กกต. ชงกฤษฎีกาชุดใหญ่ตีความ “นิวัฒน์ธำรง” รักษาการแทนนายกฯ ตาม พ.ร.ฎ.ยุบสภาฯ ได้หรือไม่ ขณะเดียวกัน ไม่ติดใจอำนาจหน้าที่ยื่นทูลเกล้าฯ-รับสนองฯ ยังไม่มีมติเคาะวันเลือกตั้ง 3 ส.ค. เกรงขัดมติ กอ.รส.
วันนี้ (21 พ.ค.) นายเมธา ศิลาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ที่ประชุม กกต. ในวันนี้ (21 พ.ค.) มีมติให้เลขาฯ กกต. ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดใหญ่ พิจารณาว่ากรณีที่ พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร กำหนดให้นายกรัฐมนตรี และประธาน กกต. เป็นผู้รักษาการ พ.ร.ฎ. นี้ ดังนั้น การที่จะกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. ใหม่ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการประชุมเพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง และผู้ที่มีอำนาจรักษาการตาม พ.ร.ฎ. ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยถูกต้องอย่างไร ซึ่งคาดว่าเลขาฯ กกต. จะสามารถลงนามส่งหนังสือถึงเลขาฯ กฤษฎีกาได้ในวันที่ 22 พ.ค.นี้
ทั้งนี้ นายเมธา ยังกล่าวด้วยว่า การขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาในครั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับผู้มีอำนาจในการยื่นทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการ เนื่องจากที่ประชุม กกต. เห็นว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเขียนไว้ชัดเจนแล้วว่า รองนายกรัฐมนตรี สามารถทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการได้
รายงานข่าวแจ้งว่า กรณีที่จะให้ที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดใหญ่ตีความนั้น เนื่องจากในที่ประชุม กกต. ตั้งข้อสังเกตว่า มาตรา 5 ของ พ.ร.ฎ. ยุบสภาผู้แทนราษฎร ใช้ถ้อยคำว่า ให้นายกรัฐมนตรีและประธาน กกต. เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.ฎ. นี้ ดังนั้น การที่ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี เป็นเพียงผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี จะถือว่าเป็นตัวแทนที่จะมาหารือ และกำหนดวันเลือกตั้งตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้เลื่อนวันเลือกตั้งได้ แต่ให้นายกรัฐมนตรีและประธาน กกต. ซึ่งเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.ฎ. นี้ไปหารือกัน ใช่หรือไม่
ส่วนกรณีหนังสือที่รัฐบาลส่งมายัง กกต. นั้น ที่ประชุม กกต. ยังไม่ได้มีมติใดๆ โดยเมื่อที่ประชุมมีการพิจารณาถึงการที่รัฐบาลเสนอให้มีการเลือกตั้งวันที่ 3 ส.ค. ซึ่งที่ประชุม กกต. เห็นว่าต้องหารือกับฝ่ายความมั่นคงก่อน แต่ต่อมาได้รับทราบว่าทาง กอ.รส. ได้เชิญ กกต. ไปหารือด้วยในวันนี้ ที่ประชุม กกต. จึงเห็นว่ายังไม่ควรมีมติในเรื่องนี้ เพราะหากมีมติใดๆ ออกมา อาจจะสวนทางกับมติของ กอ.รส. ได้