xs
xsm
sm
md
lg

3 ทางเลือก “สุรชัย” ผ่าทางตัน ต้องมี “ดีลพิเศษ” กว่าที่เห็น!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานการเมือง

ผลการประชุมสมาชิกวุฒิสภานัดพิเศษ วันที่สอง เมื่อวันอังคาร 13 พ.ค. ที่ผ่านมา การอภิปรายของ ส.ว. ทั้งสายเลือกตั้ง และสายสรรหา แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์การเมือง ยังคงหลากหลาย ตลอดเวลาสองชั่วโมง

ก่อนที่สุดท้าย สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา จะสั่งพักการประชุมแล้วก็ให้ ส.ว. ทั้งหมดไปปิดห้องคุยกันต่อ เมื่อช่วง 15.30 น. เพื่อนำคำอภิปรายต่างๆ ของ ส.ว. ทั้งหมดไปหารือลงลึกในรายละเอียด และแนวทางปฏิบัติว่าข้อเสนอต่างๆ ที่เสนอกันมา จะสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหนในทางปฏิบัติ

จึงต้องจับตากันต่อไปหลังจากนี้ว่า สุรชัย จะเล่นบทผู้นำในการหาทางออกให้กับการเมืองไทยได้อย่างไร และทำแล้วจะประสบความสำเร็จ หรือไม่

เนื่องจาก ฝ่ายรัฐบาล-พรรคเพื่อไทย และ นปช.-คนเสื้อแดง ตั้งป้อมค้านสุดตัว ประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมกับสุรชัย และวุฒิสภา

มี ส.ว. จำนวนไม่น้อยเสนอแนวทางในการประชุม ส.ว. นัดพิเศษ ไว้ว่า ต้องการให้สุรชัย และวุฒิสภา เล่นบท ผู้ประสานงาน-คนกลาง ในการเชิญชวนให้ “คู่ขัดแย้งทางการเมือง” ทุกฝ่ายมาร่วมเจรจาหาทางออกกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลรักษาการ-พรรคเพื่อไทย-พรรคประชาธิปัตย์-สุเทพ เทือกสุบรรณ และ กปปส.- นปช. และคนเสื้อแดง และมี ส.ว.บางราย อย่าง วันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา ที่เป็นแกนนำ ส.ว. ที่มีแนวคิดให้มีการทูลเกล้าฯ นายกรัฐมนตรี มาตรา 7 ยังเสนอให้ สุรชัย ไปพบกับองคมนตรีแล้ว

ยังเสนอว่า ปัญหาการเมืองทุกอย่างจะจบได้ ไปคุยกับใครก็ไม่สำคัญเท่ากับต้องไปคุยกับ ทักษิณ ชินวัตร เรียกว่าเป็นข้อเสนอที่แม้หลายคนจะเห็นด้วยว่าเป็นเรื่องจริง แต่ก็ทำเอา ส.ว. จำนวนไม่น้อย ได้ยินแล้วอึ้งไปตามกัน

ทำให้ถึงตอนนี้ พอจะสรุปได้ว่า เนื้อหา-ประเด็นหลักๆ ที่ ส.ว. หลายคนอภิปรายเสนอทางออกประเทศไทยกันในช่วง 12-13 พ.ค. ที่ผ่านมา นอกจากเรื่องเสนอให้สุรชัย ใช้ความกล้าหาญในการผ่าทางตันประเทศไทย ด้วยการทูลเกล้าฯ นายกรัฐมนตรีตาม มาตรา 7 ซึ่งพบว่าแนวคิดดังกล่าว ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.สรรหา จำนวนมาก ที่มีการอภิปรายเรื่องนี้ในที่ประชุมแล้ว

ก็ยังมีข้อเสนอให้ สุรชัย ทำหน้าที่เป็นเสมือน “คนกลาง” ในการเรียกคู่ขัดแย้งต่างๆ มานั่งร่วมโต๊ะพูดคุย เพื่อรับฟังข้อเสนอจากทุกกลุ่ม เช่น เรื่อง ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป แต่ละฝ่ายมีข้อเสนออย่างไร แล้วเจรจาหาทางออกร่วมกัน หรือ หากสุรชัย ไม่สะดวก เพราะบางฝ่ายอาจไม่ยอมรับ ก็ให้ใช้วิธีให้ วุฒิสภา ที่ถือเป็นองค์กรนิติบัญญัติองค์กรเดียวในเวลานี้เป็นเวทีกลาง ให้ทุกกลุ่มที่จะต้องมีหน่วยงานราชการ เช่น ตัวแทนกองทัพ ตัวแทนหน่วยงานราชการ ตัวแทนองค์กรอิสระ มาเสนอทางออก และข้อคิดเห็นต่อสถานการณ์เวลานี้ ว่าควรเดินไปอย่างไร

ทั้ง 3 แนวทางหลัก ว่ากันตามจริงดูแล้ว ก็มีทั้งความเป็นไปได้ และความเป็นไปไม่ได้ แต่แนวทางให้ สุรชัย-วุฒิสภา เป็นคนกลาง-เวทีกลาง ในการเปิดให้แต่ละฝ่ายมาพูดคุยหาทางออกดูแล้ว เป็นแนวทางที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด

แรงต้านแม้จะมีบ้าง แต่เชื่อว่าเป็นแนวทางที่หลายฝ่ายยอมรับ และสนับสนุนมากกว่าจะให้ สุรชัย เล่นใช้วิธี ทูลเกล้าฯ เสนอนายกฯมาตรา 7 อย่างที่ สุเทพ และ กปปส. ต้องการ

ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่ใกล้แตกหักแบบนี้ มีมุมมองว่าหากสุรชัย ไปเร่งทูลเกล้าฯ เสนอนายกฯ มาตรา 7 จะยิ่งทำให้สถานการณ์บานปลาย กู่ไม่กลับ ยิ่งไปอีก แม้ในความเป็นจริง หลายคนก็เห็นตรงกันว่า สถานการณ์เวลานี้มันเลยจุดของการพูดคุย-เจรจากันไปแล้ว

เพราะยังไง สุเทพ-กปปส. ก็ไม่มีทางจะไปพูดคุยกับฝ่ายรัฐบาล-พรรคเพื่อไทย-เสื้อแดง ได้อีกแล้ว เพราะหากสุเทพทำ ก็เท่ากับเป็นการทำผิดในสิ่งที่ได้บอกกับมวลมหาประชาชนว่า จะไม่เจรจาพูดคุยกับฝ่ายไหนทั้งสิ้น ต้องปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง และต้องได้รัฐบาลประชาชนอย่างเดียวเท่านั้น

เช่นเดียวกับฝ่ายเสื้อแดง-เพื่อไทย พรรคเพื่อไทยแม้ใจจริงก็ต้องการเจรจากับ กปปส.- ประชาธิปัตย์ แต่หากทำเช่นนั้นก็จะเสียทางการเมืองไม่น้อย โดยเฉพาะกับมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาลเพื่อไทย ที่จะมองว่าสถานการณ์เวลานี้ถูกรุกไล่อย่างหนักแล้วทำไมยังต้องไปเจรจาพูดคุยกับฝ่าย กปปส.- พรรคประชาธิปัตย์อีก มันต้องแตกหักสถานเดียว อะไรจะเกิด ก็ต้องเกิด

แนวทางที่เสนอให้ สุรชัย-วุฒิสภา เป็นคนกลางไปเจรจากับทุกกลุ่ม แม้แต่ระดับ องคมนตรี ประมุข 3 ศาล คือ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด โอกาสจะเกิดขึ้นยังมีอยู่ แต่จะต้องเป็น “ดีล” อะไรที่ “พิเศษ” เหนือกว่าที่หลายคนคาดคิด เช่น ต้องมีมือประสานระดับซุปเปอร์คอนเน็กชั่น ที่แกนนำในแต่ละฝ่ายจะต้องเกรงใจลงมาช่วย สุรชัย ไม่เช่นนั้น ยากมากที่ สุรชัย จะทำการได้สำเร็จ

ส่วนเรื่อง นายกฯ มาตรา 7 แม้ ส.ว. สรรหาจำนวนมากที่ช่วยเทเสียงให้ สุรชัยได้เป็นประธานวุฒิสภา จะพยายามบอกให้สุรชัย ใช้แนวทางนี้ไปเลย แต่ก็เชื่อว่า สุรชัย ถึงเวลาต้องตัดสินใจจริงๆ ก็ไม่ได้ฟังแค่ ส.ว. ในกลุ่ม หรือฝ่าย กปปส. เท่านั้น คงต้องรอฟังสัญญาณอะไรหลายอย่างพอสมควร ถึงจะกล้าทำแบบนั้น

อย่างไรก็ดี หากฟังคำปราศรัยของ สุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อค่ำวันที่ 12 พ.ค. หลังสุเทพไปเจอกับสุรชัย ที่รัฐสภา ตัวสุเทพ ก็บอกไว้แล้วว่า ถ้าวุฒิสภาดำเนินการเรื่องนายกฯ ให้ไม่ได้ ฝ่าย กปปส. ก็พร้อมจะทำเอง แสดงให้เห็นว่า กปปส.-มวลมหาประชาชน เองก็ไม่ได้ถึงกับขีดเส้นตายให้ สุรชัย ต้องทำเรื่องนี้ให้ได้

แม้ล่าสุด เมื่อช่วงเย็นวันที่ 13 พ.ค. ฝ่าย กปปส. จะออกแถลงการณ์ว่า จากสถานการณ์ในเวลานี้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องหานายกฯ และรัฐบาลอำนาจเต็มมาทำหน้าที่โดย กปปส. บอกว่า วุฒิสภาเพียงองค์กรเดียวที่เป็นองค์กรโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นอำนาจโดยชอบธรรมที่วุฒิสภา จะเร่งหารัฐบาลใหม่มาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ จ่ายเงินให้ชาวนา และเดินหน้าปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมกันเรียกร้องไปยังประธานวุฒิสภา เพื่อให้หานายกฯ ตามความคาดหวังของประชาชนโดยทันที

สำหรับประเด็นที่ “สุรชัย” บอกไว้ว่า ทุกอย่างจะจบภายในสัปดาห์นี้ แต่ยังไม่บอกจะจบแบบไหน น่าจะทำให้เชื่อได้ว่า สุรชัย มีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่าจะทำอย่างไร เพียงแต่ขอรอประเมิน ผลดี-ผลเสียโดยละเอียด และรอบคอบ ต่อสิ่งที่จะตามมาเมื่อตัดสินใจลงไป
กำลังโหลดความคิดเห็น