เผยผลประชุม คสช. โยกย้าย “กิตติพงษ์” ปลัดยุติธรรม เป็นที่ปรึกษานายกฯ ไปขับเคลื่อนหน่วยงาน คอป. ตามที่ร้องขอ นำร่องตัดสิทธิประโยชน์บินฟรีบอร์ดการบินไทย ก่อนทบทวนรัฐวิสาหกิจอื่น เร่งรัดเบิกจ่ายงบ 57 และขับเคลื่อนงบปี 58 เสร็จก่อน 15 ก.ย. ยึดเศรษฐกิจพอเพียง “ประยุทธ์” ย้ำดูแลค่าครองชีพ-ช่วยเหลือเกษตรกร-พัฒนาแหล่งน้ำ
วันนี้ (10 มิ.ย.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 15.40 น. พ.อ .วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วย นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และ ร.อ.นพ. ยงยุทธ มัยลาภ ทีมโฆษก คสช. ร่วมกันแถลงผลการประชุม คสช.ครั้งที่ 1/2557 ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นประธาน โดยเป็นการประชุมหัวหน้าส่วนราชการเปรียบเสมือนการประชุม ครม. เพื่อขับเคลื่อนบริหารราชการแผ่นดินตามกลไกปกติเป็นครั้งแรก
โดยนายอำพน เปิดเผยว่า หัวหน้า คสช. ได้เน้นย้ำนโยบายการปฏิบัติว่า ให้พยายามยึดระเบียบวิธีการต่างๆ ว่าด้วยการเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เป็นหลัก ซึ่งหมายความว่าเป็นการปรับให้เข้าสู่การใช้กลไกของราชการตามนโยบายของหัวหน้า คสช. โดยที่ประชุมวันนี้ประกอบด้วยคณะกรรมการ คสช. 14 คน นอกจากนี้ยังมีตนทำหน้าที่เป็นเลขาฯ ครม. ร่วมกับ พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร เลขาฯ คสช. โดยมี ผอ.สำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฎษฎีกา เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งถือว่าครบองค์ประกอบในการให้ความเห็น
ทั้งนี้ โดยหลักแล้วเรื่องที่นำเข้า คสช. ในการบริหารราชการแผ่นดิน จะเน้นเรื่องการขออนุมัติงบประมาณ งบกลาง การปรับแผนงบประมาณสำคัญ จะต้องผ่านความเห็นจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และขอความเห็นจากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เพื่อให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ ส่วนที่สองโครงการหรือแผนงานในส่วนที่หัวหน้า คสช. ได้แบ่งแยกไว้แล้ว ทั้งฝ่ายเศรษฐกิจ ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายสังคมวิทยา ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ร่างระเบียบกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก่อนจะสั่งการส่วนราชการ จะต้องผ่านมายัง คสช. ด้วย รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในระดับสูงให้นำเสนอพิจารณาร่วมกันของ คสช.
สำหรับเรื่องในการพิจารณาและเรื่องเพื่อทราบวันนี้ จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1. เกี่ยวกับการขับเคลื่อนงบประมาณตามนโยบาย โดยสำนักงบประมาณได้เสนอการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 2. การขับเคลื่อนงบประมาณปี 2558 คสช. ได้ให้ความเห็นชอบปฏิทินการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งต้องให้แล้วเสร็จพร้อมเสนอสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูลว่าเป็นพระราชบัญญัติงบประมาณ ภายในวันที่ 15 ก.ย. และพร้อมใช้ในวันที่ 1 ต.ค. รวมทั้งได้เห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณปี 58 โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวมาจากการหารือ 4 หน่วยงานหลักราชการ ซึ่งยึดโยงมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 คือสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ จะเป็นหลักในการทำยุทธศาสตร์นี้
และกลุ่มที่ 3. จะแบ่งออกเป็น 2 เรื่อง คือ การให้ความเห็นชอบในการใส่ข้อสัญญาเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการ สืบเรื่องมาจากที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีแผนจัดหาเครื่องบินตั้งแต่ปี 2554 ขณะนี้มีกำหนดรับมอบในเดือน ก.ค. และ ส.ค. นี้ โดยการรับมอบดังกล่าวจะมีสัญญาในการกู้เงิน เพื่อจ่ายค่าเครื่องบิน ซึ่งในสัญญานั้นระบุไว้ว่าจะต้องใส่ข้อกำหนดเรื่องอนุญาโตตุลาการ ที่เป็นไปตามมติ ครม. กรณีที่รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐจะต้องใส่อนุสัญญาโตตุลาการ ต้องขอจาก ครม. เป็นครั้งๆ ไป ซึ่งวันนี้ต้องขอจาก คสช. โดยข้อเสนอของคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นชอบในการให้กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม ใส่ข้อกำหนดเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นข้อกำหนดว่าเป็นการเจรจานอกศาล หมายถึงกรณีที่เกิดการพิพาทกันให้เจรจาระหว่างคู่กรณีได้ ไม่จำเป็นต้องนำเรื่องเข้าสู่ศาล ซึ่งเป็นสัญญาตามมาตรฐานสากลโดยทั่วไป จึงได้ให้ความเห็นชอบ
นอกจากนี้ ที่ประชุม คสช. ยังเห็นชอบให้กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม ใส่ข้อกำหนดสัญญาอนุญาโตตุลาการในการจัดซื้อเครื่องบินของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และยังได้พูดถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาผลขาดทุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้วย ซึ่งเบื้องต้นได้ให้ทบทวนสิทธิประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจต่างๆ โดยให้ตัดสิทธิผลประโยชน์ที่ไม่ใช่ผลตอบแทนที่ควรได้รับ โดยเริ่มจากในส่วนของกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย ในส่วนของสิทธิการได้ตั๋วเครื่องบินฟรีที่ถูกจะยกเลิก ขณะที่มาตรการของหน่วยงานอื่นๆ นั้นได้มอบหมายให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นผู้พิจารณาก่อนนำเสนอที่ประชุมอีกครั้ง
นายอำพน กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้มีมติให้แต่งตั้งโยกย้าย นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ ตามที่ นายกิตติพงษ์ มีความประสงค์ขอโยกย้ายด้วยความสมัครใจ เพื่อไปขับเคลื่อนการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ กรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่ท่านเป็นกรรมการ และมีมติให้นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ปฏิบัติหน้าที่ปลัดกระทรวงยุติธรรมแทน
ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า นายกิตติพงษ์ ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรมครบ 4 ปี และได้รับพิจารณาให้ต่ออายุการดำรงตำแหน่งติดต่อกัน 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี และครบกำหนดไปแล้วเมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมต้องแต่งตั้งคนอื่นขึ้นมาแทน และตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีถือเป็นตำแหน่งนักบริหารระดับสูงเท่ากัน อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 6 พ.ค. ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน เคยมีมติโยกย้ายแล้ว แต่เรื่องอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอน
นายอำพน กล่าวด้วยว่า ส่วนข้อกังวลที่ว่า การใช้จ่ายงบประมาณปี 2557 ซึ่งเวลาผ่านมา 6เ ดือนแล้วจะใช้ได้ตามเป้าหมายหรือไม่นั้น ขอย้ำว่าวันนี้มีความชัดเจน 95 เปอร์เซ็นต์ของวงเงิน 2.52 ล้านบาท ของปีงบประมาณ 2557 จะต้องใช้จ่ายและเบิกจ่ายให้ได้ทันวันที่ 30 ก.ย. และหัวหน้า คสช. ได้กำชับว่าวันที่ 30 มิ.ย. ทุกหน่วยงานต้องรายงานเข้ามาว่าจะผลักดันอย่างไร และหากถึงในวันที่ 30 ก.ค. หากยังผูกพันไม่ได้จะขอปรับเปลี่ยน ก็ต้องปรับเปลี่ยนอยู่ในกรอบ โดยยึดความเดือดร้อนประชาชนเป็นหลัก การฟื้นฟูโครงสร้างผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ทั้งหมดจะต้องขับเคลื่อนให้ได้ โดยเม็ดเงินที่เข้ามาจะถูกกระตุ้นด้วยมาตรการนี้ และจะต้องรายงานให้ คสช. ทราบอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และหัวหน้า คสช. ยังกำชับให้หัวหน้า 4 ฝ่ายไปกำกับ ให้ทุกกระทรวงเบิกจ่ายให้ได้ตามมาตรการนี้
โดยในวันที่ 13 มิ.ย.นี้ หัวหน้า คสช.โดยหน่วยงานหลัก คือ สภาพัฒนาเศรษบกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง จะเรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อชี้แจงการเร่งรัดการเบิกงบประมาณปี 2557 และกรอบการจัดทำงบประมาณปี 2558 เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกัน นอกจากนี้ในทุกวันอังคารจะมีการประชุม คสช. เพื่อพิจารณาวาระต่างๆเช่นเดียวกับการประชุม ครม. ในกลไกปกติเป็นประจำทุกวัปดาห์ด้วย โดยมีขั้นตอนในการบรรจุวาระการประชุมดังเช่นในอดีตที่ผ่านทุกประการ
ขณะที่ พ.อ.วินธัย กล่าวว่าที่ประชุม คสช. ยังมีมติเปลี่ยนแปลงมติ ครม. กับผู้รับผิดชอบการประชุมระดับรัฐมนตรีแห่งเอเชียว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ที่จากเดิมกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัยเป็นเจ้าภาพ เป็นสำนักปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าภาพแทน โดยมีรัฐมนตรีกว่า 20 ประเทศตอบรับเข้าร่วมประชุม โดยหัวหน้า คสช. จะใช้โอกาสนี้ชี้แจงสถานการณ์ภายในประเทศขณะนี้ด้วย นอกจากนี้ หัวหน้า คสช. ยังย้ำให้หน่วยงานราชการ เร่งแก้ไขปัญหาเร่งด่วน 3 ประเด็น คือ ดูแลค่าครองชีพพื้นฐาน ช่วยเหลือเกษตรกรที่มีรายได้น้อย และการพัฒนาแหล่งน้ำที่ต้องปรับให้ใช้แหล่งน้ำเดิม แต่จะต้องเร่งขุดลอกคูคลอง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน รวมทั้งได้สั่งการให้หน่วยงานราชการต่างๆ ให้ข้อมูลประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างแท้จริง
พ.อ.วินธัย ยังได้กล่าวถึงกรณีที่มีบางบุคคลได้ให้ความเห็นต่อเรื่องคดีความต่างๆ ผ่านทางโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คนั้น ทาง คสช. อยากขอความร่วมมือว่า หากกระบวนการยังไม่ถึงที่สุด หรือยังไม่ชัดเจน ไม่ควรกล่าวอ้างชี้นำคาดการณ์กันไปมา เพราะจะทำให้สังคมเกิดความสับสน และไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมได้ โดยเฉพาะเมื่อคดีความมีคำตัดสินออกมา ก็ไม่ได้รับการยอมรับ ส่งผลให้ประเทศเสียหาย หรืออาจทำให้คนไทยแตกแยกได้ คสช. เคารพการทำหน้าที่ขององค์กรตามกระบวนการยุติธรรมเสมอ ไม่ต้องการก้าวก่าย หรือล่วงละเมิดแต่ประการใด
สำหรับกรณีที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก. ลายจุด แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ได้รับการควมคุมดูแลอยู่ในพื้นที่พิเศษ ยังไม่ใช่ในสถานะผู้ทำความผิด เพื่อทำความเข้าใจ และปรับทัศนคติ ซึ่งในเบื้องต้นเจ้าตัวเข้าใจและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ยืนยันเจ้าหน้าที่ให้การดูแลเป็นอย่างดี แม้ว่าที่ผ่านมา นายสมบัติ น่าจะมีพฤติกรรมเข้าข่ายความผิด ฐานยุยงปลุกปั่น ให้เกิดความไม่สงบ และฝ่าฝืนประกาศฯ ขอให้เพื่อนฝูงหรือญาติไม่ต้องวิตกกังวล ส่วนเรื่องทางคดีคงเป็นเรื่องหลังจากนี้ที่ทางตำรวจในฐานะเจ้าพนักงานสอบสวนจะเป็นผู้ดูแลต่อไป
ด้าน นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวถึงปฏิทินงบประมาณปี 2558 ว่า ปฏิทินงบประมาณรายจ่ายปี 2558 แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้ 1.ขั้นตอนวางแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 – 5 มิ.ย. เป็นการเสนอให้หัวหน้า คสช. เห็นชอบปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายปี 2558 จากนั้นวันที่ 30 พ.ค. ถึง 9 มิ.ย. ทางสำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกันพิจารณากรอบวงเงินและโครงสร้างงบประมาณ รวมทั้งเป็นระยะเวลาเดียวกันที่สำนักงบประมาณกับ สศช. ร่วมกันพิจารณาจัดทำเป้าหมายและยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายปี 2558 เพื่อเสนอต่อ คสช. ซึ่งตามกำหนดจะเสนอในวันที่ 12 มิ.ย. แต่เนื่องจากมีการพิจารณาแล้วเสร็จก่อนกำหนดทางสำนักงบประมาณและ สศช. จึงเสนอต่อ คสช. ในวันนี้ (10 มิ.ย.) เลย และ คสช. ได้เห็นชอบเป้าหมายและยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 แล้ว
2.ขั้นตอนจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 โดยระยะเวลาระหว่างวันที่ 13 ถึง 27 มิ.ย. ส่วนราชการจะต้องจัดทำรายละเอียดขอตั้งงบประมาณรายจ่ายเสนอต่อสำนักงบประมาณ ซึ่งก่อนจะเสนอต้องได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าฝ่ายที่กำกับดูแลแต่ละกระทรวง จากนั้นวันที่ 30 มิ.ย. ถึง 11 ก.ค. จะเป็นขั้นตอนที่สำนักงบประมาณจะพิจารณารายละเอียดของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 เพื่อนำเสนอให้ คสช. พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 15 ก.ค. หลังจากนั้นสำนักงบประมาณจะพิมพ์เอกสาร และร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ประกอบด้วยเอกสารงบประมาณรวมทั้งหมด 25 เล่ม เพื่อนำเสนอให้ คสช. พิจารณาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ในวันที่ 29 ก.ค. แล้วนำเสนอต่อฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป
และ 3. ขั้นตอนอนุมัติงบประมาณ ซึ่งเมื่อ คสช. ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 แล้ว จะเป็นหน้าที่ของเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะส่งร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวต่อฝ่ายนิติบัญญัติ โดยตามปฏิทินจะมีการประชุมในวาระ 1 ของฝ่ายนิติบัญญัติในวันที่ 6 ส.ค. เป็นขั้นรับหลักการ พร้อมกับมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ขึ้นมาพิจารณา ส่วนในวันที่ 7 ส.ค. ถึง 5 ก.ย. จะเป็นการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯ เมื่อพิจารณาเสร็จจะทำข้อเสนอต่อฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อเข้าสู่วาระ 2 และ 3 ในวันที่ 9 ก.ย. ซึ่งตามขั้นตอนปกติจะใช้เวลาประมาณ 2 วัน โดยหลังจากได้รับความเห็นชอบในวาระ 3 แล้ว ทางฝ่ายนิติบัญญัติจะส่งกลับมาที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยเพื่อบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป
ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้รายงานเพื่อให้ คสช. เห็นชอบในเรื่องกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี2558 สืบเนื่องจากวันที่ 30 พ.ค. ทางสำนักงบประมาณ สศช. กระทรวงการคลัง และ ธปท. ได้พิจารณาร่วมกันและมีมติเห็นชอบร่วมกันว่าจะกำหนดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ในวงเงิน 2.575 ล้านล้านบาท เพิ่มจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 จำนวน 5 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 2 โดยมีรายได้ในงบประมาณปี 2558 จำนวน 2.325 ล้านล้านบาท และมีการกำหนดงบประมาณขาดดุลจำนวน 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่อยู่บนพื้นฐานที่จะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 6.3
ขณะเดียวกัน คสช. เห็นชอบในหลักการยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 โดยมอบให้สำนักงบประมาณนำไปปรับปรุงข้อตามข้อสังเกตของที่ประชุม คสช. บางประการ ทั้งนี้ สำหรับยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 กำหนดไว้ 8 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1. ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเร่งรัดวางรากฐานที่ดีของประเทศ ซึ่งประกอบด้วยเรื่องที่จะต้องเร่งดำเนินการ อาทิ การเร่งรัดการช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน การฟื้นฟูความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจและลงทุน การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2. ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของรัฐ 3. ยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม 4. ยุทธศาสตร์การศึกษา สาธารณสุข คุณธรรม จริยธรรม และคุณภาพชีวิต 5. ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 6. ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม 7. ยุทธศาสตร์การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และ 8. ยุทธศาสตร์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
ผอ.สำนักงบประมาณ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สืบเนื่องจากการใช้งบประมาณในปี 2557 ในส่วนของรายจ่ายลงทุนทั้งประเทศมีการเบิกจ่ายได้เพียงร้อยละ 36 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายในการเบิกจ่ายตามมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดให้เบิกจ่ายร้อยละ 60 จึงมีความจำเป็นในการเสนอมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2557 จำนวน 5 แนวทาง ดังนี้ 1. ส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ เห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามแผนการใช้จ่ายงบประมาณปี 2558 และมีความพร้อมจะก่อหนี้ผูกพันภายในวันที่ 30 มิ.ย. จึงให้ส่วนราชการเหล่านั้นเร่งดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย. นี้ 2. กรณีหน่วยงานต่างๆ ยังมีความจำเป็นจะต้องดำเนินการและสามารถเริ่มดำเนินการก่อหนี้ผูกพันไม่ทันภายในวันที่ 30 มิ.ย. ให้ส่วนราชการเหล่านั้นนำเสนอต่อปลัดกระทรวงเพื่อนำเสนอต่อหัวหน้าฝ่ายที่กำกับดูแลกระทรวง ทบวง กรมเหล่านั้น หรือหัวหน้า คสช. สำหรับกรณีที่เป็นหน่วยขึ้นตรงกับหัวหน้า คสช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อให้ทันภายในเดือน ส.ค.
3. กรณีไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันได้ทันภายในวันที่ 30 มิ.ย. แล้วเป็นกรณีที่หมดความจำเป็นหรือไม่สามารถดำเนินตามแผนปฏิบัติงานได้ หรือเป็นภารกิจที่ซ้ำซ้อน หรือเป็นภารกิจที่มีงบประมาณเหลือจ่าย ให้ส่วนราชการเหล่านั้นพิจารณาปรับแผน โดยโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณเหล่านั้นไปดำเนินการในแผนงานที่มีความพร้อม สามารถเริ่มดำเนินการและก่อหนี้ผูกพันได้ภายในวันที่ 31 ส.ค. 4. กรณีที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่าย งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย ที่ได้ดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์ไปแล้ว และยังมีงบประมาณเหลือจ่าย ขอให้ทุกส่วนราชการนำงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อคืนสำนักงบประมาณเพื่อนำไปใช้จ่ายในเหตุผลความจำเป็นอื่นๆ ต่อไป และ 5. กรณีส่วนราชการที่มีเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีที่ยังไม่มีข้อผูกพันให้ส่วนราชการเหล่านั้นพิจารณาทบทวนเหตุผลความจำเป็น หากยังมีความจำเป็นอยู่ให้เร่งทำข้อผูกพันหรือเบิกจ่ายโดยเร็ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การระบุว่าในวันที่ 6 ส.ค. นี้จะสามารถนำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 เข้าสู่การพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติได้ในวาระแรกนั้น แสดงว่าในช่วงนั้นจะมีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้วใช่หรือไม่ นายอำพน กล่าวอธิบายว่า การวางกรอบวันที่ 6 ส.ค. ในการจัดทำ พ.ร.บ. งบประมาณปี 58 เสร็จก่อนส่งเข้ากระบวนการทางกฎหมายต่อไปนั้น เป็นไปตามปฏิทินการทำงบประมาณของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเมื่อร่าง พ.ร.บ. งบประมาณปี 58 แล้วเสร็จ ก็มีขั้นตอนในการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติตามกลไกปกติ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าในวันที่ 6 ส.ค. จะมี สนช. แล้วหรือไม่อย่างไร ถึงวันนั้นอาจจะเป็น สนช. หรือคณะกรรมาธิการใดที่มีอำนาจมาดำเนินการในส่วนนี้ก็เป็นได้ ส่วนจะมี สนช. เกิดขึ้นเมื่อใดนั้น จนเห็นว่าแนวทางการบริหารประเทศของหัวหน้า คสช. ที่ระบุไว้ใน 3 ระยะนั้นมีความชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว จึงไม่อยากให้มีการตีความไปเอง