xs
xsm
sm
md
lg

คสช.เพิ่มอำนาจศาลทหารจัดการคดีความผิดต่อสถาบันฯ - ความมั่นคง - ประกาศและคำสั่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ออกประกาศเพิ่มอำนาจศาลทหารให้สามารถพิพากษาได้ครอบคลุมมากขึ้น ในคดีความผิดต่อสถาบันฯ - ความมั่นคง รวมทั้งประกาศหรือคำสั่ง คสช.




วันนี้ (25 พ.ค.) เมื่อเวลา 16.25 น. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 37/2557 เรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้บรรดาคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่ ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา 107-112 และ ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113-118 ยกเว้นความผิดซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง และ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน และความผิดตามประกาศ หรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้การกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตราชอาณาจักร และในระหว่างที่ประกาศนี้ใช้บังคับอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ฉบับที่ 37/2557

เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร

ตามที่ได้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 ให้ศาลทั้งหลายคงมีอำนาจดำเนินการพิจารณา และพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมาย และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาตินั้น เพื่อให้การรักษาความสงบ และการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงประกาศให้บรรดาคดีความผิดตามที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้ ซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตราชอาณาจักร และในระหว่างที่ประกาศนี้ใช้บังคับอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร

1. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

(1) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา 107-112

(2) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113-118 ยกเว้นความผิด ซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พุทธศักราช 2551 หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548

2. ความผิดตามประกาศ หรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง

ประกาศ ณ วันที่ 25 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

สำหรับประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับประกาศ คสช.ฉบับดังกล่าว ได้แก่

หมวด 1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

มาตรา 107 ผู้ใดปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษประหารชีวิต

ผู้ใดพยายามกระทำการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

ผู้ใดกระทำการใดอันเป็นการตระเตรียมเพื่อปลงพระชนม์พระ มหากษัตริย์หรือรู้ว่ามีผู้จะปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ กระทำ การใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต

มาตรา 108 ผู้ใดกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพ ของพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ผู้ใดพยายามกระทำการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

ถ้าการกระทำนั้นมีลักษณะอันน่าจะเป็นอันตรายแก่พระชนม์ ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต

ผู้ใดกระทำการใดอันเป็นการตระเตรียมเพื่อประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระมหากษัตริย์ หรือรู้ว่ามีผู้จะกระทำการประทุษร้าย ต่อพระองค์หรือเสรีภาพของพระมหากษัตริย์ กระทำการใดอันเป็น การช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบหกปีถึงยี่สิบปี

มาตรา 109 ผู้ใดปลงพระชนม์พระราชินีหรือรัชทายาท หรือฆ่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษประหารชีวิต ผู้ใดพยายามกระทำการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

ผู้ใดกระทำการใดอันเป็นการตระเตรียมเพื่อปลงพระชนม์ พระราชินีหรือรัชทายาท หรือเพื่อฆ่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือรู้ว่ามีผู้จะปลงพระชนม์พระราชินีหรือรัชทายาท หรือจะฆ่าผู้ สำเร็จราชการแทนพระองค์ กระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบสองปีถึงยี่สิบปี

มาตรา 110 ผู้ใดกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพ ของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบหกปีถึงยี่สิบปี ผู้ใดพยายามกระทำการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

ถ้าการกระทำนั้นมีลักษณะอันน่าจะเป็นอันตรายแก่พระชนม์หรือชีวิต ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

ผู้ใดกระทำการใดอันเป็นการตระเตรียมเพื่อประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือ เสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือรู้ว่ามีผู้จะประทุษร้าย ต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือ ประทุษร้ายต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบสองปีถึงยี่สิบปี

มาตรา 111 ผู้ใดเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดตาม มาตรา 107 ถึง มาตรา 110 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น

มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี

หมวด 2 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร

มาตรา 113 ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ

(1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ

(2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญหรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ

(3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

มาตรา 114 ผู้ใดสะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการอื่นใดหรือสมคบกัน เพื่อเป็นกบฏ หรือกระทำความผิดใดๆ อันเป็นส่วนของแผนการ เพื่อเป็นกบฏ หรือยุยงราษฎรให้เป็นกบฎหรือรู้ว่ามีผู้จะเป็น กบฎแล้วกระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี

มาตรา 115 ผู้ใดยุยงทหารหรือตำรวจให้หนีราชการ ให้ละเลย ไม่กระทำการตามหน้าที่ หรือให้ก่อการกำเริบ ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินห้าปี ถ้าความผิดนั้นได้กระทำลงโดยมุ่งหมายจะบ่อนให้วินัยและสมรรถภาพของกรมกองทหารหรือตำรวจเสื่อมทรามลง ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี

มาตรา 116 ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย

(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

มาตรา 117 ผู้ใดยุยงหรือจัดให้เกิดการร่วมกันหยุดงาน การร่วม กันปิดงานงดจ้าง หรือการร่วมกันไม่ยอมค้าขายหรือติดต่อทางธุรกิจกับบุคคลใดๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน เพื่อบังคับรัฐบาลหรือเพื่อข่มขู่ประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดทราบความมุ่งหมายดังกล่าวและเข้ามีส่วนหรือเข้าช่วยในการ ร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิดงานงดจ้างหรือการร่วมกันไม่ยอมค้า ขายหรือติดต่อทางธุรกิจกับบุคคลใดๆ นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดทราบความมุ่งหมายดังกล่าว และใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญ ว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือทำให้หวาดกลัวด้วยประการใดๆ เพื่อให้บุคคลเข้ามีส่วนหรือเข้าช่วยในการร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิด งานงดจ้างหรือการร่วมกันไม่ยอมค้าขายหรือติดต่อทางธุรกิจกับบุคคลใดๆ นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน หนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 118 ผู้ใดกระทำการใดๆ ต่อธงหรือเครื่องหมายอื่นใดอันมีความหมายถึงรัฐ เพื่อเหยียดหยามประเทศชาติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เพิ่มอำนาจศาลทหาร

จากนั้น เมื่อเวลา 21.35 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 38/2557 เรื่องคดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร

โดยที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ พิจารณาเห็นว่า คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 ลงวันที่ 25 พ.ค. 2557 และคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับอื่น ให้คดีที่มีข้อหาว่าการกระทำผิดบางอย่างอยู่ในอำนาจศาลทหารนั้น คดีดังกล่าวอาจมีข้อหาอื่นที่มีความผิดในตัวเองและมิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารรวมอยู่ สมควรให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาในข้อหานั้นด้วย เพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

บรรดาความผิดที่อยู่ในอำนาจศาลทหารพิจารณาพิพากษา ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 37/2557 ลงวันที่ 25 พ.ค. 2557 และคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับอื่น ถ้าคดีใดประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกัน แม้แต่ละอย่างจะเป็นความผิดได้ในตัวเอง และไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารก็ให้อยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาด้วย

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 25 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น