“อภิสิทธิ์” เปิดแผนเดินหน้าประเทศ เสนอ “ยิ่งลักษณ์” ลาออกพร้อม ครม. ทั้งคณะ ประธานวุฒิฯ ทูลเกล้าฯ นายกฯ คนกลาง ตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลวางกรอบปฏิรูป 5-6 เดือน ก่อนจัดเลือกตั้ง ให้รัฐบาลใหม่ทำการปฏิรูป ใช้เวลา 1 ปี แล้วเลือกตั้งใหม่ เข้าสู่ภาวะปกติ ชี้ได้ทุกฝ่าย รัฐบาลได้เลือกตั้ง ส่วน กปปส. ได้ปฏิรูป จี้ “ปู” รีบตัดสินใจ วอน “สุเทพ” อย่าเพิ่งปฏิเสธ
วันนี้ (3 พ.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 10.15 น. ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้นำข้อเสนอ “ทางออกประเทศ” มาเปิดเผยต่อสาธารณชน หลังจากที่มีการเดินสายพบปะหารือกับทุกฝ่าย ยกเว้นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. โดยบอกว่าแผนนี้ทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยง 3 อย่าง คือ 1. หลีกเลี่ยงความสูญเสียชีวิตของประชาชนเพิ่มเติมจากความขัดแย้ง 2. หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่เป็นไปตามแนวทางรัฐธรรมนูญ คือ รัฐประหาร 3. หลีกเลี่ยงการดึงเอาสถาบันที่อยู่เหนือการเมืองไม่ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือ ศาล เข้ามาอยู่ในวังวนของความขัดแย้ง ซึ่งถ้าทุกฝ่ายยอมรับข้อเสนอหรือแผนนี้ ประเทศจะสามารถเดินหน้าปฏิรูปได้ทันที โดยไม่มีปัญหาในเชิงข้อกฎหมาย มีความชัดเจนต่อเนื่อง และการปฏิรูปหลักๆ จะสำเร็จในเวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง และภายใน 150-180 วัน จะมีการเลือกตั้งที่เสรี สุจริต และเที่ยงธรรมเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได โดยจะมีรัฐบาลคนกลางที่ถูกกฎหมายมาเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจมาดำเนินการปฏิรูป ซึ่งจะดำเนินการหลังการเลือกตั้งภายใน 1 ปี
นายอภิสิทธิ์ เปิดเผยถึงขั้นตอนการดำเนินการตามแผนดังกล่าวว่า 1. ต้องขจัดเงื่อนไขใดๆ ที่เป็นอุปสรรค เริ่มต้นที่การชะลอการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ โดยอาจเป็นวันที่ 6 พ.ค. นี้ 2. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องใช้เวลาช่วงนี้ปฏิรูปการบริหารจัดการเลือกตั้งโดยใช้อำนาจที่ กกต. มีอยู่ออกหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น การหาเสียงเลือกตั้ง บทกำหนดโทษการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งให้เข้มงวดขึ้น 3. เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปร่วมกับ กปปส. ใช้เวลา 15-30 วัน จัดทำข้อเสนอจัดตั้งสภาปฏิรูปที่จะมาทำข้อเสนอปฏิรูปทั้งหมด โดยปลอดจากนักการเมือง และพรรคการเมือง กำหนดประเด็นการปฏิรูป จัดลำดับความสำคัญ รวมถึงกรอบเวลา และกำหนดแนวทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างไร
4. เมื่อข้อเสนอปฏิรูปเป็นรูปธรรมชัดเจนแล้ว จะนำไปทำประชามติตามรัฐธรรมนูญโดยใช้เวลา 90 วัน ให้ประชาชนเห็นชอบในกระบวนการปฏิรูปที่มีความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย ให้การลงประชามติมีผลผูกมัดรัฐบาลหลังเลือกตั้งว่าไม่สามารถฝืนเจตนารมณ์ของประชาชนที่จะปฏิรูปหลังการเลือกตั้งได้ 5. กระบวนการประชามติ 90 วันจะเป็นการพิสูจน์ความจริงใจของทุกพรรคในการร่วมกันรณรงค์สนับสนุนการปฏิรูป เป็นระยะเวลาการสร้างบรรยากาศการเลือกตั้งที่เรียบร้อย ทุกพรรคออกไปรณรงค์ปฏิรูปได้ทุกพื้นที่โดยไม่มีการขัดขวาง
6. การสร้างความมั่นใจในเรื่องการทำประชามติ และการเลือกตั้งต่อไปจำเป็นต้องมีรัฐบาลเฉพาะกาลคนกลางที่เกิดขึ้นบนการยอมรับของทุกฝ่าย มาบริหารจัดการการทำข้อเสนอปฏิรูป การทำประชามติ การปฏิรูป และจัดการเลือกตั้ง จะเกิดขึ้นได้ นายกรัฐบมนตรีต้องนำรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง หรืออาจไม่ลาออก แต่อาจปรับรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง แล้วตัวเองลาออก เพื่อเปิดทางไปสู่การมีรัฐบาลคนกลางที่มาจากการสรรหานายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ที่ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ดำเนินการสรรหาคนที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ รวมถึงเป็นที่่ยอมรับของรัฐบาลปัจจุบัน และ กปปส.
7. เมื่อรัฐบาลเฉพาะกาลนี้เกิดขึ้น ต้องเข้าใจตรงกันมาว่าเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจจำกัด ทำภารกิจหลักคือการบริหารช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตัังเท่านั้น ไม่มีอำนาจตรากฎหมาย แก้ไขกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่มีองค์กรนิติบัญญัติที่ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่รัฐบาลเฉพาะกาลนี้จะมีความคล่องตัวกว่ารัฐบาลปัจจุบัน ไม่มีส่วนได้เสียกับการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 จะมีความคล่องตัวในการแก้ไขปัญหา เช่น เงินจำนำข้าว ราคาแก๊ส และเรื่องอื่นๆ ซึ่งรัฐบาลรักษาการไม่สามารถทำได้
8. เมื่อการทำประชามติเสร็จเรียบร้อย การปฏิรูปเดินหน้า ก็จัดการเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน โดยทุกพรรคที่ลงเลือกตั้งต้องยืนยันว่าจะสนับสนุนการปฏิรูปหลังเลือกตั้ง หากไม่ทำจะถือว่าเป็นการหลอกลวง ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองและยุบพรรค และ 9. เมื่อเลือกตั้งเสร็จรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะมีอำนาจบริหารตามปกติแต่ถูกผูกมัดว่าต้องปฏิรูปประเทศให้เสร็จภายใน 1 ปี แล้วเลือกตั้งใหม่อีกรอบ ทุกอย่างก็จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ตนพูดตั้งแต่วันแรกแล้วว่าไม่มีฝ่ายไหนจะได้ 100% จากสิ่งที่ตนเสนอ แต่ฝ่ายต่างๆ น่าจะได้สิ่งที่เป็นความต้องการหลักของตัวเอง รัฐบาลได้เห็นการเลือกตั้งในกรอบเวลาที่ชัดเจน คนในรัฐบาลได้กลับไปลงเลือกตั้ง เพียงแต่ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้นถอยออกไปเป็นเวลาสั้นๆ 5-6 เดือน กปปส. ก็ได้รัฐบาลคนกลาง ได้สภาปฏิรูป ได้มั่นใจว่าการขัดขวางการปฏิรูปจะทำไม่ได้ เพียงแต่ไม่ได้สภานิติบัญญัติ หรือรัฐบาลที่ กปปส. จะเสนอ แต่สิ่งที่ได้ 100% คือประเทศ ได้ทั้งการเลือกตั้ง การปฏิรูป ไม่มีการนองเลือด ไม่มีรัฐประหาร สถาบันไม่ถูกละเมิด เศรษฐกิจได้รับการประคับประคอง ชาวนาได้เงิน ปัญหาต่างๆ แก้ไขได้ด้วยความคล่องตัวมากขึ้น
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ไม่เดินทางไปพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายสุเทพ นั้น เพราะหากไปพบก่อนประกาศข้อเสนอนี้ จะไม่เกิดประโยชน์ จะกลายเป็นเจรจาต่อรอง ข้อเสนอนี้ต้องเสนอไปที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก่อน เพราะรัฐบาลต้องไปยับยั้งบางสิ่งบางอย่างที่กำลังทำ และสามารถการตอบรับง่ายกว่า กปปส. เพราะฝ่ายรัฐบาลนั้นคนๆ เดียวคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตัดสินใจได้ แต่ กปปส. เป็นธรรมชาติของมวลชนต้องใช้เวลา จะส่งข้อเสนอนี้วันอังคาร ขอให้ 2 ฝ่ายพิจารณาข้อเสนอให้ละเอียด
“ผมจะฟังคุณยิ่งลักษณ์เพียงคนเดียว คนอื่นไม่เกี่ยว เพราะการตัดสินใจรับแผนนี้คุณยิ่งลักษณ์ทำได้คนเดียว ถ้าอยากให้อธิบายเพิ่มเติม ผมยินดีที่จะเข้าชี้แจง ผมอยากถามคุณยิ่งลักษณ์ว่า ข้อเสนอนี้มีตรงไหนที่เสียหายกับประเทศชาติ ในฐานะที่เป็นนักการเมือง คุณยิ่งลักษณ์ต้องการให้ประเทศเดินหน้าหรือไม่ สิ่งเดี่ยวที่ต้องเสียสละ คือ คุณยิ่งลักษณ์ต้องถอยออกไปจากอำนาจ 5-6 เดือน ถามว่าคุณยิ่งลักษณ์ถอยออกไป 5-6 เดือนได้ไหม ผมเป็นนักการเมืองโดยอาชีพ 20 ปี ยังยอมถอยออกจากการเมืองได้กว่า 2 ปี เพื่อบ้านเมือง แค่ 5-6 เดือนคุณยิ่งลักษณ์ถอยให้ประเทศได้หรือไม่”
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับนายสุเทพนั้น ถ้ารัฐบาลตอบรับหลักการตรงนี้ นายสุเทพจะเห็นภาพรัฐบาลคนกลาง และการปฏิรูป นั่นคือเป้าหมายการต่อสู้แล้ว เพียงแต่วิธีการที่จะเดินไปสู่เป้าหมายต่างกัน ขอเพียงอย่าเพิ่งรีบปฏิเสธ ข้อเสนอนี้ไม่มีการบั่นทอนการต่อสู้ ถ้ารัฐบาลพร้อม กปปส. จะเดินหน้าไปด้วยกันหรือไม่ อย่างไรก็ดี เชื่อว่าข้อเสนอนี้จะไม่สูญเปล่า หากมีการตอบรับประเทศเดินหน้า ไม่ตอบรับไม่เป็นไร สังคมไทยได้เห็นทางออกทางเลือกนี้แล้ว ใครเก่งกว่านำไปต่อยอดถือว่าคุ้มค่า
นายอภิสิทธิ์ กล่าวในตอนท้ายว่า ตนผ่าน 10 วันมานี้ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ค่อนขอด กระแหนะกระแหน แต่ก็ไม่ติดใจ ตนถือว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของนักการเมือง พรรคการเมือง ตนทราบดีว่าทุกคนต้องการเห็นประเทศเป็นอย่างไร ทุกคนเสียสละเหน็ดเหนื่อยแค่ไหนที่ต่อสู้เพื่อแนวทางที่ตัวเองเชื่อ แต่ขอถามหน่อยว่าประเทศเราจะเดินหน้าไปได้บนความขัดแย้งที่ไม่จบไม่สิ้นหรือไม่ เราจะสร้างบ้านเมืองบนความต้องการร่วมกัน หรือจะสร้างบ้านเมืองบนความเกลียดชัง ตนเชื่อว่าบ้านเมืองจะต้องเดินหน้าบนจุดร่วม บนความเป็นหนึ่งเดียวต่างหาก