รักษาการนายกฯ ยันรัฐบาลมีอำนาจเต็มตามกฎหมาย ทูลเกล้าฯ ร่าง พ.ร.ฎ. เลือกตั้ง แต่งตั้งประธานวุฒิฯ ขวางวุฒิฯ ตั้งนายกฯ ม.7 ย้ำผิดกฎหมายไม่ทูลเกล้าฯ ชี้นายกฯ ต้องมาจากที่ประชุม ส.ส. เท่านั้น หากองค์กรในสังคมไม่มีความเป็นธรรม ประชาชนต้องทะเลาะกัน คนทำผิดต้องลงโทษตามกฎหมาย ยินดีถก “สุรชัย” หาทางออกประเทศ แต่ต้องตามกฎหมาย แย้มรัฐบาลอาจเชิญคุยวงเล็ก
วันนี้ (14 พ.ค.) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เมืองทองธานี เมื่อเวลา 16.10 น. นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวว่า การประชุมร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เลื่อนไปเป็นวันที่ 15 พ.ค. เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมกานตรัตน์ กองทัพอากาศ ดอนเมือง ส่วนเรื่องของอำนาจหน้าที่ความเป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) และการปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีของตน ความเป็น ครม. ชุดปัจจุบันมีอยู่สมบูรณ์ โดยอ้างอิงจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า รัฐมนตรีที่ไม่เกี่ยวข้องการพิจารณาโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมี ครม. ชุดใหม่ โดยทั้ง 25 คน ไม่สามารถลาออกได้ ถ้าลาออกถูกฟ้องร้องได้ ส่วนอำนาจหน้าที่ตนในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ในการทูลเกล้าฯ เสนอร่างกฎหมายต่างๆ และทูลเกล้าฯแต่งตั้งประธานวุฒิสภา สามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 189 ที่ระบุว่า ผู้รับสนองพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะต้องเป็นรัฐมนตรีขึ้นไป ตามที่ได้รับมอบหมาย และร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วไป เป็นกฎหมายของฝ่ายบริหารที่ต้องดำเนินการ ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ
นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า ส่วนที่มาและคุณสมบัติของผู้ดำรงคำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่มีการระบุว่า นายกฯมาจากมาตราอื่นได้หรือไม่ ต้องเรียนว่าตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส. มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ความเห็นชอบ ถึงจะมีการแต่งตั้งมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 171 และ 172 ส่วนนายกรัฐมนตรี มาตรา 7 หรือมาตราอื่นๆ ไม่ได้มีกำหนดไว้ชัดเจน การที่วุฒิสภาและฝ่ายต่างๆ เสนอแต่งตั้งนายกฯคนกลาง หรือนายกฯ มาตรา 7 ท่านต้องบอกว่า กฎหมายข้อใดที่นำมาอ้างอิงในการแต่งตั้งบุคคลดังกล่าว เพราะหากไม่มีกฎหมายรองรับจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ส่งมาให้รัฐบาลก็ทำต่อไปไม่ได้ แต่หากไปทำเองก็ติดปัญหาการทูลเกล้าฯ ไม่ว่าข้าราชการประจำ รัฐบาล หรือรัฐสภา ถ้าไม่ถูกกฎหมายก็คงไม่มีกล้านำทูลเกล้าฯ ต้องดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 178
“รัฐบาลไม่ได้ปฏิเสธว่า ท่านจะคิด จะทำอย่างอื่นไม่ได้ ท่านทำได้ แต่ก่อนทำ ต้องคิดถึงข้อกฎหมายก่อน การเลือกตัวบุคคลไม่ยาก แต่ที่สำคัญเรากำลังใช้กฎหมายใดเพื่อทำการนี้ ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญ ถึงทำมาอย่างไร ถ้าไม่ผ่านข้อนี้ก็ทำไม่ได้ รัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบสังคม เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้คนจำนวนมากอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข และเป็นข้อกำหนดให้คนในสังคมปฏิบ้ติเหมือนกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และความเสมอภาค ขณะนี้ประเทศไทยที่อยู่ในช่วงวิกฤต องค์กรอิสระ สถาบันกลุ่มคนจะต้องยึดมั่นกฎหมาย กฎระเบียบอย่างเคร่งครัดเพื่อแก้ปัญหาวิกฤต ไม่ปฏิบัติตามกฎก็ทำให้กระทบอีกกลุ่มหนึ่ง และเกิดการทะเลาะกัน ถ้าคุณทำผิดกฎหมายก็จะถูกทำโทษตามกฎหมาย” นายนิวัฒน์ธำรง กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการเสนอให้นายกรัฐมนตรีคนกลางเข้ามาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า หากมีการเสนออย่างนั้นก็ขอถามว่ามีการอ้างอิงกฎหมายมาตราใด ฉบับใด จะได้ไปช่วยศึกษา ตนยังไม่ได้ปฏิเสธ เพราะยังไม่รู้ว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะทำเสร็จแล้วจะต้องทูลเกล้าฯถวายจะมาตั้งกันเองไม่ได้ ทุกอย่างตั้งให้ถูกต้องตามกฎหมายถึงจะทูลเกล้าฯถวายได้
“ผมขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ คือ ไปดูข้อกฎหมายให้ถี่ถ้วน และดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย และแม้ว่าข้อเสนอนั้นจะเป็นข้อเสนอที่ดี แต่ไม่ถูกกฎหมายสุดท้ายก็จะติด” นายนิวัฒน์ธำรง กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา เชิญรัฐบาลไปหารือ นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า รัฐบาลยินดี และเปิดกว้างที่จะพูดคุยอยู่แล้ว แต่ขอให้ทำในสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งตนอาจจะเชิญนายสุรชัยกับคณะ 3-4 คนมาคุยวงเล็กก่อนก็ได้ว่า ส.ว. มีแนวคิดอย่างไรแล้ว เราจะเดินไปได้อย่างไร ซึ่งถ้าแนวทางนั้นถูกต้องตามกฎหมายรัฐบาลก็ต้องปฏิบัติอยู่แล้ว เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้ใช่ไหมที่รัฐบาลจะเชิญ ส.ว. มาคุย นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า ก็ต้องคุยกันอาจจะเริ่มวงเล็กๆ ก่อนฝ่ายละ 5 คน และเมื่อมีทางออกที่ดีก็ค่อยขยายวงขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ประกาศว่าหากวันที่ 16 พ.ค. ยังไม่ชัดเจนเรื่องการตั้งนายกฯ มาตรา 7 ก็จะปลุกมวลชนขึ้นมาจัดการเอง นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า วันนี้อยากให้ทุกคนมองกฎหมายรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนเพราะถ้าทำในสิ่งที่ไม่ถูกกฎหมายสุดท้ายมันก็จะไม่สำเร็จแถมยังยุ่งยาก และเหนื่อย ซึ่งตนเห็นว่าเรื่องนี้คงจะต้องมีการคุยกันแน่นอนในทุกกลุ่มเพียงแต่ขอให้ยึดหลักกฎหมาย การที่เราทำไปแล้วช้าไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้จะทำให้มีผลกระทบต่อประเทศอย่างรุนแรงโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ แม้ตนอยากให้จบเร็วๆ แต่ก็อยากให้จบโดยยึดกฎหมายเป็นหลัก
ผู้สื่อข่าวถามถึงเหตุผลในการล้มเลิกการหารือ กกต. วันนี้ นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลพยายามไม่ให้เกิดการยั่วยุและหากเป็นการพูดคุยในสถานที่ที่มีการชุมนุมรัฐบาลขอหลีกเลี่ยง เพราะอาจจะทำให้เกิดการยั่วยุ หรือเกิดประเด็นปัญหาขึ้นได้จึงพยายามหลีกเลี่ยง และขอไปเจรจาในสถานที่กลางๆ ที่จะไม่ทำให้เป็นเหตุให้เกิดการยั่วยุอาจจะเป็นที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เมืองทองก็ได้ หรือที่ไหนก็ได้ที่เป็นที่กลาง
นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า ตนยืนยันว่าการล้มเลิกการหารือ กกต. วันนี้ ไม่ใช่เป็นการเล่นแง่ แต่มีหลายเหตุผลซึ่งเหตุผลหนึ่งก็คือสถานที่ประชุม นอกจากนี้ ตารางการประชุมของประธาน กกต. เยอะมาก การเดินทางไปหลายๆ ที่ ก็จะลำบาก ตนยืนยันว่ามีความเข้าใจกันดีไม่มีปัญหาแต่อย่างใด และจะนัดใหม่ในวันพรุ่งนี้ (15 พ.ค.) เวลา 10.00 น. ที่กองทัพอากาศ ซึ่งหลายประเด็นที่ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่รัฐบาลมีคำตอบให้ กกต. อยู่แล้ว แต่ก็ต้องคุยกันในวันพรุ่งนี้