xs
xsm
sm
md
lg

“พานแว่นแดง” หงอย ปีนี้รัฐสภางดจัด อ้างการเมืองทำพิษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพเมื่อครั้งการประกาศรางวัลชนะเลิศพานแว่นฟ้า เมื่อปี 2556
รัฐสภายกเลิกการประกวดวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นและบทกวี “รางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย” ปีที่ 13 ระบุเพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์ทางการเมือง หลังปีที่แลิ้วเกิดเรื่องอื้อฉาว กรรมการเสื้อแดงมอบรางวัลกวีเสื้อแดงกันเอง ครื้นเครงไม่อายถูกด่า

วันนี้ (2 ก.ค.) นางบุษกร วรรธนะภูติ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการสภาฯ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้าปี 2557 ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้าปี 2557 ได้มีประกาศของคณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า เรื่องยกเลิกการประกวดวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นและบทกวี “รางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย” ปีที่ 13 ลงวันที่ 1 ก.ค.

ทั้งนี้ ประกาศฉบับดังกล่าวเนื้อหาระบุว่า ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยคณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้าปี 2557 ได้จัดประกวดวรรณกรรมการเมืองประเภทเรื่องสั้นและบทกวี “รางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย” ขึ้นเป็นปีที่ 13 โดยเปิดรับผลงานเข้าประกวดตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย. - 30 มิ.ย. 2557 ตามประกาศคณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ปี 2557 ที่ลงวันที่ 25 เม.ย.นั้น เพื่อความเหมาะสมต่อสภาพการทางการเมืองในปัจจุบัน สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยคณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ปี 2557 จึงขอยกเลิกการประกวดดังกล่าวและขออภัยที่เสียสละเวลาส่งผลงานวรรณกรรมการเมืองเข้าประกวดในครั้งนี้

สำหรับรางวัลพานแว่นฟ้า เป็นรางวัลการประกวดผลงานเขียน วรรณกรรมการเมือง จัดโดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และรัฐสภาไทย เพื่อสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงออกทางการเมืองและสืบสานวรรณกรรมการเมืองให้มีส่วนปลุกจิตสำนึกประชาธิปไตย จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2545 ในวาระครบรอบ 70 ปี ของรัฐสภา โดยได้จัดประกวดวรรณกรรมเรื่องสั้นการเมืองขึ้นเป็นครั้งแรก และในปี 2546 ได้เพิ่มประเภทบทกวีการเมืองเข้าประกวดด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา การตัดสินรางวัลพานแว่นฟ้าเคยมีปัญหามาบ้าง อาทิ การตัดสินรางวัลพานแว่นฟ้า ครั้งที่ 4 ในปี 2548 นางลลิตา ฤกษ์สำราญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยรักไทย ในฐานะประธานจัดประกวด มีความเห็นส่วนตัวว่าวรรณกรรมที่ได้รับการตัดสินให้รับรางวัล ทั้งประเภทเรื่องสั้นและบทกวี มีเนื้อหาของตัวละครในเรื่อง ตีแผ่พฤติกรรมคอร์รัปชันของรัฐมนตรี (เรื่องสมมติ) และพลิกมติให้เรื่องสั้น 2 เรื่องที่ควรจะได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศให้ตกไป และไม่ได้รางวัลใดๆ โดยให้เหตุผลเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น ทำให้การต่อต้านจากคณะกรรมการประกวด รวมทั้งเสียงต่อต้านจากบุคคลในวงการวรรณกรรม

จากนั้นในปี 2549 นายศิริวร แก้วกาญจน์ นักเขียนส่งเรื่องสั้นและบทกวี แต่ถูกตัดสิทธิผลงานด้วยเหตุผลทางการเมือง ปีต่อมาเขาส่งบทกวีสองบทเข้าประกวดรางวัลพานแว่นฟ้าอีกครั้ง โดยใช้นามปากกาที่ต่างกัน ปรากฏว่าบทกวีทั้งสองบทได้รับรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศ โดยคณะกรรมการไม่รู้ว่าบทกวีสองชิ้นนี้เป็นผลงานของศิริวร เพราะเขาใช้นามปากกาที่ต่างกันในการส่งเข้าประกวดซึ่งผิดกติกา เขาจึงไม่แสดงตัวในวันรับรางวัล ต่อมาในปี 2552 นายวัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพา และแนวร่วมเครือข่ายราษฎรนักเขียนศิลปินประชาธิปไตย หนึ่งในภาคีกลุ่มคนเสื้อแดง ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการตัดสินรางวัลพานแว่นฟ้า เพราะเห็นว่ากรรมการส่วนใหญ่ล้วนแต่สนับสนุนการรัฐประหาร

ในปี 2556 เป็นปีที่การตัดสินรางวัลพานแว่นฟ้า ครั้งที่ 12 อื้อฉาวมากที่สุด เพราะกรรมการ 14 คน ที่นำโดยนายเจน สงสมพันธุ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ประกาศถอนตัวจากการเป็นกรรมการตัดสิน เนื่องมาจากมีกรรมการชุดใหม่จากสาย นปช.คนเสื้อแดง ที่นำโดยนายรวี สิริอิสสระนันท์ หรือวาด รวี เข้าไปนั่งเป็นกรรมการ รวมทั้งนักเขียนกลุ่มคนเสื้อแดงอีกหลายคน อาทิ นายกมล ดวงผาสุข หรือไม้หนึ่ง ก. กุนที (ถูกยิงเสียชีวิตแล้ว) นายทองธัช เทพารักษ์ และนายวรพจน์ พันธุ์พงศ์ พร้อมเสนอแนวทางการปรับโครงสร้างและเงื่อนไขในการประกวดเรื่องสั้นและบทกวีหลายประการ โดยเฉพาะแนวคิดนายรวี ที่เสนอให้มีการปรับเพิ่มเงินรางวัลสูงถึง 1 ล้านบาท ทำให้มีผู้ไม่เห็นด้วยจำนวนมาก และรางวัลพานแว่นฟ้าในครั้งนั้นถูกตั้งฉายาว่าเป็น “รางวัลพานแว่นแดง”

หนึ่งในนั้นคือ นายวิมล ไทรนิ่มนวล เจ้าของรางวัลซีไรต์ ปี 2543 มองว่านักเขียนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งที่กำลังกดดันให้รางวัลพานแว่นฟ้าเพิ่มเงินรางวัลเป็น 1 ล้านบาท เพื่อแจกนักเขียนเสื้อแดงด้วยกัน เพราะกรรมการรางวัลนี้ก็เป็นคนเสื้อแดงด้วยกันทั้งนั้น แม้นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ติงคนกลุ่มดังกล่าวว่าอย่าคิดเรื่องเงินให้มากนัก ก็โดนถล่มตามวิถีประชาธิปไตยของพวกเสื้อแดงทันที และยังตั้งข้อสงสัยอีกว่าวรรณกรรมพานแว่นฟ้าจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือไม่ ทำให้นายวัฒน์ตอบโต้ว่าแค่แสนบาทก็หืดจับ กว่าจะหามาได้เดิมรางวัลห้าหมื่นบาท เราเห็นว่ากระจอกเกินไปสำหรับรางวัลระดับอำนาจนิติบัญญัติ ยุคนี้เงินแสนบาทมันนิดเดียว จะมีปัญหาอะไรกันนักหนา

ภายหลังคำตัดสินของคณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย ตัดสินให้บทกวีเรื่อง “เบี้ย” ซึ่งเขียนโดยอรุณรุ่ง สัตย์สวี ได้รับฉันทานุมัติจากคณะกรรมการตัดสินรางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย ให้ครองตำแหน่งชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล 1 แสนบาท ทั้งที่ตามกติการะบุว่าบทกวีต้องมีขนาดความยาว 6-12 บท แต่บทกวีเรื่องเบี้ย มี 14 บท และอีกครึ่งบท ซึ่งผิดหลักเกณฑ์ แต่กรรมการได้ชี้แจงว่าบทกวีเรื่องเบี้ยเป็นบทกวีที่สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ เพราะคุณค่าของบทกวีย่อมไม่ถูกกดกักไว้ด้วยแบบแผนใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมของคณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้าว่าก่อการรัฐประหารตัวเอง ยึดอำนาจทางปัญญา คว่ำแบบแผน ฉันทลักษณ์กติกาการตัดสิน มอบรางวัลอัปยศให้กับบทกวีที่เขียนผิดกติกา

สำหรับบทกวีเรื่อง “เบี้ย” นั้นเป็นของ อรุณรุ่ง สัตย์สวี ได้รับโล่เกียรติยศ เข็ม เกียรติบัตร และเงินรางวัล 1 แสนบาท ซึ่งได้มีการมอบรางวัลโดยนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยที่ผ่านมาอรุณรุ่งมักจะเขียนบทกวีเผยแพร่ไปยังเว็บไซต์เครือข่ายกลุ่มคนเสื้อแดง เช่น ไทยอีนิวส์ ประชาไท ฯลฯ โดยเน้นเชิดชูวีรกรรมคนเสื้อแดง ต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ต่อต้านอำนาจทหาร รวมทั้งเหน็บแนมชนชั้นกลางว่า “ดัดจริต” อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น