xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” ชี้จำกัดวาระ ส.ส.แค่เสนอขั้นต้น หนุนใช้โปรแกรมบริหารความเสี่ยง IDEA

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง(แฟ้มภาพ)
“สมชัย” แจง กกต.ชงจำกัดวาระ ส.ส.แค่แนวทางขั้นต้น ให้ คสช.-สภาปฏิรูปพิจารณา ยันทำงานกันมานาน พร้อมร่วม “ประวิช” ฟัง ผอ.IDEA ใช้โปรแกรม บริหารความเสี่ยงเลือกตั้ง เพื่อนำไปพัฒนา ชี้ทำให้แก้ไขได้ตรงเหตุ ชง กกต.พิจารณาใช่หรือไม่ แย้มอาจใช้กับแนวคิดตั้งวอร์รูม ให้ ปชช.ใช้สมาร์ทโฟนถ่ายภาพโกงเลือกตั้ง ยกเหมาะกับไทย ยันไม่แทรกแซงเลือกตั้ง

วันนี้ (10 ก.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงการที่พรรคการเมืองวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอแนวทางแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้งที่ กกต.เสนอให้คณะทำงานด้านการปฏิรูปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาโดยเฉพาะข้อเสนอจำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง ส.ส.ว่า การเสนอแนวทางดังกล่าวเป็นการเสนอในขั้นต้น เป็นหนึ่งจากความเห็นของหลายองค์กร ที่จะถูกประมวลผลและชั่งน้ำหนัก โดย คสช.และสภาปฎิรูป

“กกต.เป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งที่นำเสนอจากประสบการณ์การเลือกตั้ง ที่มีบุคลากร ผู้บริหารทั้งหมดที่มีประสบการณ์เลือกตั้งกว่า 10 ปี บางคนจัดเลือกตั้ง ตั้งแต่อยู่มหาดไทย ไม่ใช่เพียงความคิดของ กกต.ทั้ง 5 คน ที่มีคนมองว่าเพิ่งเข้ามาทำงานเพียง 6 เดือน จะไปรู้อะไร ที่วิจารณ์กันเร็วเกินไป เพราะข้อสรุปไม่ได้จบตรงนี้ คสช.และสภาปฏิรูปจะต้องนำไปพิจารณา ขณะนี้ถือเป็นเพียงข้อมูลในเบื้องต้น” นายสมชัยกล่าว

เมื่อถามย้ำว่า การจำกัดวาระ ส.ส.2 สมัยเป็นการขัดต่อสิทธิเสรีภาพหรือไม่ นายสมชัยกล่าวว่า เป็นเพียงทางเลือกที่ยังไม่ได้ข้อยุติ

วันเดียวกัน นายสมชัย นายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านการมีส่วนร่วม และเจ้าหน้าที่ สนง.กกต.ได้ร่วมรับฟังการใช้โปรแกรมบริหารความเสี่ยงในการเลือกตั้ง หรือ ERM Tool จาก นางลีนา ริกกิลา ทามัง (Leena Rikkila Tamang) ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อประชาธิปไตยและสนับสนุนการเลือกตั้ง หรือ IDEA ที่นำมาเสนอ ต่อ กกต.เพื่อพัฒนาการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพ โดยโปรแกรมดังกล่าว ประกอบด้วยหน่วยปฎิบัติการ 3 หน่วย คือ หน่วยฐานข้อมูล ที่จะช่วยศึกษาปัจจัยความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้ง และหน่วยวิเคราะห์แนวทางปฏิบัติการ ที่จะสร้างแผนที่แสดงข้อมูลความเสี่ยงและการแจ้งเตือน และสร้างวิธีปฏิบัติในแต่ละปัจจัยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และหน่วยป้องกันและบรรเทา ซึ่งเป็นวิธีการเปรียบเทียบ การป้องกันและวิธีปฏิบัติเพื่อบรรเทาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในวัฏจักรการเลือกตั้ง

โดยปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกและภายในที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการเลือกตั้ง ในโปรแกรมดังกล่าวมี 36 ปัจจัย เช่น การที่ประชาชนขาดความเชื่อถือการเลือกตั้ง ขาดการวางแผนเตรียมการเลือกตั้ง ขาดการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน ข้อบกพร่องในการลงทะเบียนผู้ขอใช้สิทธิ์ รวมถึงการใช้ความรุนแรงในการหาเสียง การปลุกปั่นผ่านสื่อโดยนักการเมือง และ ปฎิเสธผลการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ นายสมชัยแถลงภายหลังการรับฟังว่า ทางสถาบัน IDEA ได้เสนอซอฟต์แวร์ที่เป็นเครื่องมือบริหารการเลือกตั้ง ที่จะนำเสนอข้อมูลที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับการเลือกตั้งซึ่งเกิดขึ้นในหลายประเทศ ทั้งปัจจัยภายในและภายนอก 36 ปัจจัย ในโปรแกรมจะแสดงเป็นสัญลักษณ์ถึงความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ทำให้รู้ถึงสถาณการณ์ในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้สามารถป้องกันความเสี่ยง และหาทางแก้ไขได้ตรงกับสถานการณ์ หลังจากนี้จะได้นำข้อมูลเสนอที่ประชุม กกต.ภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อพิจารณาว่าจะนำมาใช้หรือไม่ ทั้งนี้การนำโปรแกรมดังกล่าวมาใช้ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ แต่จะคำนึงถึงว่าการนำโปรแกรมดังกล่าวมาใช้ว่าจะทำงานได้จริงหรือไม่ ซึ่งทาง IDEA ระบุว่าโปรแกรมดังกล่าวใช้มาแล้วในหลายประเทศ เช่น บอสเนีย เนปาล

“อาจนำโปรแกรมดังกล่าวมาเสริมกับแนวคิดของ กกต.ที่จะมีการตั้งวอร์รูม และการที่ กกต.จะมีแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน ที่จะให้ประชาชนช่วยถ่ายภาพ ติดตามการเลือกตั้ง โดยเฉพาะหากพบการทุจริต หรือการซื้อเสียง แล้วรายงาน หรือแจ้งเบาะแสเข้ามาให้ กกต.ทราบ” นายสมชัยกล่าว

นายสมชัยยังกล่าวด้วยว่า การนำเสนอดังกล่าวไม่ได้มีการวิเคราะห์ หรือประเมินในส่วนของประเทศไทย ว่ามีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง เพียงแต่เป็นการนำเสนอโปรแกรม ซึ่งในอดีตการเลือกตั้งของไทยจะเน้นในเรื่องเสรีภาพ และความเป็นธรรม แต่เครื่องมือนี้จะทำให้การเลือกตั้งเป็นที่เชื่อถือ และสงบเรียบร้อย ซึ่งเหมาะกับประเทศไทย ที่ต้องการความสงบเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม การเสนอโปรแกรมดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซงการเลือกตั้งของไทย แต่เป็นการสนับสนุนด้วยการนำประสบการณ์จากต่างประเทศมาประยุกต์ เพราะเมื่อเรานำโปรแกรมมาใช้ ทาง IDEA จะอบรมให้เจ้าหน้าที่ของ กกต.เท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น