หน.ปชป. โพสต์เฟซบุ๊ก ยกกรณีพฤษภา 35 แต่งตั้ง “อานันท์” เป็นนายกฯ สะสางปัญหา หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้วิกฤตคลี่คลายลง อีกด้านยกอิตาลี แต่งตั้งนายกฯ ไม่ได้มาจาก ส.ส. แต่งตั้ง ครม. ปลอดนักการเมืองแก้ปัญหาต่างๆ ก่อนลาออกแล้วเลือกตั้งใหม่ ชี้ไม่มีใครบอกว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ยันหนุนนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง แต่ในสถานการณ์วิกฤตถามนักเลือกตั้งว่า พร้อมจะเปิดทางให้ประเทศหรือรักษาอำนาจ
วันนี้ (11 พ.ค.) เฟซบุ๊ก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ตีพิมพ์บทความหัวข้อ “วีรบุรุษประชาธิปไตยกับนายกฯ จากการเลือกตั้ง” โดยมีเนื้อหาว่า ขณะที่หลายฝ่ายเริ่มมองเห็นทางออกของประเทศว่าน่าจะต้องมีรัฐบาลเฉพาะกาล หรือนายกรัฐมนตรีคนกลาง เสียงคัดค้านจากฝ่ายรัฐบาล และ นปช. จะตอบโต้ว่านายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้ตนนึกถึงเหตุการณ์ในอดีตทั้งในประเทศ คือวันที่คนไทยออกมาต่อสู้ให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 35 หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ลาออกจากนายกรัฐมนตรี ระหว่างมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งเสียงข้างมากในสภา ซึ่งเคยเป็นผู้สนับสนุน พล.อ.สุจินดา ก็หันมาสนับสนุน พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากประชาชนที่ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
“วันนั้น ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ผ่าทางตันด้วยการทูลเกล้าฯ เสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งไม่ได้เป็น ส.ส. ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เข้ามาสะสางปัญหาจากเหตุการณ์ความไม่สงบ และยุบสภา เมื่อรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้ วิกฤตจึงคลี่คลายลง ดร.อาทิตย์ ได้รับการขนานนามว่าเป็น “วีรบุรุษประชาธิปไตย” ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ท่านเสนอชื่อบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ ยังได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ในประเทศอิตาลี เมื่อปี 54 ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจและความวุ่นวายทางการเมือง หลังจากนายเบอร์ลุสโคนีลาออก ประธานาธิบดีอิตาลีได้แต่งตั้งนายมาริโอ มอนติ ซึ่งไม่ได้เป็น ส.ส. มาเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาหลังจากหารือกับพรรคการเมืองทุกพรรค นายมอนติ ได้แต่งตั้ง ครม. ที่ปลอดนักการเมืองมาคลี่คลายปัญหาต่างๆ แล้วจึงลาออกและมีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรในปี 56 โดยไม่มีใครบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นประชาธิปไตย
“ยกทั้งสองเหตุการณ์นี้ขึ้นมาไม่ได้หักล้างหลักการว่าในระบอบประชาธิปไตย นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง ผมยังสนับสนุนหลักการดังกล่าวไม่เปลี่ยนแปลง แต่ต้องการจะชี้ให้เห็นว่าในสถานการณ์วิกฤต เพื่อมาคลี่คลายสถานการณ์ในระยะเวลาสั้นๆ หรือเมื่อพรรคการเมืองทั้งหลายยินยอมพร้อมใจ นายกฯคนกลางอาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุด เพื่อเดินหน้าประเทศและรักษาประชาธิปไตยได้ นำบ้านเมืองไปสู่การเลือกตั้งที่เรียบร้อย ให้ประชาชนมั่นใจว่าคนที่มาจากการเลือกตั้งจะนำพาประเทศไปสู่ความสงบ ทำงานให้ประชาชน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของระบอบประชาธิปไตยเหมือนกัน วันนี้จึงต้องถามนักเลือกตั้งไทยว่า พร้อมจะเปิดทางให้ประเทศหรือไม่ หรือจะอ้างประชาธิปไตยบังหน้ารักษาอำนาจตัวเองต่อไป” นายอภิสิทธิ์ระบุ