xs
xsm
sm
md
lg

“เพื่อแม้ว” แถลงโต้ “อภิสิทธิ์” โรดแมปไม่จริงใจ สุมหัว กปปส.- องค์กรอิสระจ้องรัฐประหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายโภคิน พลกุล (ภาพจากแฟ้ม)
พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ตอบโต้โรดแมปอภิสิทธิ์ ชี้ไม่จริงใจ ขัดประชาธิปไตย อ้างสมคบคิด กปปส.- องค์กรอิสระทำรัฐประหาร ย้ำเลือกตั้งก่อนแล้วค่อยปฏิรูปในสภา แล้วใช้ประชามติ “โภคิน” อ้างเปิดประชุมวุฒิฯ เลือกประธานคนใหม่ไร้กฎหมายรองรับ อ้างเลือกตั้ง ส.ส. ไม่เสร็จ “พร้อมพงศ์” เผยเตรียมติดตามผลตัดสินศาลรัฐธรรมนูญพรุ่งนี้

วันนี้ (6 พ.ค.) ที่พรรคเพื่อไทย นายโภคิน พลกุล คณะกรรมการกิจการพรรค และฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย อ่านแถลงการณ์ “การเลือกตั้งและความยุติธรรมเท่านั้นคือทางออกของประเทศ” ช่วงหนึ่งว่า พรรคเพื่อไทยยินดีและมีความหวัง เมื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่าการเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบประเทศ แต่เมื่อนายอภิสิทธิ์ นำเสนอแผนเดินหน้าประเทศไทย ขอให้รัฐบาลเลื่อนการตราพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งออกไป ขอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดทางไปสู่รัฐบาลคนกลาง โดยประธานวุฒิสภาจะเป็นผู้สรรหานายกฯ และคณะรัฐมนตรี รัฐบาลจะมาปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง โดยใช้เวลา 150 - 180 วัน ส่วนการเลือกตั้งให้เลื่อนไป 5 - 6 เดือน และต้องการรอคำตอบของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพียงคนเดียว

ทั้งนี้ พรรคเห็นว่าข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ สับสน และไม่ได้เป็นไปอย่างจริงใจ ขัดหลักประชาธิปไตย ไม่อยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย รวมทั้งความพยายามให้มีนายกฯ มาตรา 7 หรือนายกฯ คนกลาง ก็มาจากพรรคประชาธิปัตย์, กปปส. และแนวร่วม โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญ การเสนอของนายอภิสิทธิ์ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลาออกจากตำแหน่ง ก็ไม่แตกต่างจากที่เคยเสนอในปี 2549 เป็นการสืบทอดแนวคิดทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าขัดรัฐธรรมนูญ เพราะปัจจุบันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ไปแล้ว แต่รัฐธรรมนูญบังคับให้ต้องทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งต้องผ่านการเลือกตั้งเสียก่อน

นายโภคิน แถลงว่า การเสนอให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้สรรหานายกฯ และคณะรัฐมนตรี เป็นข้อเสนอนอกรัฐธรรมนูญ เพราะสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นที่มีสิทธิเสนอและเลือกนายกฯ เพราะนายกฯ ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเฉพาะประธานสภาผู้แทนฯ เท่านั้นที่เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ วุฒิสภาไม่มีอำนาจหน้าที่ใดๆ เกี่ยวกับการเสนอและเห็นชอบบุคคลเป็นนายกฯ หากกระทำไปก็จะเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การที่รัฐบาลคนกลางจะไปดำเนินกระบวนการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง โดยการทำแผนและทำประชามติร่วมกับ กกต.ก็ไม่อาจทำได้ตามรัฐธรรมนูญ

การที่ต้องการรอคำตอบจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพียงคนเดียว เท่ากับเป็นการสร้างเงื่อนไข เพื่อเอื้อข้อเสนอของตน และ กปปส. ที่ขัดรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้มีอำนาจตราพระราชกฤษฎีกาแต่เพียงผู้เดียว คงต้องหารือกับ กกต. และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่ขณะนี้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ การเสนอเช่นนี้จึงไม่บังควรอย่างยิ่ง ทำนองเดียวกับที่เคยเสนอเรื่องมาตรา 7 ในปี 2549 จนมีพระราชดำรัสไม่ทรงเห็นชอบด้วยมาแล้ว

นายโภคิน อ่านแถลงการณ์อีกว่า มีกระบวนการสมคบคิดกันระหว่างพรรคการเมืองบางพรรค กปปส. และองค์กรตามรัฐธรรมนูญบางองค์กร เพื่อทำรัฐประหารรูปแบบใหม่ด้วยการทำลายระบอบประชาธิปไตย ไม่เอาการเลือกตั้ง ใช้อคติ ไม่มีความยุติธรรม เลือกปฏิบัติเพื่อให้เกิดความขัดแย้ง เพื่อสร้างสุญญากาศไปสู่การมีนายกฯ ที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง จึงต้องจับตาดูว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดี นายถวิล เปลี่ยนศรี อย่างรวดเร็วหรือไม่ จะมีคำสั่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประเทศไม่มีรัฐบาล เพื่อปูทางให้วุฒิสภาไปละเมิดรัฐธรรมนูญตั้งนายกฯ คนกลาง ต่อไปหรือไม่ กองทัพจะออกมาสนับสนุนกระบวนการที่ขัดรัฐธรรมนูญเช่นนี้หรือไม่ กกต. จะทำตามนายอภิสิทธิ์ และ กปปส. ด้วยการเลื่อนการเลือกตั้งที่ตนเสนอเองออกไป จนไม่มีการเลือกตั้งหรือไม่

พรรคเพื่อไทย ขอย้ำว่าจะต้องเดินหน้าเลือกตั้ง 20 ก.ค. โดยทุกพรรคนำเสนอแนวทางปฏิรูปประเทศไทยของตนต่อประชาชน หลังเลือกตั้งทุกฝ่ายต้องร่วมกันผลักดันให้มีกฎหมายรับรององค์กรปฏิรูป เมื่อแผนและแนวทางปฏิรูปแล้วเสร็จ ให้นำไปทำประชามติ รัฐบาลที่ตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งจะอยู่ไม่เกิน 12 เดือน เพื่อสนับสนุนกระบวนการปฏิรูป จากนั้นจะมีการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ หลังจากมีแผนและแนวทางปฏิรูปแล้ว

นายคณิน ยังแถลงกรณีมีข่าวว่าจะมีการเปิดประชุมวุฒิสภาเพื่อเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่ แทน นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ว่า ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไม่สามารถทำได้ อีกทั้งไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการได้ ส่วนที่มีบทบัญญัติกำหนดข้อยกเว้นในการเปิดประชุมวุฒิสภา ขณะนี้ยังไม่มีเหตุที่เข้าตามบทบัญญัติที่จะเปิดประชุมได้นั้น เมื่อมีการยุบสภา และเลือกตั้ง ส.ส. ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการเรียกประชุมรัฐสภาชุดที่ 34 แต่เนื่องจากการเลือกตั้ง ส.ส. ยังไม่เสร็จสิ้น จึงอยู่ในภาวะก้ำกึ่งที่วุฒิสภาจะประชุมเพื่อเลือกประธานวุฒิสภา ขณะที่ไม่มีรัฐสภาและสภา จึงไม่สามารถทำได้ ญัตติที่เสนอให้เปิดประชุมเลือกประธานวุฒิสภา วันที่ 9 พ.ค. จึงต้องตกไป เพราะไม่มีกฎหมายรองรับเอาไว้

ด้าน นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยมีมติไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเห็นว่าขัดกับหลักรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นประชาธิปไตย และประชาชนไม่มีส่วนร่วม ซึ่งพรรคเพื่อไทยเห็นว่า การเลือกตั้งคือทางออกที่ดีที่สุด กับการแก้ปัญหาของประเทศในขณะนี้ เพราะประชาชนได้มีส่วนร่วม และไม่ขัดรัฐธรรมนูญหลักประชาธิปไตย พรรคเพื่อไทยตั้งข้อสังเกตว่า ข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ มีนัยหวังผลทางการเมือง และมีความสอดคล้องกับองค์การอิสระใช่หรือไม่

ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการพิจารณาสถานภาพของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ในการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาฯ สมช. ทั้งนี้ ทางพรรคเพื่อไทยยังเชื่อว่า การตัดสินของศาลจะเป็นการตัดสินที่ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้น และจะเป็นทางออกของการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

ส่วนกรณีที่ กกต. ยังไม่สามารถเสนอร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้ง เพื่อนำมาเสนอแก่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีการเสนอทูลเกล้าฯ กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ทางพรรคเพื่อไทยมีความกังวล เพราะไม่อยากให้เลื่อนออกไป อยากให้ กกต. เร่งเสนอร่างโดยเร็ว เพื่อจะได้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเร็วที่สุด เพราะเป็นประโยชน์กับประเทศ

ทั้งนี้ นายพร้อมพงศ์ กล่าวอีกว่า ในวันพรุ่งนี้ (7 พ.ค.) พรรคเพื่อไทยจะมีการติดตามผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่เวลา 10.00 น. โดยจะมีทั้งแกนนำและทีมกฎหมายขอพรรคเพื่อไทย ร่วมสังเกตการณ์คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือถึงกรณีที่ ส.ว. จะเลือกประธานวุฒิสภา ในวันที่ 9 พ.ค. นั้น ทางพรรครู้สึกเป็นห่วง ส.ว. ที่ไปเห็นด้วยให้มีการเลือกประธานวุฒิสภาจะทำขัดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 132 ไม่ได้ให้อำนาจไว้ ผิดธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยมีมา การกระทำดังกล่าวสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และอาจมีคนไปร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลรัฐธรรมนูญ เอาผิดฐานจงใจทำขัดต่อหน้าที่

“ผมอยากให้ ส.ว. ที่ต้องการให้มีการเลือกประธานวุฒิสภา ได้ทบทวนและกลับไปดูรัฐธรรมนูญให้ดีก่อน จะตีความเข้าข้างตัวเองไม่ได้ หรือมีนัยยะแอบแฝงเกี่ยวกับนายกฯมาตรา 7 หรือไม่ และประชาชนจะคิดว่าเป็นการฉ่อฉลอำนาจหรือไม่” นายพร้อมพงศ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น