xs
xsm
sm
md
lg

“วิบูลย์” จี้ผู้ว่าฯ เดินโรดแมปเน้นปรองดอง-เศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (ภาพจากแฟ้ม)
ปลัดมหาดไทยเรียกร้องผู้ว่าราชการจังหวัดทุกแห่งเดินงานตามโรดแมป เน้นสร้างความปรองดอง - กระตุ้นเศรษฐกิจ ชีดเส้น 4 เดือนตามกรอบงบ 57 พร้อมรวบรวมแนวคิดปฏิรูป ผุด E - Report อัปเดตงานผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กทุกวัน

วันนี้ (13 มิ.ย.) เมื่อเวลา 12.30 น. ที่ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมหารือระหว่างผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เกี่ยวกับแนวทางในการขับเคลื่อนภารกิจเร่งด่วนตามนโยบายของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมทุกกรม ผู้บริหารหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด

โดย นายวิบูลย์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดแผนโรดแมป 4 ข้อ คือ 1. การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ ที่ต้องลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนในทุกระดับ การแก้ไขปัญหาความคับข้องใจของประชาชน โดยหลักการสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ คือ ต้องบอกให้ประชาชนเข้าใจในการที่ คสช. เข้ามาระงับความขัดแย้ง โดยต้องรีบทำและทำในทุกพื้นที่ และต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น อาทิ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค และศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) โดยต้องทำงานให้มีผลลัพธ์ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศต่อไป 2. การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยให้ทุกหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทยโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค ลงพื้นที่ดูแลทุกข์สุข และรับฟังปัญหาความเดือดร้อนความต้องการของประชาชน ถึงตำบล หมู่บ้าน และครอบครัว 3. การกระตุ้นเศรษฐกิจลดความเหลื่อมล้ำ ให้เน้นให้โครงการกิจกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างงาน สร้างอาชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิต และ 4. การรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เช่น แก้ปัญหายาเสพติด อาวุธสงคราม อาชญากรรม อิทธิพล การพนัน และอบายมุขอย่างจริงจังทุกพื้นที่ ซึ่งบางส่วนได้มีการทำไปแล้ว

“ทุกเรื่องจะต้องเร่งรัดดำเนินการช่วงเวลา 4 เดือนนี้ โดยระยะแรกคือ การสร้างบรรยากาศที่ดีและรับฟังปัญหา จะใช้เวลาในเดือน มิ.ย.- ก.ค. หลังจากนั้น จะเป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งในเดือน ส.ค.- ก.ย. ทั้งนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งทำงานอย่างเต็มที่ในทุกมิติ และขอให้รับฟังความคิดเห็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการของ คสช. และกระทรวงมหาดไทย ในการดูแลพี่น้องประชาชนในทุกๆ เรื่องต่อไป” นายวิบูลย์ กล่าว

นายประพาส บุญยินดี รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเสริมว่า การพูดคุยเพื่อสร้างความปรองดองนั้น ไม่ใช่การละเว้นความผิด หรือนิรโทษกรรมให้คนที่กระทำผิด เพราะกระบวนการยุติธรรมก็ยังต้องดำเนินการอยู่ ทั้งนี้ จังหวัดจะต้องเข้าไปทำความเข้าใจในพื้นที่โดยเร็ว โดยอำเภอควรเร่งตั้ง ศปป. อำเภอ และจังหวัดก็ตั้งศูนย์ประสานงานขึ้น โดยจังหวัดสามารถดำเนินการได้เลย ไม่ต้องเกรงใจใครอีกแล้ว เพราะตอนนี้ คสช. เรียกนักการเมืองและแกนนำกลุ่มต่างๆมาทำความเข้าใจแล้ว ส่วนการดำเนินการนั้นจังหวัดควรคิดกิจกรรม เพื่อสร้างความปรองดองตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน โดยทุกภาคส่วนจะต้องช่วยจังหวัดทำ รวมทั้งผสมผสานกับตำรวจ ทหาร ซึ่งก็เชื่อว่าหากทุกภาคส่วนร่วมมือกันจะสามารถทำสำเร็จได้

ด้าน นายศิริพงษ์ ห่านตระกูล อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า กรมการปกครองมีทั้งหมด 12 ภารกิจ ที่จะต้องเน้นย้ำเพื่อเร่งรัดผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอดำเนินการ คือ 1. การชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องเหตุผลที่ คสช. ต้องเข้ามาดูแลประเทศ 2. การปกป้องสถาบันสำคัญของชาติ 3. การป้องกันการสร้างสถานการณ์ ขอให้ตรวจพื้นที่เสี่ยงที่จะมีการซ่องสุมกำลัง หรืออาวุธเพื่อนำมาสถานการณ์ได้ 4. การชุมนุมทางการเมือง ทางจังหวัดควรติดข่าวสารในพื้นที่ 5. การเผยแพร่ข่าวสารในลักษณะต่อต้าน คสช. 6. การลักลอบตัดไม้ 7. การพนัน 8. การติดตามทวงหนี้ชาวนา 9. การปราบปรามยาเสพติดที่จัดการอย่างเร่งรัดภายใน 30 วัน

10. การตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปจังหวัดและอำเภอ เพื่อยุติความเห็นต่าง โดย ศปป. จังหวัด หรือศปป. อำเภอ มีภารกิจโดยภายในสิ้นเดือน มิ.ย. ต้องเร่งทำความเข้าใจให้สังคม ไม่ให้มีความแตกแยก จากนั้นภายในเดือน ก.ค. จะต้องมีการรับฟังแนวคิดและข้อเสนอปฏิรูปจากประชาชน ส่วนเดือน ส.ค. และ ก.ย. จะต้องมีการเสริมสร้างความเข้าใจ โดยเน้นกิจกรรมที่เสริมสร้างความปรองดองและสามัคคีในพื้นที่ 11. การส่งมอบอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด และ 12. การจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว

ทั้งนี้ ผลการปฏิบัติงานให้อำเภอรายงานการปฏิบัติไปยังจังหวัดภายในเวลา 10.00 น. จังหวัดรายงานมายังกระทรวงภายในเวลา 11.00 น. และกระทรวงรายงานให้ คสช.ในเวลา 12.00 น. และขณะนี้มีระบบบันทึกผลการดำเนินการตามประกาศและคำสั่งของ คสช. ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย หรือ E - Report เพื่อให้ผู้ว่าสามารถรายงานผลทางเว็บไซต์ได้ และยังมีการตั้งกลุ่มไลน์เพื่อให้รายงานได้สะดวกขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น