ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลัง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ประกาศกฎอัยการศึกและยึดอำนาจการปกครองประเทศ ธุรกิจที่ได้รับความสะเทือนมากที่สุดก็คือ “สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม” เนื่องจาก คสช.ได้ขอความร่วมมือระงับการออกอากาศเป็นการชั่วคราวและยังไม่มีแนวโน้มว่าจะได้กลับมาทำธุรกิจได้อีกเมื่อไหร่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มิได้เป็นสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมที่ตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านการเมืองอย่างเต็มรูปแบบ
ด้วยเหตุดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 สมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) จึงได้จัดให้มีการประชุมในหัวข้อ “ทิศทางทีวีดาวเทียม” โดยเป็นการร่วมกันหาทางออกในช่วงที่ถูกระงับสัญญาณการออกอากาศจากประกาศฉบับที่ 27 ของทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. โดยภายในงานมีทั้งผู้ประกอบการช่องทีวีดาวเทียมที่เป็นสมาชิกกว่า 100 ราย และไม่เป็นสมาชิกบางส่วน รวมถึงเจ้าของแพลตฟอร์มการชม IPM, PSI และกลุ่มบิ๊ก 4 และตัวแทนจากทางไทยคม
ทั้งนี้ สาระสำคัญในที่ประชุมเกิดจากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ต้องการความมั่นใจที่จะเข้ามากำกับดูแลช่องทีวีดาวเทียมไม่ให้เกิดปัญหาและต้องมีเนื้อหาที่ไม่หมิ่นเหม่ ก่อความไม่สงบ และสามารถสวิตช์เข้าสู่ประกาศที่ คสช. ต้องการออกอากาศได้ทันทีในขณะนั้น ทางสมาคมฯ จึงได้สรุปหาทางแก้ไข 2 แนวทาง คือ
1. ทำหนังสือชี้แจง แจ้งความจำนงแก่ทาง คสช.เพื่อให้รับทราบถึงว่า ทีวีดาวเทียมเป็นธุรกิจที่ประกอบกิจการอย่างถูกกฎหมายและควบคุมได้ โดยให้สมาชิกกว่า 100 รายร่างจดหมาย ระบุที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ และชื่อบุคคลที่ขอใบอนุญาตที่เป็นจริง ตรวจสอบได้ พร้อมแจงข้อเดือดร้อนที่เกิดขึ้น
2. รวบรวมสมาชิกช่องทีวีดาวเทียม ปรับสู่ระบบเพย์ทีวี หรือบอกรับสมาชิก สู่แพลตฟอร์มแบบบอกรับสมาชิกต่อไป ซึ่งได้แก่ PSI, IPM, ทรูวิชั่นส์, ซีทีเอช
ในที่ประชุม ตัวแทนจากไทยคมและจานดาวเทียม NSS6/SES8 พร้อมที่จะเป็นผู้ดูแลในการสวิตช์ประกาศของ คสช.ให้กับจำนวนช่องทีวีดาวเทียมที่ขึ้นกับทางไทยคมกว่า 100 ช่อง
นายนิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า สมาคมฯ จะรวบรวมจดหมายจากสมาชิก พร้อมทำหนังสือเพื่อนำไปยื่นแก่ คสช.ในวันที่ 29 พ.ค.พร้อมจดหมายจากทางสมาชิกที่ยืนยันความถูกต้องในการประกอบกิจการทีวีดาวเทียมแบบไม่ใช้คลื่นความถี่ และไม่บอกรับสมาชิก โดยสมาชิกกว่า 100 รายพร้อมที่จะปฏิบัติตาม คสช.ทุกอย่างโดยไม่มีข้อแม้
ทั้งนี้ 1.หากรายใดทำผิดเพียงเล็กน้อย ทางไทยคม และNSS6/SES8 พร้อมจะตัดสัญญาณทันที 2.เมื่อมีประกาศจากทาง คสช. จะตัดสัญญาณออกอากาศอัตโนมัติทันที โดยทางไทยคมและ NSS6/SES8 จะดำเนินการให้
“จะมีการรวบรวมข้อมูลจากสมาชิกกว่า 100 ราย พร้อมทำหนังสือยื่นแก่ทาง คสช. เพื่อขอให้สามารถออกอากาศได้ และหากทาง คสช.ไม่รับพิจารณาก็จะขอยื่นหนังสือไป อีกครั้ง” นายนิพนธ์ให้เหตุผล
การเคลื่อนไหวของสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม(ประเทศไทย) แสดงให้เห็นว่า พวกเขาเดือดร้อนและขณะนี้ธุรกิจกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก เพราะการปิดสถานีเท่ากับตัดช่องทางในการแสวงหารายได้ และส่งผลกระทบต่อพนักงานนับพันชีวิตอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมองในแง่ของข้อเท็จจริงจะเห็นได้ว่า การแก้ปัญหาดังกล่าวสามารถกระทำได้ด้วยการควบคุมเนื้อหาและสาระของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมแต่ละช่องให้เป็นไปตามนโยบายของ คสช. ถ้าหากสถานีไหนไม่ปฏิบัติตาม คสช.ก็สามารถมีคำสั่งปิดสถานีและมีบทลงโทษตามมาได้อยู่แล้ว ซึ่งเชื่อว่า ไม่มีสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่องไหนกล้าฝืนคำสั่งของ คสช.ในสภาวการณ์เยี่ยงนี้
สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมทั้ง 10 ช่องประกอบด้วย 1. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเอ็มวี 5 2. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมดีเอ็นเอ็น 3. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมยูดีดี 4. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเอเชียอัพเดท 5. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีแอนด์พี 6. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมโฟร์แชนแนล 7. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมบลูสกาย 8. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเอฟเอ็มทีวี 9. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมทีนิวส์ 10. สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเอเอสทีวี
แน่นอน ปัญหาที่ต้องตระหนักก็คือ ณ เวลานี้สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมได้รับการอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ถูกต้องตามกฎหมายภายใต้กำกับของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (National Broadcasting and Telecommunication Commission) หรือ กสทช. และต้องเสียค่าธรรมเนียมอนุญาตรายปี แถมเป็นค่าธรรมเนียมที่ต้องบอกว่าหฤโหดไม่น้อย
กล่าวคือสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมที่มีรายได้ตั้งแต่ 0 ถึง 5 ล้านบาทแรก เสียอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.5 ต่อปี สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมที่มีรายได้เกิน 5 ล้านบาทขึ้นไป เสียอัตราค่าธรรมเสียร้อยละ 2.1 ต่อไป โดยอัตราค่าธรรมเนียมเหล่านี้เหมารวมทั้งรายได้จากการโฆษณาและรายได้จากการสนับสนุนต่างๆ อีกด้วย
แต่การณ์กลับกายเป็นว่า เมื่อมีปัญหา กสทช.มิเคยเข้ามาถามไถ่สารทุกข์สุขดิบหรือให้ความช่วยเหลือเลยแม้แต่น้อย แถมคณะกรรมการ กสทช.บางคนยังโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดในทำนองสนับสนุนการปิดสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมของ คสช.อีกต่างหาก
คำถามก็คือว่า แล้วที่ผ่านมาทำไม กสทช.ถึงไม่กำกับดูแลให้การดำเนินงานของสถานีโทรทัศน์เหล่านั้นให้ดำเนินรายการให้ถูกต้อง แต่กลับปล่อยปะละเลยโดยไม่ใส่ใจ กระทั่งนำมาซึ่งข้อครหานินทาว่า เป็นเพราะต้องการทำให้สถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลที่กำลังลูกผีลูกคนแจ้งเกิดในสถานการณ์เช่นนี้หรือไม่
ดังนั้น ถึงตรงนี้คงต้องฝากกรบ้านไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช.ว่า ถ้า คสช.ต้องการจะปฏิรูปประเทศ กสทช.เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ต้องเข้าไปจัดการ เนื่องจากนี่คือแหล่งผลประโยชน์อันมหาศาลซึ่งไม่สามารถนิ่งเฉยเลยผ่านได้