xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.เชือดอาญา “ยิ่งลักษณ์” ผิด ม.157 - พ.ร.ป.เหตุปล่อยโกงจำนำข้าวไม่ยับยั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. (ภาพจากแฟ้ม)
ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ 7 เสียง “ยิ่งลักษณ์” อดีตนายกฯ มีมูลความผิดต่อตำแหน่งตามมาตรา 157 และ พ.ร.ป. ป.ป.ช. ฐานปล่อยปละละเลยไม่ยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ปล่อยให้โกงและเอาเปรียบชาวนา ส่งอัยการสูงสุดให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อ

วันนี้ (17 ก.ค.) เมื่อเวลา 17.05 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษก ป.ป.ช. นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการและรองโฆษก ป.ป.ช. และนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ร่วมกันแถลงข่าวกรณีไต่สวนข้อเท็จจริงการกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว

โดยนายวิชา กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เต็มองค์คณะ ในฐานะคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวได้ไต่สวนข้อเท็จจริง กระทั่งสรุปเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ในวันเดียวกันนี้ (17 ก.ค.) เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกกล่าวหาเพิกเฉย ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ตามที่มีอำนาจหน้าที่จนทำให้ทางราชการได้รับความเสียหายตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2554 มาตรา 66 ที่บัญญัติว่า กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเหตุอันควรสงสัย หรือมีผู้กล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร็ว ดังนั้น จึงยกข้อสงสัยเพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีนี้โดยชอบด้วยกฎหมาย

นายวิชา กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันเดียวกันนี้ ได้วินิจฉัยถึงการที่รัฐบาลของผู้ถูกกล่าวหาดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกโดยกำหนดราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาด เมื่อมีการระบายข้าวที่รับจำนำได้เกิดผลขาดทุนจำนวนมาก แต่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ระงับยับยั้งโครงการ โดยยังคงดำเนินโครงการต่อไปจนเกิดผลขาดทุนสะสมเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนมาก การกระทำดังกล่าวมีมูลความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าโดยทุจริตหรือไม่

นายวิชา กล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาแล้วคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเสียงข้างมากด้วยคะแนน 7 ต่อ 0 เสียงเห็นว่า การที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งได้กำหนดนโยบายการรับจำนำข้าวมาตั้งแต่ต้น และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและมีส่วนร่วมในการบริหารโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลได้กำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกสูงกว่าราคาท้องตลาดเกินกว่าไปที่ควรคาดหมายได้ตามปกติ อันมีลักษณะเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด และในการดำเนินโครงการปรากฎว่า เกิดการทุจริตทุกขั้นตอน ทั้งการขึ้นทะเบียนเกษตรกร การสวมสิทธิ์เกษตรกร โกงความชื้น โกงตราชั่ง นำข้าวมาเวียนเข้าโครงการ การลักลอบนำข้าวออกจากคลัง ในส่วนของการระบายข้าวที่รับจำนำมีการใช้อิทธิพลทางการเมืองช่วยเหลือพวกพ้องให้ได้ข้าวจากโครงการไปจำหน่าย เกิดระบบนายหน้าค้าข้าว ไม่ประมูลข้าวโดยเปิดเผย การทุจริตดังกล่าวก่อให้เกิดภาระรายจ่ายของรัฐและภาวะขาดทุนเป็นจำนวนมาก ทั้งการอุดหนุนเกษตรกรและค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น การสีแปรสภาพ การขนส่ง การเก็บรักษา และยังอาจมีปัญหาข้าวเสื่อมคุณภาพ ขายข้าวขาดทุน ข้าวสูญหายจากโกดัง รัฐบาลกลายเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่ ทำลายระบบการค้าข้าวโดยเสรี โรงสีและผู้ส่งออกนอกโครงการไม่สามารถจัดหาซื้อข้าวได้เพียงพอ โรงสีในโครงการและผู้ส่งออกที่ชนะการประมูลข้าวจะมีการค้าขายที่มีข้อได้เปรียบโรงสีและผู้ส่งออกนอกโครงการ ตลอดจนราคาข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่งในต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยสูญเสียตลาดส่งออกที่สำคัญ การรับจำนำข้าวทุกเมล็ดโดยไม่จำกัดพื้นที่ผลิตและวงเงินของการรับจำนำทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายต่อโครงการอย่างยิ่ง

นายวิชา กล่าวต่อว่า การนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ ตลอดจนปริมาณรับจำนำสูงเกินกว่าข้อเท็จจริง แต่คุณภาพข้าวต่ำกว่าราคาที่รับจำนำ ต่อมาเมื่อมีการระบายข้าวที่รับจำนำได้เกิดผลขาดทุนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหาได้รับรู้ รับทราบ จากรายงานผลการปิดบัญชีโครงการรับำจำนำข้าวของรัฐบาล และยังรับทราบว่ามีการทุจริตในทุกขั้นตอนของการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว อีกทั้งปรากฎข้อเท็จจริงว่ามีชาวนาที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวนับล้านครอบครัวที่ยังไม่ได้รับเงินทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย หลายรายถึงกับฆ่าตัวตาย จึงเป็นกรณีจำเป็นที่ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะนายกรัฐมนตรีจะต้องพิจารณายับยั้งโครงการตั้งแต่เริ่มรับทราบว่ามีการทุจริตในการดำเนินโครงการและความเสียหายต่างๆ จากการดำเนินโครงการ แต่ผู้ถูกกล่าวหากลับยืนยันที่จะดำเนินโครงการรับจำนำข้าวต่อไป ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการมากขึ้นไปเรื่อยๆ ทั้งที่ผู้ถูกกล่าวหามีอำนาจหน้าที่โดยตรงที่จะต้องพิจารณายุติหรือยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เพื่อระงับยับยั้งมิให้เกิดการทุจริตและระงับยับยั้งความเสียหายจากการดำเนินโครงการมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นสภาพความเสียหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศ

“การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวจึงมีมูลความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และให้สรุปสำนวนเพื่อรายพร้อมส่งเอกสารความเห็นดังกล่าวไปยังอัยการสูงสุด เพื่อให้ดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามฐานความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2554 มาตรา 70” นายวิชา ระบุ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มูลค่าความเสียหายของโครงการที่เกิดขึ้นมีจำนวนเท่าไร นายวิชา กล่าวว่า ไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท เป็นไปตามที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวยืนยันมาตลอด อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะจัดทำเอกสารให้แล้วเสร็จเพื่อส่งให้อัยการสูงสุดในสัปดาห์หน้า

เมื่อถามว่า การชี้มูลของ ป.ป.ช. วันนี้มีผลต่อการเดินทางไปต่างประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์หรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า ทาง ป.ป.ช. ไม่ได้นำมาเกี่ยวข้อง การจะเดินทางไปต่างประเทศนั้นเป็นอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะพิจารณา ไม่เกี่ยวกับ ป.ป.ช.

“เป็นความบังเอิญที่ ป.ป.ช. ตัดสินตรงกับช่วงที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขอเดินไปต่างประเทศพอดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังเดินทางไปต่างประเทศได้หาก คสช. อนุญาต แต่อาจเที่ยวไม่สนุกเท่านั้น และอย่าไปคาดเดาว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางกลับมาหรือไม่กลับมา” นายวิชา ระบุ

เมื่อถามว่า เหตุใดจึงมีการชี้มูลแบบกะทันหันเช่นนั้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ระบุว่าจะชี้มูลได้ในเดือน ก.ย. นายวิชา กล่าวว่า ที่พูดถึงเดือน ก.ย. นั้นหมายถึงคดีจำนำข้าวทั้งหมด รวมถึงที่มีชื่อของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และหลายๆ คนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้ ป.ป.ช. กำลังดำเนินการตรวจสอบเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน และจะสามารถสรุปได้ในเดือน ก.ย. แต่ครั้งนี้เป็นการพิจารณาคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์คนเดียว ทั้งนี้ จากนี้จะเป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุด หลังจากที่ ป.ป.ช. ทำเรื่องนี้อย่างที่สุดแล้ว ส่วนความเห็นของอัยการสูงสุดจะเป็นอย่างไรอย่าเพิ่งไปคาดการณ์ล่วงหน้า หรือคาดเดาใดๆ เพราะเป็นข้อกฎหมาย ป.ป.ช. ได้ทำตามหน้าที่อย่างครบถ้วน ตอนนี้หมดหน้าที่ ป.ป.ช. แล้ว

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่อยู่ในการตรวจสอบของ ป.ป.ช. จำนวนเท่าไร นายวิชา กล่าวว่า มีทั้งหมด 35 เรื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงมติชี้มูลความผิดคดีอาญาจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันนี้ถือเป็นการลงมติแบบสายฟ้าแลบ โดยไม่มีใครทราบล่วงหน้า และยังแจ้งให้ผู้สื่อข่าวทราบว่าจะมีการแถลงข่าวอย่างกระทันหันเพียง 40 นาทีเท่านั้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้นายวิชาเคยระบุว่าจะลงมติโครงการรับจำนำข้าวได้ในเดือน ก.ย. โดยนายวิชาให้เหตุผลกับผู้สื่อข่าวว่าการชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในครั้งนี้เนื่องจากได้ไต่สวนข้อมูลข้อเท็จจริง และมีหลักฐานครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว

รายละเอียดคำแถลงของ ป.ป.ช.

การไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวของรัฐบาล

ในวันนี้ 17 กรกฎาคม 2557 เวลา 16.30 น. ณ ห้องแถลงข่าว สำนักงาน ป.ป.ช. (สนามบินน้ำ) ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกกรรมการ ป.ป.ช. ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริงคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แจ้งข้อกล่าวหานางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว และได้ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และไต่สวนได้พยานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหาที่เกี่ยวข้องเสร็จสิ้นแล้ว ในวันนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง เรื่องกล่าวหานี้แล้ว โดยมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ดังนี้

มีประเด็นต้องวินิจฉัยตามคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาประการแรกว่า กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยกข้อสงสัยว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การแต่งตั้งศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ผู้รับผิดชอบสำนวนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นไปโดยเร่งรีบอย่างเป็นพิเศษหรือไม่ การรับฟังคำให้การของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายวรงค์ เดชกิจวิกรม ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกกล่าวหาได้เพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวตามที่มีอำนาจหน้าที่ ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหายนั้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 66 บัญญัติว่า ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเหตุอันควรสงสัยหรือมีผู้กล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ... ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร็ว ดังนั้น การยกข้อสงสัยและดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย ส่วนที่ผู้กล่าวหาอ้างว่าการไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีนี้เป็นไปด้วยความเร่งรีบอย่างเป็นพิเศษนั้น ตามมาตรา 66 ได้บัญญัติให้ดำเนินการไต่สวนโดยเร็ว ดังนั้น การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีนี้โดยเร็ว จึงชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งให้ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ เป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้รับผิดชอบสำนวนนั้น ไม่ปรากฏว่าเป็นบุคคลต้องห้ามไม่ให้ร่วมในการไต่สวนข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 46 ดังนั้น การแต่งตั้งศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ผู้รับผิดชอบสำนวนจึงชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการรับฟังคำให้การของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายวรงค์ เดชกิจวิกรม นั้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 48 บัญญัติว่า ในการไต่สวนข้อเท็จจริงห้ามมิให้ทำหรือจัดให้ทำการใดๆ ซึ่งเป็นการล่อลวงหรือขู่เข็ญหรือให้สัญญากับผู้กล่าวหาหรือพยาน เพื่อจูงใจให้เขาให้ถ้อยคำอย่างใดๆ ในเรื่องที่กล่าวหานั้น ดังนั้น เมื่อผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กล่าวอ้างว่ามีการกระทำดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงชอบที่จะรับฟังคำให้การของบุคคลดังกล่าวได้

คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเสียงข้างมาด้วยคะแนน 7 : 0 เสียง เห็นว่า การที่ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อกล่าวหาว่าการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ฟังไม่ขึ้น

มีประเด็นต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า การที่รัฐบาลของผู้ถูกกล่าวหาดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกโดยกำหนดราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาด เมื่อมีการระบายข้าวที่รับจำนำได้เกิดผลขาดทุนจำนวนมาก แต่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ระงับยับยั้นโครงการ โดยยังคงดำเนินโครงการต่อมาจนเกิดผลขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากนั้น การกระทำดังกล่าวมีมูลความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือไม่

คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเสียงข้างมากด้วยคะแนน 7 : 0 เสียง เห็นว่าการที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลซึ่งได้กำหนดนโยบายการรับจำนำข้าวมาตั้งแต่ต้น และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและมีส่วนร่วมในการบริหารโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ได้กำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกสูงกว่าราคาตามท้องตลาดเกิดกว่าที่ควรคาดหมายได้ตามปกติ อันมีลักษณะเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด และในการดำเนินโครงการปรากฏว่าได้เกิดการทุจริตในทุกขั้นตอน ทั้งการขึ้นทะเบียนเกษตรกร การสวมสิทธิ์เกษตรกร โกงความชื้น โกงตาชั่ง นำข้าวมาเวียนเข้าโครงการ การลักลอบนำข้าวออกจากคลัง ในส่วนของการระบายข้าวที่รับจำนำมีการใช้อิทธิพลทางการเมืองช่วยเหลือพวกพ้องให้ได้ข้าวจากโครงการไปจำหน่าย เกิดระบบนายหน้าค้าข้าว ไม่เปิดประมูลข้าวอย่างเปิดเผย การทุจริตดังกล่าวได้ก่อให้เกิดภาระรายจ่ายของรัฐและภาวะขาดทุนเป็นจำนวนมากทั้งการอุดหนุนเกษตรกรและค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น การสีแปรสภาพ การขนส่ง การเก็บรักษา และยังอาจมีปัญหาข้าวเสื่อมคุณภาพ ขายข้าวขาดทุน ข้าวสูญหายจากโกดัง รัฐบาลกลายเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่ ทำลายระบบการค้าข้าวโดยเสรี โรงสีและผู้ส่งออกนอกโครงการไม่สามารถจัดซื้อข้าวได้เพียงพอ โรงสีในโครงการและผู้ส่งออกที่ชนะการประมูลข้าว จะมีการค้าขายที่มีข้อได้เปรียบโรงสี และผู้ส่งออกนอกโครงการ ตลอดจนราคาข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่งในต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยสูญเสียตลาดส่งออกที่สำคัญ การรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด โดยไม่จำกัดพื้นที่ผลิตและวงเงินของการรับจำนำ ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายต่อโครงการอย่างยิ่ง จากการนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ ตลอดจนปริมาณรับจำนำสูงเกินกว่าข้อเท็จจริง แต่คุณภาพข้าวต่ำกว่าราคาที่รับจำนำ ต่อมาเมื่อมีการระบายข้าวที่รับจำนำได้เกิดผลขาดทุนเป็นจำนวนมากและผู้ถูกกล่าวหาได้รับรู้รับทราบจากรายงานผลการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล และยังรับทราบว่ามีการทุจริตในทุกขั้นตอนของการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว อีกทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีชาวนาที่ร่วมโครงการรับจำนำข้าวนับล้านครอบครัวที่ยังไม่ได้รับเงินทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหลายรายถึงกับฆ่าตัวตาย จึงเป็นกรณีจำเป็นที่ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะนายกรัฐมนตรีจะต้องพิจารณายับยั้นโครงการตั้งแต่เริ่มรับทราบว่ามีการทุจริตในการดำเนินโครงการและความเสียหายต่างๆ จากการดำเนินโครงการ แต่ผู้ถูกกล่าวหากลับยืนยันที่จะดำเนินโครงการรับจำนำข้าวต่อไป ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการมาดขึ้นไปเรื่อยๆ ทั้งที่ผู้ถูกกล่าวหามีอำนาจหน้าที่โดยตรงที่จะต้องพิจารณายุติหรือยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เพื่อระงับยับยั้นมิให้เกิดการทุจริตและระงับยับยั้งมิให้เกิดความเสียหายจากการดำเนินโครงการมากยิ่งขึ้นซึ่งถือได้ว่าเป็นสภาพความเสียหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศ การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวมาจึงมีมูลความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยส่งรายงานและเอกสารพร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามฐานความผิดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 72

จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน


เอกสารฉบับเต็มจาก ป.ป.ช.







กำลังโหลดความคิดเห็น