โฆษก ปชป. เผย หน. พรรคมอบ “นิพิฏฐ์” ชงฟัน “ธาริต” พร้อมคณะ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ สนองการเมือง ยกขั้นตอนขอหมายจับ กปปส. พิรุธ ส่อหลอกศาลเข้าใจผิดว่าอัยการส่งฟ้อง “ราเมศ” เตือน อัยการอย่าเป็นเครื่องมือ DSI ไล่ อธิบดี DSI พ้นเก้าอี้ ฉะ ไร้ความรู้ กม. ตอก “สุรพงษ์” แจ้งจับ ตุลาการศาล รธน. เข้าข่ายแจ้งเท็จ ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน หมิ่นศาล
วันนี้ (18 พ.ค.) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการใช้อำนาจของ นายธาริต เพ็งดิษฐ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ และเลขานุการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ หรือ ศอ.รส. ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค มอบหมายให้นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค เป็นหัวหน้าทีมติดตามคดีนี้มีนายราเมศ รัตนะชเวง ร่วมทีม ดำเนินคดีกับนายธาริต และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของ ศอ.รส. เพราะมีข้อน่าสงสัยหลายประการ คือ 1. คำสั่งแต่งตั้ง ศอ.รส. ไม่มีโครงสร้างที่แต่งตั้งโดย กอ.รมน. นอกจากการแต่งตั้ง รมว.แรงงาน ให้เป็น ผอ.ศอ.รส. เท่านั้น แต่ขณะนี้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง พ้นตำแหน่งไปแล้ว จึงมีคำถามว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ ศอ.รส. ใช้กฎหมายใดรองรับ 2. การปฏิบัติหน้าที่ของ ศอ.รส. ลุกลี้ลุกลน สนองวัตถุประสงค์ทางการเมืองอย่างออกนอกหน้า เคยมีการอายัดบัญชีแกนนำ กปปส. และสมาชิกพรรค แต่เมื่อมีการร้องทุกข์กล่าวโทษว่าไม่สามารถอายัดได้ เพราะไม่มีการขออนุญาตไปยัง ปปง. ทำให้มีการถอนการอายัดดังกล่าว ซึ่งถือว่าการทำผิดสำเร็จแล้วในการใช้อำนาจโดยมิชอบ
และ 3. การออกหมายจับ 31 แกนนำ กปปส. มีความพิลึกอย่างยิ่ง เพราะขอหมายจากศาลยุติธรรม ทำให้ศาลเข้าใจผิดว่าถูกฟ้องแล้วจากอัยการ แต่เมื่อผู้ถูกออกหมายจับคือ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ไปมอบตัวได้รับแจ้งจากศาลว่าอยู่ในขั้นตอนการส่งฟ้องกับศาลเท่านั้น เมื่อกลับไปยังอัยการก็แจ้งว่ายังไม่ได้สั่งฟ้อง แค่เห็นว่าสมควรฟ้อง แต่ยังไม่สั่งฟ้อง จึงเป็นการลักไก่ออกหมายของดีเอสไอ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ผิดขั้นตอนกฎหมาย กลั่นแกล้งผู้ที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล
“การบุกเข้าจับกุมตัว นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ และ นายสาธิต เซกัล กระทำเหมือนการจับกุมตัวผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ มีการพกพาอาวุธจนชาวบ้านแตกตื่น เป็นการปฏิบัติที่เกินขอบเขต ใช้อำนาจมิชอบ ข่มขู่ คุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชนชัดเจน ผมย้ำว่าปฏิบัติการทั้งหมดบงการโดยนายธาริต จึงจำเป็นต้องดำเนินคดีกับนายธาริต และบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นตัวอย่างไม่ให้มีการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตในการคุกคามประชาชนอีกต่อไป” นายชวนนท์ กล่าว
ด้าน นายราเมศ รัตนะเชวง ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การขอศาลออกหมายจับแกนนำ กปปส. ของดีเอสไอ และมีการจับกุมนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ มีการยื่นต่อศาลเพื่อขอฝากขัง แต่ศาลยกคำร้องดังกล่าวว่า เป็นประเด็นสำคัญของกระบวนการยุติธรรม เพราะกระทบสิทธิเสรีภาพความเป็นมนุษย์ การกระทำของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะศาลมีคำสั่งระบุชัดเจนในรายงานกระบวนพิจารณาว่าเจ้าพนักงานมีอำนาจควบคุมเท่าที่จำเป็นในการนำตัวส่งฟ้องต่อศาลเท่านั้น เพราะเป็นการขอหมายจับเพื่อยื่นฟ้องต่อศาล แต่พนักงานสอบสวนดีเอสไอกลับยื่นคำร้องขอฝากขังเพื่อดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งตามหลักกฎหมายไม่มีสิทธิทำได้ เนื่องจากเป็นอำนาจของศาล พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจควบคุมตัวแกนนำ กปปส. เพราะต้องควบคุมเท่าที่จำเป็นเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลโดยประสานกับทางอัยการเท่านั้น จะลักไก่ควบคุมตัวแกนนำ กปปส. ไว้ไม่ได้ เป็นเรื่องที่ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมาย เว้นแต่อัยการจะมีคำสั่งให้สอบเพิ่มเติม เพราะอำนาจไม่ได้อยู่ที่ดีเอสไอแล้ว
นายราเมศ กล่าวต่อว่า จึงขอเรียกร้องไปยังอัยการว่า เรื่องนี้กระทบสิทธิเสรีภาพความเป็นมนุษย์ ดังนั้น อัยการและดีเอสไอต้องประสานให้เกิดความชัดเจนว่า อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องใคร ร่างคำฟ้องเสร็จหรือยัง หากเสร็จแล้วก็ต้องแจ้งไปยังดีเอสไอให้นำตัวผู้ต้องหาไปยื่นฟ้องต่อศาล ไม่ใช่ดีเอสไอลุยจับแต่ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย อัยการอย่าตกเป็นเครื่องมือของดีเอสไอ
“สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าพนักงานสอบสวนดีเอสไอไม่มีความรู้ทางกฎหมาย เพราะกระบวนการดำเนินคดีต้องอยู่บนพื้นฐานกฎหมายอาญา หากไม่ดำเนินการตามนี้ก็เตรียมตัวเข้าคุกได้เลย ผมเห็นว่านายธาริต ต้องรับผิดชอบในฐานะเป็นอธิบดีดีเอสไอแต่กลับไม่มีความรู้ทางกฎหมายสมควรลาออกจากการเป็นอธิบดีดีเอสไอ และขอกล่าวหาว่าทำงานเพื่อสนองฝ่ายการเมืองเป็นที่ตั้ง ทั้งที่ต้องยึดถือหลักกฎหมายของบ้านเมือง เรื่องนี้นายนิพิฏฐ์ และผม จะประชุมพรุ่งนี้รวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดีตามมาตรา 157 กับพนักงานสอบสวนและอธิบดีดีเอสไอ ซึ่งคณะทำงานกฎหมายของ กปปส. ก็เตรียมที่จะดำเนินคดีด้วยเช่นเดียวกัน” นายราเมศ กล่าว
ส่วนกรณีที่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แจ้งความต่อ ป.ป.ป. ให้ดำเนินคดีกับตุลาการฯนั้น ตนขอประณามการกระทำดังกล่าว เพราะเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ทราบดีว่ากระบวนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอยู่บนพื้นฐานหลักเกณฑ์ความถูกต้องและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีความหมายกับพรรคเพื่อไทย แม้รัฐธรรมนูญบัญญัติว่าผูกพันทุกองค์กร เพราะพรรคเพื่อไทยกับพวกไม่ยอมรับ เมื่อนายสุรพงษ์ กล้าดำเนินคดีกับตุลาการฯก็ต้องรับผิดชอบด้วย เนื่องจากตุลาการฯก็มีสิทธิที่จะปกป้องตัวเอง การแจ้งความดังกล่าวขอให้เตรียมตัวรอรับผิดด้วย เนื่องจากเข้าข่ายแจ้งความเท็จ ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ดูหมิ่นศาล และหมิ่นประมาท และที่มีความพยายามโจมตีศาลรัฐธรรมนูญก็เพราะวิ่งเต้นไม่ได้ จึงขอให้คนไทยให้กำลังใจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้พ้นวิกฤตจากการทำลายล้างของคนที่คิดร้ายต่อบ้านเมือง