มือ กม.ปชป.จวก “ไข่หีด” อย่าแยกประโยคปราศรัยตีความไปเอง “สุเทพ” ขวางเลือกตั้ง ชี้ยังไม่เปิดรับสมัคร ยังไม่ผิด แจงแทนควรปฏิรูปปิดช่องโกงก่อน เชื่อส่วนใหญ่หนุน ย้อนรัฐต้นตอปัญหา ลุอำนาจเช่นเดิม ตอกด่าองค์กรอิสระแต่วันนี้กลับใช้ประโยชน์ ปธ.วุฒิฯ ชี้ ทุกเวทีหนุนปฏิรูป แนะแก้ ม.291 ตั้งสภา ปชช. รอ ป.ป.ช.แจงข้อหาแก้ที่มา ส.ว.
วันนี้ (16 ธ.ค.) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง และทีมกฏหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ร้อง กกต.ขอให้สอบนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. โดยกล่าวหาว่าขัดขวางการเลือกตั้งทำผิดกฎหมายเลือกตั้งและอาจโยงความผิดถึงขั้นยุบพรรคประชาธิปัตย์ว่า ตนเห็นว่าต้องดูเจตนาและคำพูดโดยรวมของนายสุเทพ อย่าแยกคำพูด แยกประโยคในการปราศรัยแล้วไปตีความเอาเอง เพราะขณะนี้ยังไม่มีการเปิดรับสมัครลงเลือกตั้ง ยังไม่มีการเลือกตั้งจึงยังไม่มีความผิดอะไร อีกทั้งกระแสสังคมคนส่วนใหญ่ต่างคิดตรงกันว่าเมื่อมองเห็นปัญหาที่ยังมีความขัดแย้งในแนวความคิดเรื่องการปฏิรูปกฎหมาย กติกาที่เป็นช่องว่าง นายสุเทพก็เสนอว่าควรจะแก้ไขก่อนเพื่อปิดช่องว่างของวงจรอุบาทว์ที่เป็นต้นตอของการทุจริต โกงเข้ามาเพื่อถอนทุน และเชื่อว่าหากคนในสังคมหากทุกคน หรือส่วนใหญ่มีโอกาสพูดก็คงจะเห็นพ้องกับนายสุเทพ แกนนำ กปปส. ที่วันนี้ออกโจทย์ให้แก้ไข ปรับปรุงก่อน
“ผมกลับมองว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือแม้แต่โฆษกพรรคเพื่อไทยต่างหากที่เป็นต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้น ซ้ำยังคงมีพฤติกรรมลุอำนาจ ไม่เปลี่ยนแปลง ยังทำตัวเหมือนเดิม ซึ่งวันก่อนปฏิเสธระบบ ต่อต้านศาลรัฐธรรมนูญ แต่มาวันนี้กลับมายืมมือระบบองค์กรอิสระที่เคยกดดันต่อต้านเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งสังคมควรต้องพิจารณามากกว่าว่าถูกต้องชอบธรรมหรือไม่” นายนิพิฎฐ์กล่าว
ด้านนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า เท่าที่รับฟังความเห็นจากเวทีเสวนาหาทางออกให้ประเทศของกลุ่มองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของกองบัญชาการกองทัพไทย ของรัฐบาล หรือภาคส่วนต่างๆ สะท้อนไปในทางเดียวกันหมด คือ ตอบรับว่าประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปอย่างจริงจัง ดังนั้น ตราบใดที่เรายังใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่ถูกฉีก ก็ต้องใช้รัฐสภาเป็นตัวขับเคลื่อน โดยการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อจัดตั้งสภาประชาชนขึ้นมาปฏิรูปประเทศ ลักษณะเดียวกับการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ส่วนกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เริ่มดำเนินการไต่สวนคำร้องถอดถอน ส.ส. ส.ว.ที่ร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.นั้น ต้องรอการแจ้งข้อกล่าวหาจาก ป.ป.ช.ก่อน จึงจะเริ่มกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง จากฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้อง เพื่อพิจารณาต่อไปว่าผิดจริงหรือไม่