กกต.เผยข้อเสนอให้ ส.ส.ดำรงตำแหน่งเพียง 2 วาระ เป็นข้อมูลจากประสบการณ์จัดการเลือกตั้งมากว่า 16 ปี และสามารถแก้ปัญหาการสืบทอดอำนาจทางการเมืองได้ ยันไม่ใช่เป็นไปตามที่ คสช.ต้องการ ชี้ ปชป.ก็เคยเสนอ กม.ลดวาระผู้นำท้องถิ่น แนะนักเลือกตั้งส่งข้อเสนอแนะที่ดีกว่าไปยังสภาปฏิรูปเอง บอกสัปดาห์หน้าสรุปประเด็นแก้ รธน.และกฎหมายประกอบ 5 ฉบับ ในส่วนของ กกต.เล็งจัดทำสำมะโนประชากรใหม่
นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งนักวิชาการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาการปฏิรูปการเลือกตั้งของ กกต. เฉพาะอย่างยิ่งการให้ ส.ส.ดำรงตำแหน่งได้เพียงแค่ 2 วาระหรือ 8 ปีว่า กกต.เคารพและน้อมรับทุกข้อคิดเห็นที่มี แต่ที่ กกต.ได้มีข้อเสนอดังกล่าวเป็นการรวบรวมจากประสบการณ์การจัดการเลือกตั้งมากกว่า 16 ปี ไม่ใช่เสนอไปตามสิ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการจะเห็น และเห็นว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาการสืบทอดอำนาจทางการเมืองได้ อีกทั้งที่ผ่านมาสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลก็เคยมีการเสนอแก้ไขกฎหมายไม่ให้นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกันเกินกว่า 2 วาระ เรื่องดังกล่าว กกต.จึงไม่ขอโต้แย้ง และอยากให้ทุกคนที่มองโลกในแง่ดี และเป็นนักการเมืองมาหลายสมัยได้เสียสละเวลารวบรวมความคิดและเขียนส่งความคิดเห็นดังกล่าวไปให้กับสภาปฏิรูป ที่พร้อมจะรับความคิดเห็นจากทุกฝ่าย
“ข้อเสนอนี้เป็นเพียง 1 ใน 4 ที่ กกต.ได้รวบรวมตอบโจทย์ 6 ข้อที่คณะทำงานด้านการปฏิรูปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้มาโดยมีเนื้อหาจำนวน 20 หน้า การหลุดไปเพียงเท่านี้ กกต.ก็โดนกระหน่ำ แต่ของจริงคือรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ กกต.ดูแลอยู่รวม 5 ฉบับ ซึ่ง กกต.จะพิจารณาจากเฉพาะที่ กกต.มีอำนาจและมีหน้ามที่ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในระดับสำนักงานจะเริ่มพิจารณาในสัปดาห์หน้า จะพิจารณาทุกวันจนกว่าจะเรียบร้อยเพื่อจะได้แล้วเสร็จโดยเร็ว”
นายภุชงค์กล่าวว่า การให้ข้อมูลกับคณะปฏิรูปครั้งนี้เป็นเพียงการรวบรวมปัญหาและข้อเสนอแนะ ไม่ได้มีการฟันธงใดๆ และกระแสที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็ไมได้มีในแง่ลบด้านเดียว แต่ก็มีในด้านบวก ซึ่ง กกต.ก็เข้าใจว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับสภาปฏิรูป ในส่วนของ กกต.ก็ได้ส่งข้อเสนอดังกล่าวไปยัง คสช.แล้วหลังประธาน กกต.ลงนาม
นายภุชงค์ยังได้เปิดเผยถึงการเข้าหารือกับปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันว่า นอกจากเป็นการไปขอบคุณที่กระทรวงมหาดไทยได้สนับสนุนการจัดการเลือกตั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่นที่ผ่านมา ยังมีการหารือถึงกรณีท้องถิ่นโดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการเลือกตั้งของเทศบาลตำบลโคกตูม อ.เมือง จ.ลพบุรี ที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้มา 3 ปีแล้วเพราะมีการประกาศเขตปกครองทับซ้อนกัน รวมถึงการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เทศบาลตำบลจอหอ จ.นครราชสีมา และเทศบาลตำบลนาหว้า จ.นครพนม ที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้จากกรณีเดียวกันทำให้ปลัดเทศบาลต้องรักษาการ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาหนึ่งหมู่บ้านมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพียง 1-2 คน โดยพบว่ามีหมู่บ้าน 28 แห่งใน 17 จังหวัดที่มีปัญหาดังกล่าวทำให้จัดเลือกตั้งไม่ได้
อีกทั้งได้พูดคุยถึงการจะร่วมมือกันระหว่าง กกต. กับกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย เพื่อจัดทำทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยจะมีการปรับข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้เป็นปัจจุบันในทุกปีไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ และจะเสนอแก้ไขกฎหมายทั้งคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่น ให้ต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านในระยะเวลาเท่ากัน เช่น ไม่น้อยกว่า 1 ปีเหมือนกัน และจะยึดการใช้สิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 2 ก.พ. และการเลือกตั้ง ส.ว.เมื่อวันที่ 30 มี.ค. เป็นฐาน รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตจะมีการจัดทำสำมะโนประชากร
ด้านนายดุษฎี พรสุขสวัสดิ์ รองเลขาธิการกกต.ด้านสืบสวนสอบสวน เปิดเผยว่า การประชุม กกต.เมื่อวันที่ 8 ก.ค. กกต.มีมติให้ดำเนินคดีอาญาและให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายจำรัส อินทุมาร หัวหน้าพรรคไทยพอเพียง เนื่องจากยื่นรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมืองปี 2555 เป็นเท็จ และยังมีมติให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและดำเนินคดีอาญาต่อนายชาลี เวชกรบริรักษ์ ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขต 24 พรรคพลังสหกรณ์ เนื่องจากใช้ภาพถ่ายแต่งเครื่องแบบข้าราชการเกินกว่าตำแหน่งจริงจำคุก ฝ่าฝืนมาตรา 53 (5) มีโทษมาตรา 137 ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ต้องระวางโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับไม่เกิน 20,000-200,000 แสนบาท
นอกจากนี้ ได้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี และดำเนินคดีอาญาต่อนายสุเครื่อง บุรินทร์กุล ผู้สมัคร ส.ว.จังหวัดเลย หมายเลข 3 กรณีที่ลงข้อความในหนังสือพิมพ์ไทยเลย เกินกว่ากฎหมายอนุญาตมีอัตราโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับ 10,000-100,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ