xs
xsm
sm
md
lg

คสช.ล่ามโซ่ทีวีดาวเทียม ส่อใช้ “อำนาจไม่ถูกทาง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สะเก็ดไฟ

เป็นการคำรามขู่ที่อาจกลายเป็น “ดาบสองคม” ทิ่มแทงตัว “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” เองได้เหมือนกันในอนาคตหลังจากตีเกราะเคาะไม้ส่งสัญญาณหากสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยยังไม่นิ่งสงบอาจลากยาวอยู่บนคานอำนาจต่อไปเรื่อยๆ

ในทำนอง “ยิ่งต้าน ยิ่งอยู่ยาว”

แน่นอนว่า ณ วันนี้ คสช. เองอาจจะมั่นใจในกฎเหล็กที่ออกมาขึงพืด ทำให้กลุ่มต่อต้านไม่กล้าขยายตัวไปมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่น่าเป็นกังวลไม่น้อยหากประเทศไทยต้องอยู่ในลักษณะนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะความเข้มงวดของกฎหมายพิเศษเหล่านี้จะค่อยๆ บีบต่อมอึดอัดของประชาชนให้พองโตจนขยายใหญ่ได้เหมือนกัน เนื่องจากประชาชนเองนั้นไม่ได้ชอบอยู่กับสิ่งที่มีคนตีกรอบให้นานๆ โดยเฉพาะคนไทย

ที่สำคัญการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพนานๆ อาจกลายตาลปัตรมาเป็นแรงต่อต้าน ในที่สุด อาจเข้าไปผสมโรงกับกลุ่มที่พยายามปลุกกระแสอยู่ในขณะนี้ด้วยหนำซ้ำข้อเสียของการลากยาวยังจะเป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายต่อต้านนำไปเป็นเป้าพุ่งโจมตี

ไม่ว่าจะเป็นความโปร่งใสในการใช้งบประมาณที่ไม่สามารถมีใครตรวจสอบได้ เพราะไม่กล้าแหยมกับกระบองเหล็กที่คสช.ถืออยู่จนที่สุดเกิดอีนุงตุงนัง คสช. อาจต้องเสีย “เพื่อนร่วมรบศพร่วมหลุม” ไปแบบมิรู้ตัว

บีบให้ตัวเองอายุสั้น

อย่างในกรณีการบล็อกสัญญาณทีวีดาวเทียมที่ คสช. กำลังทำอยู่ ตอนนี้เริ่มมีการมองว่า คสช. ใช้อำนาจในทางที่ผิด เพราะเล่นตีขลุมหว่านแหไปจนเกินงาม ทั้งที่สามารถลดหย่อนผ่อนปรนรูปแบบการควบคุมได้ไม่จำเป็นปิดตายให้เกิดจอดำมืดสนิท

อาทิ วิธีการที่ใช้กับฟรีทีวีในปัจจุบัน นั่นคือ เข้าไปควบคุมเนื้อหาขอความร่วมมือไม่ให้สัมภาษณ์นักวิชาการนักการเมืองที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดความขัดแย้งแทนทำนองให้เปิดปกติแต่มีหมายเหตุไว้ค้ำยัน

การล่ามโซ่ล็อกประตูทีวีดาวเทียมโดยไม่ให้ขยับตัวเหมือนที่เป็นอยู่กำลังทำร้ายให้ทีวีดาวเทียมเหล่านี้ตกอยู่ในสภาวะลำบากตลกร้ายปล่อยไว้เนิ่นนานปัญหายิ่งจะกลายเป็นลิงแก้แห ส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่ต้องไม่ลืมว่า ทีวีดาวเทียมจำนวนมากที่ถูกพิษรัฐประหารเล่นงาน มีบรรดาลูกจ้างที่ต้องอาศัยเงินเดือนทำมาเลี้ยงชีพหลายพันหลายหมื่นชีวิต ช่วงแรกอาจประคองกันได้ แต่นานๆ ไปคงจะยาก

ทีวีดาวเทียมส่วนใหญ่ได้รับการอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ถูกต้องตามกฎหมายภายใต้กำกับของ กสทช. และต้องเสียค่าธรรมเนียมอนุญาตรายปี แถมยังเป็นค่าธรรมเนียมที่อภิมหาโหดร้อยละ 1.5 ต่อปี หากช่องใดมีรายได้เกิน 5 ล้านบาทขึ้นไป เสียอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 2.1 ต่อปี โดยอัตราค่าธรรมเนียมเหล่านี้จะเหมารวมทั้งรายได้จากการโฆษณาและรายได้จากการสนับสนุนต่างๆ อีกด้วย

เมื่อไม่ได้ถ่ายทอด ก็ไม่มีโฆษณา เมื่อไม่มีโฆษณา ก็ไม่มีรายได้นำไปจุนเจือพนักงานในบริษัท พนักงานย่อมได้รับผลกระทบ เรียกว่าตามๆ กันมาทั้งองคาพยพทีเดียว
 
วันนี้ คสช. จึงต้องหันกลับไปคิดว่ายุทธวิธีดังกล่าวถูกทางถูกจุดแล้วหรือยัง การแก้ปัญหาให้กับประเทศกำลังทำร้ายคนในประเทศเองด้วยหรือไม่??

ปัจจุบัน คสช. กำลังวิ่งแข่งกับปัญหา การวิ่งแข่งนานๆ ยังเป็นผลเสียกับตัวเอง ดังนั้น ควรจะต้องทำอะไรให้เป็นรูปเป็นร่างโดยเร็ว ทั้งการตั้งสภาปฏิรูป สภานิติบัญญัติเพื่อคลายความรู้สึกประชาชนให้ผ่อนลง รวมถึงเรื่องการเลือกคนที่ก็ต้องพิถีพิถันหลีกเลี่ยงพวกตอหลดตอแหล

เพราะจะทำให้งานพังเหมือนกับยุค คมช.
กำลังโหลดความคิดเห็น