มครองของเขาอยู่ แต่ก็ต้องแลกกัน ถ้าเกิดอาชญากรรมนั้นๆ มีผลกระทบต่อสังคมโดยรวม เพราะฉะนั้นมันต้องช่างน้ำหนักแล้วให้เกิดความพอดี ทั้งในส่วนของรัฐและเอกชน โดยที่สังคมได้ประโยชน์ ต้องมองหลายมุม ส่วนใหญ่มาตรการเหล่านี้ในต่างประเทศถือเป็นหลักสากลอยู่แล้ว อาจจะดูแล้วมาพิจารณาปรับให้สอดคล้องกับบ้านเรา

นอกจากนี้ จากคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 69/2557 กำหนดแนวทางและมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาทุจริต ประพฤติมิชอบ โดย ป.ป.ท. ให้หน่วยงานรัฐส่งข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างโครงการของรัฐ ที่มีวงเงิน 1 แสนบาท มายัง ป.ป.ท. เข้ามาเพื่อเป็นข้อมูลในฐานะเฝ้าระวัง ตอนนี้หลายหน่วยงานของรัฐ รายงานเข้ามากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว ซึ่งตรงนี้ส่งผลต่อการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน เพราะการจัดซื้อจัดจ้าง มีปัจจัยไม่กี่อย่างในการพิจารณา คือ ตัวสินค้าที่ซื้อ ราคาที่ซื้อ ชนิดที่ซื้อ และผู้ขาย ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องสมเหตุสมผลในตัวมันเองของแต่ละหน่วยงาน ถ้าเป็นหน่วยงานเล็กแต่จัดซื้อทั้งปี ซื้อราคาแพง มันก็ผิดสังเกต ก็จะเข้าไปตรวจตราตรงนั้น ได้มาเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการเฝ้าระวัง และจะเรียกขอดูข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง วงเงิน 1 ล้านบาท ย้อนหลังไป 5 ปีด้วย จะได้มาเป็นฐานข้อมูลในการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น