xs
xsm
sm
md
lg

โอกาสดีสุดของ “ยิ่งลักษณ์” ไม่หนีตอนนี้-จะหนีตอนไหน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

ท่าทีจากฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนถึงช่วงวันอาทิตย์ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่มีการออกมาบอกว่าจะทบทวนกับการอนุญาตให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางออกนอกประเทศหรือไม่

หลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ในโครงการรับจำนำข้าว และป.ป.ช.เตรียมจะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ภายในอีกสองสัปดาห์

ข่าวว่า ปู-ยิ่งลักษณ์ อาจจะเดินทางออกจากประเทศไทยในช่วง 22 หรือ 23 ก.ค.นี้ เพื่อทัวร์ยุโรป โดยมีจุดหมายสำคัญคือกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อร่วมงานวันเกิด ทักษิณ ชินวัตร 26 ก.ค.นี้

เมื่อดูจากสภาพแล้ว หากพิจารณาถึงขั้นตอนการดำเนินคดีต่างๆ จากชั้น ป.ป.ช.ไปอัยการที่คาดว่าอย่างเร็วที่สุด กว่าจะได้ข้อยุติในทางคดีในชั้นอัยการก็ประมาณ 2 เดือน อันนี้คือกรณีเร็วที่สุด บนเงื่อนไขว่าอัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ต่อศาลฎีกาฯ

แต่หากเห็นแย้ง หรือเห็นว่าสำนวนไม่สมบูรณ์ จนนำมาสู่การตั้งคณะทำงานร่วมกัน ระหว่างอัยการกับ ป.ป.ช. ขั้นตอนนี้ก็จะลากยาวเลย อย่างเร็วก็ประมาณ 1 เดือน แต่อย่างช้าก็อาจลากไปอีกหลายเดือน เผลอๆ อาจถึงปลายปี เว้นแต่กระแสสังคมกดดันให้ต้องมีคำตอบให้แน่ชัดว่าจะเอาอย่างไร เนื่องจากไม่มีระเบียบปฏิบัติที่มีเงื่อนเวลาผูกมัดไว้ว่า คณะทำงานร่วมสองฝ่ายต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จเมื่อใด ไม่เหมือนขั้นตอนช่วงแรกๆ คือ ป.ป.ช.ต้องส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดภายในไม่เกิน 14 วัน นับแต่วันที่ ป.ป.ช.มีมติชี้มูล คือ ก็ต้องนับจาก 17 ก.ค.ไปอีก 14 วัน จากนั้นอัยการสูงสุดต้องมีความเห็นภายใน 30 วัน นับแต่รับสำนวนจาก ป.ป.ช.

เช่น หากเห็นว่าสมควรสั่งฟ้องเรื่องก็จบ แต่ในช่วงพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง ในระยะเวลา 30 วันดังกล่าว ถ้าดูแล้วสั่งไม่ฟ้องแน่นอน ทางอัยการสูงสุด คือ ตระกูล วินิจฉัยภาค ก็ต้องแจ้งไปยัง ป.ป.ช. ในช่วงไม่เกิน 30 วันดังกล่าวว่าพบข้อไม่สมบูรณ์ เมื่อ ป.ป.ช.รับทราบเรื่องก็ต้องมาหารือร่วมกับอัยการ เพื่อนำไปสู่การตั้งคณะทำงานร่วมสองฝ่าย คืออัยการกับ ป.ป.ช. โดยต้องตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 14 วัน

ที่มีปัญหาก็คือ ในชั้นคณะทำงานร่วมจะไม่มีข้อกำหนดตายตัวว่าต้องทำความเห็นในคดีให้แล้วเสร็จภายในกี่วัน จึงทำให้คดีส่วนใหญ่ที่ ป.ป.ช.ส่งมา แล้วมีการตั้งคณะทำงานร่วม มักล่าช้าก็เพราะไปติดอยู่ในชั้นคณะทำงานร่วมสองฝ่าย จนบางคดีผ่านไปหลายปีแล้วก็ยังไม่คืบหน้าใดๆ

อย่างไรก็ตาม หากสุดท้ายถ้าคณะทำงานร่วมอัยการกับ ป.ป.ช.คุยกันรู้เรื่อง ตกลงว่ามีความเห็นร่วมกันว่าสำนวนสมบูรณ์แล้ว สั่งฟ้อง ก็จะอยู่ในขั้นตอนการร่างสำนวน-เขียนคำฟ้อง นับไปอีกร่วมเดือน จากนั้นถึงค่อยไปสู่ขั้นตอนการยื่นฟ้องศาลฎีกาฯ แล้วต้องให้ศาลฏีกาฯ คัดเลือกองค์คณะฯ และพิจารณาอีกว่าจะรับฟ้องหรือไม่รับฟ้อง ซึ่งส่วนใหญ่ก็รับฟ้องอยู่แล้ว แล้วก็ไปสู่ขั้นตอนการสู้คดีในชั้นศาลฎีกาฯ อีกอย่างเร็วสุดก็ประมาณ 3 เดือนกว่าศาลจะนัดตัดสิน

ดังนั้น ขั้นตอนจากนี้ไปจนถึงศาลฏีกาฯ นัดตัดสินคดี ก็ร่วมๆ เกือบ 5-6 เดือน

แต่หากอัยการกับ ป.ป.ช.คุยกันไม่ลงตัว คณะทำงานร่วมสองฝ่ายคุยกันไม่จบ จนทำให้ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องเอง ป.ป.ช.ก็ต้องมาเสียเวลาร่างคำฟ้อง เตรียมสำนวนส่งศาลฎีกาฯเอง ขั้นตอนนี้ก็จะขยับออกไปอีก ทำให้กว่าคดีจะส่งไปถึงศาลฎีกาฯ ก็นานขึ้นไปอีกเป็นเดือน

จึงเห็นได้ว่า ลำดับคดีค่อนข้างกินเวลาพอสมควร กว่าคดีจะส่งไปถึงศาลฏีกาฯได้ และกว่าศาลจะนัดตัดสินคดีหลังมีการไต่สวนพยานหลักฐานต่างๆ ที่ยิ่งลักษณ์ และทีมทนายความ คงงัดทุกกระบวนการท่า เพื่อสู้คดีและยื้อเรื่อให้นานที่สุด ก็น่าจะกินเวลาพอสมควร ผนวกกับโดยหลักของกฎหมายแล้ว การชี้มูลของ ป.ป.ช.ยังเป็นแค่กระบวนการต้นทาง ยังต้องผ่านอัยการ-ศาลฏีกาฯ อีก ถึงจะรู้ว่ายิ่งลักษณ์ผิดจริง ต้องรับโทษหรือไม่ ตอนนี้จึงถือว่า ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้บริสุทธิ์อยู่

ด้วยเหตุข้างต้น คือระยะเวลากว่าที่คดีจะสิ้นสุด และต้องให้โอกาสยิ่งลักษณ์ด้วย เพราะเธอยังไม่ใช่ จำเลยในคดีอาญา เป็นแค่โดน ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเท่านั้น บางคนเลยบอกว่า ก็ควรให้โอกาส ยิ่งลักษณ์ ได้ออกนอกประเทศชั่วคราว ตามที่ขออนุญาตกับ คสช.ไปเถอะ

เพราะหากยิ่งลักษณ์จะหนีจริง น่าจะหนีช่วงใกล้ๆ ตัดสินคดีมากกว่า เพราะหนทางการสู้คดียังอีกไกล กรณีเร็วสุด ก็ร่วมๆ ครึ่งปี แต่ช้าสุด ก็เป็นปี คงไม่รีบหนีตอนนี้

อันนี้ก็เป็นเหตุผลที่รับฟังได้ เพียงแต่เหตุที่คนส่วนใหญ่เห็นว่า คสช.ควรทบทวนไม่ให้ยิ่งลักษณ์ออกนอกประเทศ ก็เพราะด้วยเหตุว่าไม่ไว้ใจยิ่งลักษณ์ เพราะมันเคยมีกรณีของ ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายซึ่งตอนนั้นโดนคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ แล้วก็หนีคดีไปโดยอ้างเหตุว่า จะไปร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่ประเทศจีน จนสุดท้ายก็ไม่กลับมารายงานตัวต่อศาลฏีกาฯ

คนเลยกังวลกันว่า คสช.จะปล่อยยิ่งลักษณ์ ให้หนีออกนอกประเทศเพื่อจะได้ไม่ต้องมาสู้คดีตามรอยพี่ชาย เพราะดีเอ็นเอพี่น้องตระกูลชินวัตรมักเหมือนกันหลายอย่าง โดยเฉพาะการหลบเลี่ยงหนีกฎหมาย อีกทั้งที่มายืนแถลงข่าวว่าจะไม่หนีไปต่างประเทศ ก็รับฟังไม่ได้ เพราะอดีตนายกฯ คนนี้หมดความน่าเชื่อถือมานานแล้ว เข้าทำนอง ไม่มีสัจจะในหมู่โจร

ยังไงก็ไม่มีความจริงจากปากอดีตนายกฯ คนนี้

กระนั้นก็ต้องไม่ลืมว่า คดีของทักษิณกับยิ่งลักษณ์มีข้อแตกต่างกัน เพราะตอนคดีทักษิณเป็นการหนีคดีในชั้นเป็นจำเลยต่อศาลฎีกาฯแล้ว และศาลใกล้จะนัดตัดสินคดีแล้ว แต่ทักษิณเห็นท่าไม่ดี และยังเคยยอมรับเองว่า รู้ข่าววงในอะไรบางอย่างว่าไม่รอด เลยหนีไปพร้อมกับพจมาน ชินวัตร แต่คดีของยิ่งลักษณ์ สำนวนยังไม่ส่งไปอัยการเลยด้วยซ้ำ ขั้นตอนยังอีกไกล ทำไมจะต้องรีบหนีตอนนี้

แต่ประเด็นนี้ก็มีคนแย้งว่า ก็เพราะคดียิ่งลักษณ์ยังไม่ไปถึงศาลฎีกาฯ การขอออกประเทศเลยง่าย เพราะหากคดีไปถึงศาลฎีกาฯ แล้ว ยิ่งลักษณ์เป็นจำเลยในชั้นศาลฎีกาฯแล้ว การขออนุญาตตอนนั้น จะต้องขอต่อศาลฎีกาฯเท่านั้น ไม่ได้ขอต่อ คสช.-รัฐบาล หรืออัยการสูงสุด

ยิ่งมีกรณีพี่ชายเคยหนีคดีในชั้นศาลฎีกาฯ มาแล้ว การขอออกนอกประเทศในชั้นศาลฎีกาฯ ดูแล้วแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะศาลก็คงไม่ไว้ใจ เกรงจะหนีคดีไปแบบพี่ชายอีก

ดังนั้นตอนนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่สุดสำหรับยิ่งลักษณ์...ในการหนีคดี
กำลังโหลดความคิดเห็น