หัวหน้า คสช.ประชุม บก.ทบ. บิ๊กทัพบกเข้าพร้อมเพรียง ชาวบ้านแห่ยื่นหนังสือ นอภ.แม่เมาะบี้เร่งออกโฉนด 600 แปลง, ชาวมวกเหล็ก ค้านทำเหมืองแร่บนพื้นที่ ส.ป.ก.หวั่นกระทบฟาร์มโคนม, รักษาการหัวหน้าพรรคพลังอุดร แนะใช้งบให้คุ้มค่า, ชาวสามร้อยยอด ร้องจัดการนายทุนสร้างรีสอร์ตบนชายหาด, ทนายแดงโผล่โวยให้เปลี่ยนศาลยุติธรรมตัดสินคดีแทนศาลทหาร
วันที่ 26 มิ.ย. ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถ.ราชดำเนิน เมื่อเวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประชุมติดตามสถานการณ์ประจำวันของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) ตามปกติ ซึ่งไม่ได้มีการประชุม คสช.แต่อย่างใด โดยมีนายทหารระดับสูงของกองทัพบกเข้าร่วม เช่น พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วย ผบ.ทบ. และ พล.อักษรา เกิดผล เสนาธิการทหารบก
ขณะที่บรรยากาศด้านหน้า บก.ทบ.มีประชาชนและตัวแทนกลุ่มต่างๆ จำนวนมากเดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อหัวหน้า คสช.อย่างต่อเนื่อง อาทิ นายนรินทร์ วรรณมหินทร์ นายอำเภอแม่เมาะ จ.ลำปาง มายื่นหนังสือต่อหัวหน้า คสช. เพื่อขอให้พิจารณาเร่งรัดออกโฉนดที่ดินให้ชาวบ้านจำนวน 600 กว่าแปลง หลังจากที่ชาวบ้านไม่มีโฉนดที่ดินมาว่า 25 ปี โดยนายนรินทร์กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินเรื่องตามขั้นตอน และกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการอนุมัติ แต่มีการยุบสภาก่อนทำให้เรื่องชะงักจึงขอให้ คสช.เร่งดำเนินการแทน
นอกจากนี้ยังมีชาวบ้าน ต.ลำพญากลาง, ต.ลำสมพุง และ ต.ทรัพย์สนุ่น อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี กว่า 40 คนเดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำ หลังบริษัทเอกชนยื่นเรื่องขอสำรวจพื้นที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อขอสัมปทานทำเหมืองแร่ โดยในหนังสือร้องเรียนระบุว่าหากมีการทำเหมืองแร่เกิดขึ้นจะทำให้ชาวบ้านกว่า 1 หมื่นครัวเรือนที่ประกอบอาชีพเลี้ยงโคนมและทำการเกษตรได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้การสำรวจพื้นที่ทำเหมืองแร่ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล มากกว่า 60,000 ไร่
ต่อมาเวลา 09.40 น. นายเพียร ชัยทิพย์ เลขาธิการพรรคพลังอุดร ในฐานะรักษาการหัวพรรคพลังอุดร ยื่นหนังสือถึงหัวหน้า คสช. เรื่องเสนอแนวทางการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำที่จะต้องเกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด โดยนายเพียรกล่าวว่า พรรคพลังงานอุดรเป็นพรรคการเมืองใหม่ มีนักการเมืองใหม่และมีแนวทางใหม่ ไม่มีสีและฝ่ายจึงขอเสนอแนวทางการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำให้ คสช.พิจารณา รวมทั้งต้องการมาให้กำลังใจ คสช.
จากนั้นได้มีตัวแทนของชาวบ้าน ม.4 ต.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 20 คน นำโดยนางประณอ พุ่มศิริ เดินทางมายื่นหนังสือขอให้ คสช.แก้ปัญหานายทุนบุกรุกสร้างบ้านพักและรีสอร์ทบนชายหาดสาธารณะ ที่มีความยาว 7 กิโลเมตร โดยนางประณอกล่าวว่า ทาง อบต.ออกใบอนุญาตโดยไม่ชอบ ชาวบ้านต้องการให้ชาวหาดกลับคืนเป็นพื้นที่สาธารณะ เพื่อไม่ให้มีน้ำเสียปล่อยลงสู่ทะเล ส่งผลกระทบต่อการทำประมง
เวลา 10.00 น. กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) นำโดยนายปกาสิต ไตรยสุนันท์ หัวหน้ากลุ่มและนายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการกลุ่มฯ เดินทางมายื่นหนังสือเสนอแนวทางแห่งความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยนายวิญญัติกล่าวว่า สืบเนื่องจากประกาศฉบับที่ 63/2557 เรื่องนโยบายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของรัฐ เราเห็นว่า คสช.ต้องสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจต่อประชาชน โดยผู้ที่มีรายชื่อถูกดำเนินคดีเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากกฎอัยการศึกมีขอบเขตจำกัด ทำให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของ คสช. จึงขอเสนอดังนี้ 1. ขอให้ คสช.พิจารณาโอนคดีทั้งหมดไปพิจารณาที่ศาลยุติธรรมซึ่งเป็นศาลพลเรือน ที่ไม่ใช่ศาลทหาร เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกา ให้นำไปสู่การปรองดองที่ยั่งยืน 2. ในการปฏิบัติข่าวสาร หรือไอโอ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหลักความยุติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนส่งผลกระทบต่อบุคคลต่างๆ จึงอยากเสนอให้ คสช.นำเสนอข่าวหรือปฏิบัติการด้านการข่าวโดยยึดหลักความเป็นจริงและเปิดเผย ถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาลจึงจะได้การยอมรับจากประชาชน
เมื่อถามว่า เกรงหรือไม่ว่าจะถูกมองว่าไม่มีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของศาลทหารได้ นายวิญญัติกล่าวว่า ไม่ได้ไม่เชื่อมั่นศาลทหาร เพราะในเรื่องกระบวนการเราเชื่อมั่น แต่การที่มีศาลเดียวโอกาสที่จะพิจารณาคดีอย่างถี่ถ้วนหรือไม่ หรือการนำเสนอพยานหลักฐานควรมีการตรวจสอบถ่วงดุล หากมีเพียงศาลเดียว ไม่มีการอุทธรณ์และฎีกาจะทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยได้