xs
xsm
sm
md
lg

สภาทหาร-รัฐบาลทหาร ระวังเสียบรรยากาศปฏิรูป!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

เชื่อว่าหลายคนกำลังตั้งตารอว่า โรดแมป “เฟสสอง” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีหน้าตาออกมาเป็นแบบไหน เพราะถือว่านี่คือช่วงเวลาสำคัญชี้เป็นชี้ตายของบ้านเมือง ไม่เว้นแม้แต่ คสช.ด้วยเช่นเดียวกัน

ตามปฏิทินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ประกาศเมื่อค่ำวันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวออกมาแล้วภายในเดือนนี้จากนั้นก็จะมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีรัฐบาลเข้ามาบริหาร และสภาปฏิรูป ภายในเดือนสิงหาคมจนถึงเดือนกันยายน จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งสัดส่วนมาจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จากสภานิติบัญญัติ และสภาปฏิรูป สำหรับเข้ามาเป็นคณะกรรมการ (กรรมาธิการ) ร่างรัฐธรรมนูญ โดยใช้เวลาในการยกร่างราว 10 เดือน แล้วเข้าสู่เฟสสาม คือการเลือกตั้งภายในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558

พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่าต้องเดินไปตามนั้น และเชื่อว่าคงไม่มีการบิดพลิ้ว หรือออกนอกเส้นทาง เพราะชาวบ้านกำลังจ้องมองกันแบบไม่กระพริบตา

อย่างไรก็ดี หนทางแบบนั้นก็ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้น เพราะในเวลานี้กำลังอยู่ในช่วงของการใช้ “อำนาจพิเศษ” ภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จของคนเพียงคนเดียว มันก็เป็นไปได้เหมือนกันอาจมีความผิดพลาด ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ขณะเดียวกันยังมีการบิดเบือนข้อมูลจากคนแวดล้อมรอบข้าง รวมไปถึงความเชื่อของผู้นำว่าจะต้องแต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดที่รู้ใจ เคยร่วมงานกันมา เพราะมั่นใจว่าไว้ใจได้

สิ่งที่น่าจับตามองก็คือ เวลานี้เริ่มมีรายงานความเคลื่อนไหวแพลมออกมาให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ามีการสงวนโควตาสมาชิกสภานิติบัญญัติ คณะรัฐมนตรี และสภาปฏิรูป ที่มาจากสัดส่วนของกองทัพเกือบครึ่ง จากข้าราชการประจำในระดับปลัดกระทรวง อธิบดีจำนวนมาก สัดส่วนดังกล่าวมีถึงเกือบครึ่ง แม้ว่าตามหลักการที่กำลังจะออกมาผ่านทางรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่จะประกาศใช้ในเดือนนี้จะำม่ผิดกติกา เนื่องจากคาดว่ามีการกำหนดให้ข้าราชการประจำเข้ามารับตำแหน่งในองค์กรดังกล่าวได้ รวมทั้ง นายกรัฐมนตรีก็เปิดกว้างเอาไว้สำหรับข้าราชการได้ด้วย

อย่างไรก็ดี หากมองในอีกด้านหนึ่งหากในสภานิติบัญญัติ ในรัฐบาล ในสภาปฏิรูปล้วนเต็มไปด้วยทหารทั้งที่ยังรับราชการและเกษียณอายุไปแล้ว รวมทั้งข้าราชการระดับสูงเข้ามาเต็มไปหมด ภาพแบบนั้นหากเกิดขึ้นจริงก็คงไม่งามนัก และสังคมก็ต้องตั้งคำถามว่า “จะปฏิรูปเพื่อใคร” กันแน่ เพราะคงไม่ใช่เป็นการเปิดกว้างเพื่อการปฏิรูปทุกภาคส่วนอย่างแน่นอน ลักษณะที่ออกมาคงไม่ต่างจาก “สภาทหาร-รัฐบาลทหาร”

ขณะเดียวกัน สังคมภายนอกก็เริ่มรับรู้ถึงความเคลื่อนไหวในเรื่องการ “วิ่งเต้น” เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งที่กล่าวมา แม้ว่าที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้เคยปฏิเสธแบบตัดบทมาแล้วว่าอย่าไปหลงเชื่อเพราะไม่เป็นความจริง และไม่เป็นผล แต่ด้วยระบบโครงสร้างที่ต้องสงวนโควตาเอาไว้ให้คนในกองทัพ และ คสช.มันก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่คำถามก็คือหากสัดส่วนมากเกินไปมันจะเสียความหมายของคำว่าปฏิรูปทุกภาคส่วน และให้สังคมรอบข้างเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบให้มากที่สุดหรือไม่ ที่สำคัญหากเป็นนั้นเมื่อผลออกมามันก็จะไม่มีความชอบธรรม มีความพยายามต่อต้านเกิดขึ้นตามมา ไม่มีทางปรองดองได้อีก

ที่สำคัญหากเกิดภาพแบบนั้นออกมามาก มันก็ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์เกิดปฏิกิริยาไม่ยอมรับเพิ่มมากขึ้น เพราะต้องไม่ลืมว่าความเงียบสงบที่เกิดขึ้นในเวลานี้ สาเหตุส่วนใหญ่ต้องเน้นย้ำให้เข้าใจกันว่า “ไม่ใช่เพราะความกลัว คสช.” แต่เป็นเพราะชาวบ้านเขาให้โอกาสและเฝ้ามองการทำงานว่าทำงานไปตามเป้าหมายที่รับปากเอาไว้ในตอนต้นในตอนเข้ามายึดอำนาจต่างหาก หากวันใดที่ความศรัทธาและความไว้วางใจถูกสั่นคลอนเมื่อใด เมื่อนั้นก็จะเกิดปัญหาขึ้นมาทันที

กระนั้นนาทีนี้อาจมีเสียงโต้แย้งกลับมาในทำนองว่า ยังไม่เห็นหน้าตา ทำไมพูดให้เสียบรรยากาศ แต่ถ้าไม่ได้เป็นไปอย่างที่วิจารณ์ดักคอเอาไว้ล่วงหน้า มันก็คงเป็นผลบวกกับ คสช.เองว่าได้ทำตามเป้าหมายที่รับปากเอาไว้ แต่ที่ต้องส่งเสียงเตือนกันล่วงหน้าแบบนี้ ก็เพราะเริ่มได้เห็นความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติออกมาแล้ว

ดังนั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช.ว่าจะสามารถคุมเกมให้อยู่ร่องในรอยได้เต็มร้อยหรือเปล่า หากผลออกมาทั้งในสภานิติบัญญัติฯ ในรัฐบาล และสภาปฏิรูป เต็มไปด้วย ทหาร และข้าราชการเต็มพรึด ภาพของการเล่นพรรคเล่นพวกก็จะปรากฏเห็นชัด และเป็นแบบนั้นจริง มันก็ไม่มีทางที่จะปฏิรูปได้ทุกภาคส่วน อย่างเด็ดขาด!!
กำลังโหลดความคิดเห็น