กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ผุด “สมาร์ท อีซีที” นำเทคโนโลยีมาใช้ ทั้งการทำฐานข้อมูลเองแทนใช้ข้อมูลกรมการปกครอง พัฒนาแอป “ตาสับปะรด” ส่งข้อมูลทุจริตเลือกตั้งทั้งภาพและคลิป พัฒนาศูนย์อำนวยการเลือกตั้งใช้คอนเฟอเรนซ์ กกต.จังหวัด และพัฒนาเครื่องลงคะแนน หลังอินเดียใช้ทั้งประเทศ ทันสมัย ต้นทุนต่ำ เผยใช้งบไม่เยอะ
วันนี้ (22 ก.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง เปิดเผยถึงการประชุมเพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการเลือกตั้งให้มีความทันสมัยมากขึ้นว่า ตนเองมีแนวความคิดที่จะนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการจัดการเลือกตั้ง เพื่อป้องกันและปราบปรามให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและมีประสิทธิภาพ ภายใต้ชื่อว่า “สมาร์ท อีซีที” (Smart ECT) โดยจะมีการแบ่งเป็น 5 กลุ่มงาน
กลุ่มแรก เป็นเรื่องการจัดทำฐานข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้งของ กกต.เอง ที่ตอนนี้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการอยู่ โดยจะใช้งบประมาณในการส่วนนี้สูงถึงประมาณ 100 กว่าล้านบาทต่อการเลือกตั้ง 1 ครั้ง ต่อไปอาจจะปรับมาให้ กกต.เป็นผู้ดำเนินการเองซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก รวมถึงจะมีการอัปเดตข้อมูลผู้มีสิทธิในต่างแดน และอาจปรับปรุงกฎหมายให้มีการลงทะเบียนผู้ใช้สิทธิก่อนการเลือกตั้งในส่วนนี้ด้วยซึ่งอาจให้ดำเนินการผ่านทางอินเทอร์เน็ต แต่ถ้ายังไม่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้มีการลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิ ตรงนี้ก็จะเป็นส่วนของการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าแทน
ส่วนที่ 2 เป็นการพัฒนาแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนที่จะใช้ชื่อว่า “แอปตาสับปะรด” ให้ประชาชนใช้ฟรี เพื่อเป็นช่องทางในแจ้งเหตุผิดปกติในการเลือกตั้งเช่นการซื้อสิทธิขายเสียง การขนคนไปลงคะแนน โดยจะมีทั้งการส่งภาพถ่าย ส่งคลิปวิดีโอ และข้อความมายัง กกต.ซึ่งผู้ที่แจ้งข้อมูลเข้ามาต้องแจ้งประวัติส่วนตัวและที่อยู่ติดต่อกลับด้วย ทั้งนี้ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาปรับปรุงแอปพลิเคชันดังกล่าวอยู่ และจะมีทีมงานที่จะตรวจสอบความน่าเชื่อถือในส่วนนี้ และขอให้ประชาชนทั่วไปมั่นใจว่าข้อมูลต่างๆ จะเป็นความลับเพื่อความปลอดภัยของผู้แจ้งเหตุ และหวังว่าแอปนี้จะเป็นการป้องกันมากกว่าการปราบปราม
ส่วนที่ 3 จะเป็นการพัฒนาศูนย์อำนวยการเลือกตั้งให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยต้องสามารถจัดประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับ กกต.จังหวัดทั่วประเทศ อีกทั้งต้องสามารถตรวจสอบความพร้อมของหน่วยเลือกตั้งต่างๆ และให้หน่วยต่างๆ สามารถรายงานสถานการณ์ต่างๆ เข้ามาได้ด้วย ส่วนที่ 4 จะเป็นการพัฒนาเครื่องลงคะแนน ที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ให้นโยบายไปดูตัวอย่างการลงคะแนนที่ประเทศอินเดีย ที่ใช้เครื่องลงคะแนนทั้งประเทศ ซึ่งที่มีความทันสมัยมาก และต้นทุนต่ำ นอกจากนี้ ก็ให้ศึกษาการเชื่อมโยงนำบัตรประชาชนที่เป็นสมาร์ทการ์ดมาปรับใช้กับการเลือกตั้งด้วย ส่วนที่ 5 นั้นจะเกี่ยวกับการนับคะแนน ซึ่งขณะนี้ที่ยังไม่เห็นรูปแบบเลือกตั้งที่ชัดเจน จึงให้ระงับในส่วนนี้ไว้ชั่วคราว
สำหรับระยะเวลาและงบประมาณ ในการดำเนินการโครงการนั้น จะแตกต่างกันไปในแต่ละส่วน ส่วนแรกถ้าทันต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไปก็จะใช้เป็นฐานข้อมูลของเราเอง แต่ถ้าหากไม่ทันก็ต้องใช้ฐานข้อมูลของกรมการปกครองเช่นเดิมไปก่อน ส่วนแอพพลิเคชั่นนั้นคาดว่า 6 เดือนข้างหน้าคงแล้วเสร็จ ส่วนเรื่องงบประมาณนั้นก็แตกต่างกันไปอย่างการทำฐานข้อมูลในการประเมินเมื่อปี 2550 อยู่ที่ 400 ล้านบาท ขณะนี้ที่มีการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีค่าใช้จ่ายก็น่าจะถูกลง และเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ใช้ในเรื่องการทำฐานข้อมูลแต่ละครั้งถือว่าคุ้มค่า โดยในส่วนอื่นๆ คงใช้งบไม่มากนัก ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้นำเอาหลักการของโครงการดังกล่าวเสนอเข้าที่ประชุม กกต. และได้รับการยอมรับจากทีประชุมแล้ว หากโครงการแล้วเสร็จเมื่อใดก็จะมีการเสนอต่อที่ประชุมอีกครั้ง