xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” นั่งเก้าอี้นายกฯ เฉพาะกาลหลังเกษียณฯ ลุยปฏิรูป!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

ามแผนโรดแมปสามขั้นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ ที่น่าติดตามและจับตามองอย่างหนึ่งก็คือ “นายกรัฐมนตรีคนใหม่” ที่จะมีขึ้นภายใน 3 เดือนข้างหน้านี้ว่าจะเป็นใครมาจากไหน

อย่างไรก็ดี เริ่มมีการคาดหมายและเสียงเรียกร้องมากขึ้นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะรับตำแหน่งดังกล่าวเสียเองเพื่อสามารถผลักดันภารกิจเร่งด่วน และที่เป็น “งานยาก” ให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายภายในเวลาอันจำกัด

การคาดคะเนรวมทั้งเสียงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับตำแหน่งดังกล่าวเสียเอง มันก็มีเหตุมีผลน่าสนใจเหมือนกัน ประการแรกเป็นการสรุปบทเรียนจากการรัฐประหารยึดอำนาจในรุ่นก่อนๆ ที่เห็นได้ชัดเป็นตัวอย่างก็คือ การรัฐประหารของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่มีแต่งตั้ง ให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มาเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล “ขิงแก่” ที่ล้มเหลว และเพาะเชื้อชั่วร้ายให้ระบอบทักษิณแข็งแกร่งมาจนถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั่นแหละ

ที่ผ่านมาเป็นแค่การรัฐประหาร ยึดอำนาจเท่านั้น ไม่ใช่การปฏิรูปโครงสร้างสังคมไทย เพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง เป็นการ “เสียของ” ทำลายบ้านเมืองโดยเปล่าประโยชน์ นำไปสู่ควมมถดถอย และเป็นต้นตอความขัดแย้งวุ่นวายมาจนถึงบัดนี้

ก่อนหน้านี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้สัญญาแล้วว่า “จะไม่ทำให้ผิดหวัง” รวมทั้งยืนยันว่า “ทำตามคำสัญญา” คืนความสุขให้คนไทย แต่การจะทำให้ได้ตามที่พูดนั้นจะต้องทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ นั่นคือมีผลให้จับต้องได้ด้วย

การที่จะเกิดผลดังกล่าวนอกจากคนที่เป็นผู้นำจะต้องได้รับความศรัทธาเชื่อมั่นแล้วยังต้องมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ต้องส่งผ่านไปหลายขั้นตอนหลายทางจนเป้าหมายอาจคลาดเคลื่อน หรือทำไม่ได้

แน่นอนว่าสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เวลานี้ถือว่าเขาเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” มีอำนาจทุกอย่างรวมศูนย์ แต่สำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหากมอบหมายให้คนอื่น อาจจะไม่ตรงใจหรือไม่ได้ดั่งใจ ถึงตอนนั้นหากคิดจะเปลี่ยนแปลงเป็นคนใหม่ มันก็อาจรู้สึกอึดอัด

อีกทั้งเป้าหมายที่วางไว้ข้างหน้าล้วนเป็นเรื่องใหญ่ยักษ์ เป็นความหวังของคนทั้งชาติ จะล้มเหลวไม่ได้ เพราะถ้าล้มเหลวคราวนี้ก็ไม่รู้อีกกี่ชาติจะมีโอกาสทองแบบนี้เกิดขึ้นอีก

ขณะเดียวกันจะว่าไปแล้วนาทีนี้ถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีสถานะเป็นนายกรัฐมนตรีรวมอยู่แล้ว เพียงแต่มีชื่อเรียกอย่างอื่นเท่านั้น

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อม พิจารณาจากระยะเวลาที่เหลืออยู่นับจากนี้ไปจนถึงช่วงเวลา 3 เดือนข้างหน้ามันก็ประจวบเหมาะกันพอดีเหมือนกัน ว่าน่าจะเป็นการรองรับสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมือนกัน เพราะต้องไม่ลืมว่าในปลายเดือนกันยายน เขาต้องเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก แม้ว่าตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังคงอยู่ แต่ในช่วงเวลานี้กำลังมีการร่างธรรมนูญการปกครอง พิจารณาคัดเลือกสภานิติบัญญัติ สมาชิกสภาปฏิรูป ซึ่งต้องเสร็จไม่เกินสามเดือนข้างหน้า

ดังนั้นมันก็เป็นได้เหมือนกันว่า เขาได้เตรียมการรองรับสำหรับการนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในอีก 3 เดือนข้างหน้าก็เป็นได้ เพราะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องสากลที่ต้องมี จะปกครองในแบบคณะรักษาความสงบแห่งชาติแบบนี้ไปนานๆ ไม่ได้ แต่คำถามก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเองหรือไม่

เสียงสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีด้วยตัวเอง เนื่องจากสามารถดำเนินควบคุมสั่งการให้เกิดการปฏิรูปได้ทุกภาคส่วน ได้ตามเป้าหมายโดยตรงไม่ต้องส่งผ่านความผิด หรือมีการสื่อสารผิดพลาด และที่สำคัญอาจเกิดความเข้าใจไม่ตรงกัน เกิดความขัดแย้งกันได้หากให้คนอื่นเป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกัน หากเกรงว่าเมื่อเขามานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเสียเองจะทำให้เกิดแรงต้าน ทั้งในและต่างประเทศนั้นมันก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะถึงอย่างไรเสียงต้านเสียงประณามมันก็เกิดขึ้นเป็นธรรมดาจนเป็นปกติ ในเมื่อไหนๆ ก็ไหนๆ ก็โดนวิจารณ์ ก็ต้องกัดฟันเดินหน้าให้เต็มเหนี่ยว เพียงแต่ตั้งธงให้มั่นว่าทำเพื่อเป้าหมายเพื่อปวงชนคนส่วนใหญ่เท่านั้นเป็นพอ เวลาเพียงแค่ปีเศษมันก็กระชั้นชิด มันสั้นนัก และถึงอย่างไรผลออกมาเขาก็ต้องรับผิดชอบเต็มร้อยอยู่แล้ว ส่วนผลออกมาจะได้ดอกไม้หรือก้อนอิฐ นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง!!
กำลังโหลดความคิดเห็น