xs
xsm
sm
md
lg

คุ้ยเงื่อนงำอีกด้าน ปมเลี่ยงภาษีบุหรี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เกียรติ สิทธีอมร(ภาพจากแฟ้ม)
จนบัดนี้ปมการเลี่ยงภาษีนำเข้าบุหรี่ที่เป็นข่าวฮือฮาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีความคืบหน้า

หลังจากที่ “อัยการสูงสุด” มีความเห็นสั่งฟ้องบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด จำกัด กับพวกรวม 14 คน ไปเมื่อปลายปีก่อน ในข้อหาร่วมกันแสดงราคานำเข้าบุหรี่ยี่ห้อ “มาร์ลโบโร-แอลแอนด์เอ็ม” จากฟิลิปปินส์ในราคาต่ำกว่าความจริง ส่งผลทำให้รัฐเสียหายอย่างมหาศาลกว่า 68,000 ล้านบาท

ความน่าสนใจของเรื่องนี้ก็อยู่ที่ตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนหลายหมื่นล้านบาท อีกทั้งยังมี “เงื่อนงำ” ที่ชี้ให้เห็นว่า “ฝ่ายการเมือง” ยืมมือข้าราชการประจำหยิบใช้เป็นกลเกมเจาะยางกันมาโดยตลอด

โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างปี 2546-2552 มีการเปิดเผยว่า บ.ฟิลลิปมอร์ริสฯ ได้สำแดงการนำเข้าสินค้าบุหรี่จากประเทศฟิลิปปินส์เป็นความเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร ทำให้ค่าภาษีอากรต่างๆ ที่สมควรเป็นรายได้ของรัฐหายไปถึง 68,881,394,278 บาท

เมื่อเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ “ดีเอสไอ” ก็โดดเข้ามารับเป็นคดีพิเศษและสรุปสำนวนสั่งฟ้อง บ.ฟิลลิปมอร์ริสฯ และพวก เมื่อเดือน ก.ย. 52 จนเมื่อเดือน มี.ค. 54 อัยการฝ่ายคดีพิเศษได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า ไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าราคาบุหรี่ทั้งสองชนิดที่นำเข้าจากประเทศฟิลิปปินส์ราคาที่แท้จริงเท่าใด รวมทั้งพยานหลักฐานที่ดีเอสไอส่งสำนวนสั่งฟ้องยังไม่เพียงพอ ก่อนส่งเรื่องกลับให้ดีเอสไอ

เรื่องราวที่ทำท่าจะถูกปิดตายในลิ้นชักของดีเอสไอก็ถูกหยิบขึ้นปัดฝุ่นอีกครั้ง ภายหลังจากที่พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง 3 ก.ค. 54 โดยเมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลได้ไม่นาน ก็มี “ใบสั่ง” ถึงดีเอสไอให้เร่งทำความเห็นแย้งเพื่อชงให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาสั่งฟ้องคดีนี้เองแต่ผู้เดียว มีเป้าหมายนอกจากจะมีผู้เรียกรับผลประโยชน์แล้วก็ยังเป็นการ “เจาะยาง” พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นรัฐบาลในสมัยก่อนหน้าอีกด้วย

คนที่เด้งรับลูกครั้งนั้นไม่ใช่ใครเป็น “ธาริต เพ็งดิษฐ์” อดีตอธิบดีดีเอสไอ ที่ปุ๊บปั๊บเปลี่ยนสีทำงานสนองนายใหม่อย่างทันควัน กุลีกุจอแก้สำนวนราวกับบรรจงเปิดลูกเข้าเท้า “จุลสิงห์ วสันตสิงห์” อัยการสูงสุดในตอนนั้น

แต่จนแล้วจนรอด “จุลสิงห์” อัยการสูงสุดในตอนนั้นก็นั่งทับเรื่องไว้ถึงเกือบ 2 ปีเต็ม ก่อนที่จะอาศัยจังหวะชุลมุนในช่วงที่ตัวเองกำลังจะเกษียณอายุราชการ ลงนามความเห็นชี้ขาดสั่งฟ้องผู้ต้องหาในคดีดังกล่าว ก่อนเปิดแน่บออกไปตามวาระเมื่อช่วงปลายเดือน ก.ย. 56

ASTV ผู้จัดการ” ได้เคยถ่ายทอดกรณีนี้ผ่านคอลัมน์ “ข่าวปนคน คนปนข่าว” มาแล้วครั้งหนึ่ง ตามท้องเรื่อง บทพิสูจน์เลี่ยงภาษีนำเข้าบุหรี่ “นายทุน-นักการเมือง” เลวพอกัน! เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 56 โดยเมื่อเข้าไปศึกษาลงลึกถึงรายละเอียดเหตุการณ์อย่างถ่องแท้แล้วพบว่า บางช่วงบางตอนคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง

โดยเฉพาะในส่วนที่กล่าวถึงบทบาทของ “เกียรติ สิทธีอมร” อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย ซึ่งอาจจะทำให้สังคมเข้าใจว่า “เกียรติ” ทำตัวเป็นทนายแก้ต่างวิ่งเต้นคดีให้กับบริษัทต่างด้าว จน “อัยการสูงสุด” ในสมัยนั้นมีคำสั่งไม่ฟ้อง

จากข้อมูลที่ได้รับชี้ให้เห็นว่า ตอนนั้น “เกียรติ” เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในฐานะประธานผู้แทนการค้าไทย ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลขณะนั้นให้เข้าไปติดตามกรณีนี้ เหตุเพราะเรื่องราวเลยเถิดมีการฟ้องร้องไปถึงองค์การการค้าโลก (WTO) และมีคำพิพากษาชั้นต้นให้ประเทศไทยมีความผิดถึง 14 กระทง เป็นเหตุให้ “เกียรติ” ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมา เพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะคำพิพากษาของ WTO หากถึงที่สุดก็ต้องถือว่าร้ายแรงต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเปิดช่องให้สามารถเรียกค่าเสียหายจากไทยได้อีกเป็นจำนวนมหาศาล

และเพียงเอกสารเชิญประชุมหน่วยงานต่างๆ ในครั้งนั้น ทำให้ “เกียรติ” ถูกฝ่ายตรงข้ามหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นโจมตีว่าเข้าไปแทรกแซงจนอัยการต้องสั่งไม่ฟ้อง บ.ฟิลลิปส์มอริสฯ โดยไม่พูดถึงเอกสารลับที่ไม่ลับจากทั้งกรมศุลกากรและกรมสรรพสามิตที่มีอำนาจเต็มตามกฎหมาย ที่แจ้ง DSI ว่าตรวจเอกสารของบริษัทฯ แล้วไม่พบว่ามีความผิด

ท้ายที่สุดจึงได้มีการอุทธรณ์ในชั้น WTO ส่งผลให้มีการกลับคำพิพากษาความผิดจาก 14 เหลือเพียง 4 กระทง อีกทั้งจนวันนี้ก็ยังไม่มีผู้ใดเรียกร้องค่าเสียหายจากฝ่ายไทยเลย

แม้จะไม่ได้พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ จากผิดเป็นถูกทั้งหมด แต่การทำให้ฝ่ายไทยที่แพ้อย่างหมดรูปในชั้น WTO ตีตื้นกลับมาแพ้น้อยลง ก็ต้องถือว่า “เกียรติ” มีบทบาทสำคัญในการเป็น “ทนายแก้ต่าง” ให้ประเทศไทยคนหนึ่ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าจำนวนเงินมหาศาลหลายหมื่นล้านที่มีข้อมูลว่า บ.ฟิลลิปส์มอ ริสฯหลบเลี่ยงนั้น หากมีการตัดสินชี้ขาดในชั้นศาลแล้วมีความผิด แทบนึกไม่ออกว่าตัวเลขเงินต้น 68,000 ล้านบาทบวกดอกเบี้ยแล้วจะบานตะไทไปขนาดไหน อย่างน้อยๆต้องแตะหลักแสนล้านเป็นแน่

สำหรับตัวเลข 68,000 ล้านบาทนี้น่าสนใจ เพราะหากไม่รู้ที่มาที่ไปก็น่าตกใจอยู่ไม่น้อย เจาะลึกวิธีคิด วิธีคำนวณแล้วปรากฏว่า มีการนำตัวเลขส่วนต่างต้นทุนนำเข้าช่องทางปกติกับช่องทางปลอดภาษีมาคำนวณแบบทื่อๆ ตรงๆ

ทั้งที่มีหนังสือตอบเป็นทางการจากองค์การศุลกากรโลก (WCO) ว่า การคำนวณโดยไม่ปรับฐานต้นทุนอีกหลายรายการนั้นไม่สามารถทำได้ และวิธีคิดกันแบบนี้ เป็นเหตุให้ประเทศไทยโดนฟ้องที่WTO นั้นเอง

ส่งผลให้คำวินิจฉัยอันเป็นที่สุดของ WTO อาจทำให้ศาลไทยเอาผิดกับ บ.ฟิลลิปมอร์ริสฯ ได้ยากตามสำนวนที่ DSI ชงมาให้ทางอัยการ

เพราะวิธีคิดของ DSI ขัดต่อกับความเห็นของกรมศุลกากร กรมสรรพสามิต และกติกาสากลที่ประเทศไทยยอมรับและต้องปฏิบัติตาม ทำให้การสั่งฟ้องของอัยการ ก็อาจกลายเป็น “บูมเมอแรง”ย้อนศรมาเล่นงานฝ่ายรัฐและกระบวนการยุติธรรมเสียเอง และหากเกิดความเสียหายขึ้นมา ถึงวันนั้นคงต้องถามหาคนรับผิดชอบกันอีกยกใหญ่

อย่างไรก็แล้วแต่ ตัวเลขมโหฬารที่ว่านำมาซึ่ง “เงื่อนงำ” ที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยเฉพาะคำถามที่ต้องย้อนกลับไปถึง “จุลสิงห์” ว่ามีอะไรดลใจให้เซ็นคำสั่งฟ้องทิ้งทวนเก้าอี้อย่างมีเลศนัย

ทั้งที่เมื่อเดือน มี.ค. 54 คณะกรรมการอัยการคดีพิเศษ ซึ่งมี “เด็กในคาถา” แต่งตั้งกับมือมีความความเห็นสั่งไม่ฟ้อง และ “จุลสิงห์” เองก็ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด เพราะรู้ดีว่า เรื่องนี้แม้เป็นของร้อน แต่อาจเป็นเค้กก้อนใหญ่สำหรับบางคน

จนมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า หลังอัยการสั่งฟ้องคดีครั้งล่าสุดแล้ว ก็มีเสียงโทรศัพท์กริ๊งกร๊างไปถึงปลายสายก็เป็นคนของบริษัทฯ กันจ้าละหวั่นเสนอตัวเป็น “ล็อบบี้ยิสต์” วิ่งเต้นเป่าคดีแลกส่วยเข้าขบวนฉ้อฉลปล้นชาติแบบไม่อายฟ้าดิน

และที่คดียังไม่คืบ อ้างสารพัดสารเพว่าสำนวนหลักฐานมีมาก ทำคำฟ้องไม่เสร็จ ก็ไม่ใช่อะไร แค่ลูกไม้เตะถ่วงรอเวลาไปเรื่อย ลุ้นว่าฝ่ายฝรั่งอาจผวาว่าต้องเสียภาษีย้อนหลังหลักแสนล้าน หรือไม่อยากเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการสู้คดี จนต้องยอมเจรจาต้าอวย โยนเศษเงินให้บ้าง

นาทีนี้ยังไม่รู้บทสรุปของท้องเรื่อง แต่ก็หวังว่ากาลเวลาและความยุติธรรมจะเป็นเครื่องพิสูจน์

งานนี้ใครพระเอก ใครผู้ร้ายพอมองออกแล้ว แต่ต้องติดตาม...
จุลสิงห์ วสันตสิงห์ (แฟ้มภาพ)
กำลังโหลดความคิดเห็น