xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” อยากสร้างชาติ ต้องไม่ตัดสิทธิประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานการเมือง

ายใต้การบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มาสามสัปดาห์ หลังเข้าควบคุมอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 ยังเรียกได้ว่าอยู่ในกระแส “ลอยลม” ได้รับความนิยมและการสนับสนุนจากประชาชน

จนเกิดกลุ่ม “ปกป้องทหาร” ชนิดที่วิจารณ์ไม่ได้ ตั้งคำถามก็ไม่ถูก ตรวจสอบก็ว่าเสือก กันเลยทีเดียว ทำให้เริ่มมีความกังวลว่า “ความลอยลม” ของ คสช.อาจแปรสภาพไปเป็น “เหลิงลม” ได้ไม่ยากนัก ซึ่งไม่เพียงจะเป็นอันตรายต่อประเทศเท่านั้น
แต่จะไม่เป็นผลดีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช.อีกด้วย

อย่าลืมว่าบุคคลที่เข้ามาในสถานการณ์ที่ถูกเยินยอให้เป็นวีรบุรุษนั้น มีผลลัพธ์จาก “ฮีโร่” ไปเป็น “ซีโร่” มานักต่อนักแล้ว


พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศขอเวลาสร้างชาติ คืนความสุข สร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม พร้อมให้ตรวจสอบ ยึดความโปร่งใส ไม่มีทุจริต ฟังดูดีมีความหวัง แต่เมื่อพิจารณาการกระทำและคำพูดล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์เองกลับพบว่าสวนทางกับการให้คำมั่นต่อประชาชนอย่างสิ้นเชิง โดยพิจารณาเป็นรายกรณีจากตัวอย่างต่อไปนี้

“ให้ประชาชนมีส่วนร่วม” กรณีนี้ พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพิ่งแถลงอ้างบรรยากาศปรองดองมาเป็นเหตุผลในการตรวจสอบหมายเลขประจำเครื่องคอมพิวเตอร์ (ไอพีแอดเดรส) ของผู้สนับสนุน กปปส.ที่ยังมีการแสดงความเห็นทางการเมืองโจมตีฝ่ายตรงข้าม พร้อมกับยกตัวอย่างคนที่ถูกกาหัว เช่น ผู้ใช้ชื่อ วินเซนต์ และ เสธ.น้ำเงิน ซึ่งทั้งสองรายชื่อนี้ล้วนเป็นผู้ที่แสดงออกอย่างชัดแจ้งในโลกออนไลน์ว่าเป็นปฏิปักษ์กับระบอบทักษิณ สนับสนุนให้ คสช.กวาดขยะออกจากประเทศ แต่กลับไม่เป็นที่ปลื้มของ คสช. เนื่องจากมีการใช้คำพูดพาดพิง “ถึงขั้นพูดว่า คสช.กำลังต้องการทำลายระบอบทักษิณ”

จึงต้องถาม พ.อ.วินธัย ว่าตกลง คสช.ไม่คิดว่าระบอบทักษิณคือปัญหาของชาติที่ต้องขจัดทิ้งอย่างนั้นหรือ

ที่สำคัญคือ ในคำแถลงของ พ.อ.วินธัย ยังระบุด้วยว่า “อยากขอให้ท่านทั้งหลายอย่าเพิ่งตำหนิสิ่งที่ คสช.ทำไม่ดี 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในช่วงเฟสแรกที่ คสช.เร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชน ถ้าจะวิพากษ์วิจารณ์ขอให้ไปว่ากันใน เฟส 2 คือ เมื่อมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเมื่อมีสภาปฏิรูปแล้ว คสช.ไม่ได้ต้องการอยู่ในอำนาจไปนานๆ อย่างที่กล่าวหาความจริงอยากไปให้เร็วที่สุด เพียงแต่ว่าตอนนี้ เมื่อ คสช.รับอาสาเข้ามาแก้ไขปัญหา การไปให้เร็วอย่างเดียวไม่ใช่ปัจจัย เพราะถ้าจะไปเร็วนั้น หมายความว่าต้องสะสางสิ่งที่เป็นข้อกังขาของสังคมให้หมดสิ้นไปด้วย ไม่อย่างนั้นก็จะถูกด่าว่า จะทำไปทำไมให้เสียของ”

ห้ามคนวิจารณ์ แต่บอกว่าจะให้ประชาชนมีส่วนร่วม เป็นตรรกกะที่ขัดแย้งในตัวเองอย่างสิ้นเชิง จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมจึงเริ่มมีคำถามพุ่งตรงไปถึง คสช.มากขึ้นเรื่อยๆ

“พร้อมให้ตรวจสอบ” นี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่กำลังทำให้เกิดข้อสงสัยในสังคม เพราะปาก พล.อ.ประยุทธ์บอกพร้อมให้ตรวจสอบ แต่ปากเดียวกันนั้นกลับออกมาขู่ผ่านปาก พ.อ.วินธัย ว่า “หัวหน้า คสช.เข้าใจดีว่าคนไทยหลายคนใจร้อน และรักความยุติธรรม....ขอให้ระมัดระวังการกล่าวหาคสช.ในลักษณะที่ไม่ไว้วางใจ ไม่เชื่อมั่น...”

คำพูดดังกล่าวมีความหมายที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า ห้ามประชาชนใช้สมองคิด ต้องเชื่อ คสช.เท่านั้น ห้ามวิจารณ์เพราะต้องไว้วางใจให้ คสช.ทำงาน! เช่นนี้แล้วจะเรียกว่า “พร้อมให้ตรวจสอบ” ได้อย่างไร

“โปร่งใส ไม่ทุจริต” สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์อาจจะลืมไป คือ ความโปร่งใส ไม่ทุจริต ไม่ได้เกิดจากคำพูด แต่ต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำที่เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบได้ แต่พฤติกรรมของ คสช.ชัดเจนว่าไม่ต้องการให้ใครหน้าไหนมาตรวจสอบตัวเองทั้งสิ้น เหมือนกับปักป้ายว่า “กำลังสร้างชาติ ห้ามยุ่ง”

คสช.ยังออกคำสั่งที่ 45/2557 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน และการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐเป็นไปด้วยความรอบคอบ มีความโปร่งใส และอยู่ในระเบียบวินัยการเงินและการคลัง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ อธิบายเพิ่มเติมในภายหลังว่าจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณปี 57 ดูเผินๆ ก็น่าจะดี แต่ถ้าพิจารณาตามกลไกที่มีอยู่ก่อนที่ คสช.จะทำการยึดอำนาจ หน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้ คือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน แม้ว่า คสช.จะเข้าควบคุมการบริหารประเทศแล้ว ก็ยังประกาศให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน มีผลบังคับใช้ต่อไป และยังมีประกาศตามมาให้ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินทำหน้าที่เป็นทั้งประธาน และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินด้วย

แต่กลับมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ หรือ คตร. ออกมา โดยให้ปลัดบัญชีทหารบกเป็นประธาน และให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปเป็นรองประธาน ถือว่าเป็นการยึดอำนาจของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปอยู่ในมือของ คสช.และยังขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ระบุว่า ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้องมีความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ โดยระบุสายบังคับบัญชาชัดเจนว่าขึ้นตรงกับ ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อ คสช.ประกาศให้ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินด้วยอีกหนึ่งตำแหน่ง ย่อมหมายถึงว่า ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน คือผู้มีอำนาจเต็มในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดินโดยอิสระ

การออกคำสั่งให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปอยู่ใต้บังคับบัญชาของปลัดบัญชีทหารบก จึงน่าจะหมิ่นเหม่เป็นสิ่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย และยังขัดต่อหลักการตรวจสอบที่มีการออกแบบให้องค์กรอิสระ คือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นผู้ทำหน้าที่นี้ได้อย่างเต็มที่โดยปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมีเจตนาอย่างไรก็ตาม การตั้ง คตร.ขึ้นมาสะท้อนถึงหลักคิดที่ต้องการรวบอำนาจทั้งหมดมาไว้กับตัว ซึ่งไม่ใช้คำตอบที่จะทำให้การบริหารเกิดความโปร่งใส และตรวจสอบได้ เนื่องจากกลไกที่ตั้งขึ้นล้วนอยู่ภายใต้อำนาจของ คสช.ทั้งสิ้น

ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ อยากสร้างชาติ ต้องไม่ตัดสิทธิประชาชนและให้โอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ถ้าอยากให้มีความโปร่งใส ต้องไม่ทำลายความเป็นอิสระของกลไกตรวจสอบ ถ้าอยากให้คนไว้วางใจ ต้องไม่ปิดปากคนวิจารณ์

ไม่เช่นนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะบริหารแบบใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่แตกต่างจากเผด็จการทหารที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น