xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ลอยตัวอ้าง2สภาขัดแย้ง ถอดถอน”นิคม”ถูกลากยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (22 เม.ย.) ว่า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอให้ครม. แปรพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ในวันที่ 1 พ.ค. และ ปิดประชุมสภา วันที่ 10 พ.ค. เพื่อพิจารณาเรื่องการแต่งตั้งบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 (2) แต่ปรากฏว่า มีหนังสือจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะสำนักงานรัฐสภา มีความเห็นต่างมา เนื่องจากเห็นว่า การเปิดประชุมเป็นอำนาจของประธานรัฐสภา แต่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เห็นว่า เป็นเรื่องที่ต้องส่งให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ดำเนินการ ซึ่ง ครม.ได้รับทราบความเป็นมาทั้งหมดแล้ว จึงได้เร่งรัดให้ สลค. ประสานกับทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการ วุฒิสภาเพื่อให้ได้ข้อยุติ ขณะเดียวกัน ยังมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เตรียมยก ร่าง พระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องแต่งตั้งไว้ก่อน เมื่อไรที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กับเลขาธิการวุฒิสภา มีความเห็นตรงกัน ทาง สลค. จะต้องเรียกประชุมครม.นัดพิเศษ เพื่อจะได้ดำเนินการต่อไป
ส่วนเรื่องการถอดถอนตาม มาตรา 132 (3) ทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เห็นว่า ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ และยังไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรีบตอนนี้ จึงยังไม่ติดใจ
ทั้งนี้ การเสนอเปิดประชุมสภา เพื่อดำเนินการถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ตามที่ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด และจะมีการพิจารณาแต่งตั้งกรรมการป.ป.ช. ที่จะมาแทนกรรมการป.ป.ช.ที่หมดวาระลง
ด้านนายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงปัญหาการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาแต่งตั้งบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 (2) ว่า ยังมีความเห็นต่างกัน ระหว่างสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา โดยในส่วนของเลขาธิการวุฒิสภา พยายามทำตามกรอบข้อบังคับ ที่เคยทำมา ทั้งกรอบเวลา ซึ่งต้องทำตามระเบียบ และข้อบังคับของวุฒิสภา ส่วนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะเลขาธิการรัฐสภา เห็นว่า หนังสือที่ส่งมาต้องมาจากประธานรัฐสภา หรือคนที่ทำหน้าที่แทน คือ ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา
แต่กรณีนี้ รองประธานรัฐสภาไม่อยู่ มีแต่รองประธานวุฒิสภา ที่รักษาการประธานวุฒิสภา จึงเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายต้องตกลงกันเองให้ได้ก่อน เมื่อได้แล้วค่อยส่งมา ซึ่งระหว่างนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เตรียมยกร่าง พระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสมัยวิสามัญตามที่เราเห็นว่าถูกต้อง และสามารถทำได้
นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมา เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการกฤษฎีกา หารือร่วมกับเลขาธิการวุฒิสภา เมื่อวันที่ 18 เม.ย. แต่ยังคงไม่ได้ข้อยุติ โดยเฉพาะเรื่องของอำนาจในการเปิดประชุม เพราะในข้อกฏหมาย ยังไม่มีความชัดเจน ทางรัฐสภา และวุฒิสภาต้องพูดคุยกันให้จบ ส่วนรัฐบาลพร้อมปฏิบัติไปตามอำนาจที่มี ส่วนประเด็นที่ว่า ส.ว.ชุดไหน จะต้องทำหน้าที่ในการพิจารณาแต่งตั้ง และถอดถอน เป็นปัญหาของทางวุฒิสภาเหมือนกัน ซึ่ง มาตรา 111 กำหนดไวัชัดเจน วุฒิสภาต้องประกอบด้วยส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง และเลือกตั้ง ดังนั้นเมื่อมีเลือกตั้ง มันก็ต้องรอ
กำลังโหลดความคิดเห็น