ผ่าประเด็นร้อน
เริ่มเดินหน้าหาท่าทีร่วมกันระหว่างกลุ่มที่อ้างว่า“เป็นคู่ขัดแย้ง” และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เข้าร่วมกันหารือที่สโมสรทหารบก โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะผู้บัญชาการกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) เป็นเจ้าภาพ เชิญทุกฝ่ายเข้าหารือ เพื่อให้เห็นภาพจะแจ้งให้เห็นว่ามีหน่วยงานใดบ้างที่เข้าร่วม ก็มีตัวแทนจาก รัฐบาล พรรคเพื่อไทย นปช. พรรคประชาธิปัตย์ กปปส. กกต. ว่าที่ประธานวุฒิสภา โดยการหารือดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นในตอนบ่ายวันที่ 21 พฤษภาคม
แม้ว่าในความหมายของคำว่าคู่ขัดแย้งจะผิดเพี้ยน เพราะมวลมหาประชาชนที่เรียกชื่อว่า กปปส. ไม่ใช่เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร แต่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ต้องการมาทวงอำนาจจากนักการเมืองชั่วๆ กลับมา คนที่ออกมาไล่รัฐบาลหุ่นเชิด ไล่ระบอบทักษิณ ก็ไม่ใช่ขี้ข้าหรือลูกน้องของ สุเทพ เทือกสุบรรณ และก็ไม่ใช่ออกมาเพื่อต่อสู้ให้ สุเทพ หรือครอบครัวเทือกสุบรรณได้มีอำนาจทางการเมือง แต่ชาวบ้านพวกนี้เขาต้องการขับไล่นักการเมืองชั่วๆ ทุกคน แล้วให้มีการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง ชาวบ้านพวกนี้เขาไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับ คนอย่าง ทักษิณ ชินวัตร และบรรดาขี้ข้าทั้งหลาย เพราะกระจอกเกินไป ต้องการขับไล่ให้พ้นไปให้หมด
อย่างไรก็ดี เมื่อมีการนัดหารือกันเพื่อหาทางออกให้กับบ้านเมืองก็ต้องรับฟังท่าทีเสียก่อน ว่าผลจะออกมาอย่างไร แต่เท่าทีประเมินท่าทีล่าสุดกำลังมีความพยายามในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นมาในลักษณะ “เฉพาะกิจ” เพื่อภารกิจสำคัญในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนจะมีการเลือกตั้งซึ่งภารกิจสำคัญดังกล่าวก็คือการแก้ไขกติกาการเลือกตั้ง การปฏิรูปกฎหมายในบางเรื่อง โดยใช้เวลาจำกัดอาจใช้เวลา 3-6 เดือน
เท่าที่ประเมินดูแล้ว เหมือนกับเป็นการพบกันครึ่งทาง นั่นคือการหานายกฯคนกลางขึ้นมาทำหน้าที่ขัดตาทัพเป็นการชั่วคราวในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อให้การบริหารบ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ และที่สำคัญรัฐบาลเฉพาะกาลดังกล่าวจะมีกองทัพในนามของ กอ.รส. เป็นพี่เลี้ยง
ที่ผ่านมา หากสังเกตแนวทางและท่าทีก็จะเห็นว่าเริ่มเดินมาทางนี้ หลังจากที่ว่าที่ประธานวุฒิสภา สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ได้เป็นโต้โผในการขอความร่วมมือหารือกับองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาระดมความเห็น โดยเป้าหมายก็เพื่อหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มีอำนาจเต็ม เพื่อมาทำหน้าที่แทน นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล และ ครม. รักษาการที่บริหารไม่ได้แล้ว ในขณะที่การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ก็งวดเข้ามามีการกำหนดเส้นตายเผด็จศึกในวันที่ 26 พฤษภาคมที่จะถึงนี้
แม้ว่าที่ผ่านมาการหารือระดมความคิดเห็นของว่าที่ประธานวุฒิสภา สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย จะยังไม่ได้ข้อสรุป โดยเฉพาะการขัดขวางจากฝ่ายระบอบทักษิณ ที่มี นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ที่ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯยืนกรานไม่ยอมลาออก นั่นก็เท่ากับว่าถึง “ทางตัน”
แต่อีกด้านหนึ่งมันก็เป็นการเปิดช่องให้วุฒิสภาองค์กรด้านนิติบัญญัติที่เหลืออยู่เดินหน้าเสนอชื่อนายกฯคนใหม่ได้ทันที แต่ปัญหาก็คือมันเป็นอำนาจที่ครึ่งๆ กลางๆ ที่สำคัญยังไม่มีแบ็กด้านอำนาจคอยหนุนหลัง ซึ่งนั่นก็เกิดขึ้นในช่วงก่อนการประกาศกฎอัยการศึก แต่มาถึงวันนี้สถานการณ์ได้เปลี่ยนไป อำนาจเบ็ดเสร็จได้มาอยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกองทัพเข้ามาคุมเต็มพื้นที่
ที่น่าสนใจก็คือเริ่มมีการระดมความเห็นมีการเชิญว่าที่ประธานวุฒิสภา องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอย่าง กกต. รัฐบาล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ กปปส. และ นปช. เข้ามาหารือ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าร่วมหารือ แม้ว่าในวันแรกจะยังไร้ข้อสรุปแล้วนัดใหม่ในวันรุ่งขึ้น โดยอ้างว่าเป็นเพียงการรับฟังความเห็นของแต่ละฝ่ายและให้กลับไปคิดก่อนกลับมาสรุปกันใหม่
แน่นอนว่าแต่ละฝ่ายต้องกลับไปหารือเป็นการภายในกันก่อน เพราะไม่มีใครมีอำนาจตัดสินใจเองได้ ดังนั้นให้จับตาดูว่าท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะฟันธงออกมาในการเสนอชื่อนายกฯคนใหม่โดยผ่านวุฒิสภาหรือไม่ ซึ่งแนวโน้มน่าจะไปทางนั้น โดยเฉพาะมีการแพลมชื่อออกมาแล้วว่าอาจจะเป็น กิตติพงษ์ กิตติยารักษ์ ส่วนจะเป็นจริงหรือไม่ให้รอดูวันนี้ (22 พฤษภาคม) !!