รองประธานวุฒิสภา โยนที่ประชุมเลือกประธานวุฒิฯ เลยหรือไม่ แต่รับยังมีความเห็น 2 ทาง เชื่อ ส.ว.สายไหนก็ทำงานได้ ไม่ต้องยึดโควตา แนะคุณสมบัติต้องไม่เคยเกี่ยวพรรคการเมือง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา บอกถ้ารอมี ส.ส.ก็ไม่รู้จะได้เปิดประธานเมื่อไหร่ ปรามอย่ามอง พ.ร.ก.เปิดประชุมเฉพาะเรื่องเป็นเกมรัฐ
วันนี้ (2 พ.ค.) ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ฐานะปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการพิจารณาเลือกบุคคลให้มาดำรงตำแหน่งประธานและรองประธานวุฒิสภาว่า ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมที่จะเสนอเรื่องให้มีการอภิปราย หรือปรึกษาหารือร่วมกัน โดยส่วนตัวมองว่าประเด็นการเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาถือมีความสำคัญ เพราะในอนาคตยังมีภาระงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมสภานิติบัญญัติระหว่างประเทศ ดังนั้น หากไม่มีประมุขของวุฒิสภาการอนุมัติให้สมาชิกไปดำเนินการนั้นอาจจะเป็นปัญหาได้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการจะพิจารณาเลือกบุคคลดังกล่าวขณะนี้ยังมีความเห็นเป็น 2 ทาง คือ สามารถดำเนินการได้เพราะถือเป็นเรื่องของการแต่งตั้งบุคคลตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 (2) แต่อีกทางคือไม่สามารถทำได้ เพราะถ้อยคำในพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ. 2557 ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าสามารถทำเรื่องใดได้บ้าง ดังนั้นต้องให้ที่ประชุมได้หารือ และหากผลหารือเห็นว่าสมควรที่จะเลือก ต่อจากนั้นต้องมาพิจารณาว่าจะกำหนดวันเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาในวันใดต่อไป
นายสุรชัยกล่าวด้วยว่า สำหรับการเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่นั้น ตนมองว่าไม่ว่า ส.ว.ที่มาจากสายใดก็สามารถเข้ามาทำหน้าที่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องยึดโควตาอย่างที่เคยปฏิบัติมา แต่ตนมองว่าบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวต้องไม่มีประวัติยึดโยงกับพรรคการเมืองทั้งในอดีตหรือปัจจุบัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาเมื่อสมัยที่ผ่านมา ทั้งนี้ยอมรับว่าสังคมได้ตั้งความหวังไว้กับวุฒิสภาในการร่วมแก้ไขปัญหาบ้านเมือง
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ในพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ. 2557 กำหนดเรื่องที่จะให้ดำเนินการเป็นการเฉพาะจะมีผลเสียต่อการเลือกประธานวุฒิสภาหรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวตนอยากให้มองว่าสิ่งใดที่ทำแล้วสร้างประโยชน์กับบ้านเมืองและประเทศได้มากกว่า หากจะรอให้มีการเลือกประธานวุฒิสภา ภายหลังจากที่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้ามาทำหน้าที่ ตนไม่แน่ใจว่าการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปรอบใหม่ วันที่ 20 ก.ค.นั้น จะดำเนินการได้ หรืออาจจะเกิดเหตุซ้ำรอยวันที่ 2 ก.พ.ที่การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ ดังนั้นหากรอกระบวนการดังกล่าวก็ไม่ทราบว่าจะมีการเลือกประธานวุฒิสภาเมื่อใด ตนอยากให้ยึดตัวบทกฎหมายมากกว่ายึดตามตัวอักษร
ถามต่อว่า หากวุฒิสภาเดินหน้าเลือกประธานวุฒิสภา อนาคตจะมีปัญหาต่อการการนำชื่อให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ หรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปพิจารณา ประเด็นดังกล่าวนายกรัฐมนตรีก็ต้องดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอน แต่หากจะมีปัญหาจนต้องนำเรื่องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้นต้องพิจารณาอีกครั้ง
ถามว่า การกำหนดเรื่องเป็นเฉพาะไว้ในพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ. 2557 มีคนวิจารณ์ว่าเกมของรัฐบาล นายสุรชัยกล่าวว่า ตนไม่อยากให้มองเช่นนั้น เพราะหากมองอาจจะมีปัญหาระหว่างองค์กรได้