“ส.ว.ไพบูลย์” แย้มชงเลือกประธานวุฒิสภาในการประชุมสมัยวิสามัญเลย ลั่นเสนอ “สุรชัย” ชิงเก้าอี้แน่ ด้าน “นิคม” บอกเลือกสมัยนี้ไม่เคยมีมาก่อน อ้างให้ทำแค่แต่งตั้ง ฝาก ส.ว.ใหม่ศึกษาข้อบังคับการประชุมให้รอบคอบ แนะอ้างยังไม่พร้อมเลื่อนไปก่อนได้ ท้าถอดถอนทำเลยไม่ต้องรอ
วันนี้ (29 เม.ย.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และกลุ่ม 40 ส.ว. เปิดเผยว่า ภายหลังการประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญใน 2 วาระแล้ว ตนอาจจะมีการเสนอญัตติโดยวาจาเพื่อขอให้มีการเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาขึ้นมาทำหน้าที่ ในส่วนนี้ก็ต้องให้สมาชิกได้อภิปรายถึงกรอบกฎหมายให้ชัดเจน แล้วก็ดูว่าที่ประชุมจะเห็นอย่างไร ส่วนตนนั้นมองว่าสามารถเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาได้ เนื่องจากการเปิดประชุมครั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 132 (2) ที่ระบุว่า ให้วุฒิสภาทำหน้าที่พิจารณาบุคคลดำรงตำแหน่งตามบทบัญญัติรัฐธรรนูญ เมื่อประกอบกับมาตรา 124 ที่กำหนดว่า วุฒิสภามีประธาน 1 คน และรองประธาน 1 หรือ 2 คน จึงเห็นว่าสามารถทำได้ และถ้าหากที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าสามารถทำได้ ทางกลุ่มก็ยืนยันว่าจะเสนอนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภาเหมือนเดิม เพื่อที่เราจะได้บุคคลที่มีประสบการณ์มาดำเนินงานต่างๆ ให้มีความต่อเนื่อง
ด้านนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีการเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ ระหว่างวันที่ 2-10 พ.ค.ว่า การเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาในสมัยวิสามัญสามารถทำได้ซึ่งจะต้องมีการหารือต่อที่ประชุมก่อนว่าจะเห็นเป็นอย่างไร แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการเลือกประธานวุฒิสภาในการประชุมสมัยวิสามัญมาก่อน อีกทั้งการเปิดไปชุมในครั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 132 (2) เพื่อให้ทำหน้าที่ 2 เรื่อง คือ 1. แต่ตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิกประจำศาลปกครอง และ 2. แต่งตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบประวัติ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นกรรมการ ป.ป.ช.เท่านั้น
นายนิคมกล่าวว่า สำหรับ ส.ว.เลือกตั้งชุดใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่นั้น ตนขอฝากว่าให้ทำการศึกษาข้อบังคับการประชุมรวมทั้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบคอบ เพื่อเวลาที่ไปทำหน้าที่จะได้มีหลักการและเหตุผล อย่างเช่นกรณีหากมีการเสนอญัตติเลือกประธานวุฒิสภา แต่ ส.ว.เลือกตั้งชุดใหม่ที่เข้ามาทำหน้าที่เห็นว่าตนเองยังไม่พร้อมเพราะยังไม่ได้ทำความรู้จักกับเพื่อนสมาชิกอย่างเพียงพอก็สามารถเสนอญัตติขอเลื่อนการเลือกประธานออกไปก่อนได้ แล้วก็ลงมติกันว่าที่ประชุมจะให้เลือกหรือเลื่อน เป็นต้น ส่วนการจะถอดถอนตนนั้นก็ขอให้ทำได้เลย ไม่ต้องรอบรรยากาศอะไรให้ดีขึ้นมา เพราะตนพร้อมที่จะทำการชี้แจงอยู่แล้ว ก็ให้รู้ไปว่าผู้ที่ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ที่มีตามระเบียบข้อบังคับการประชุมและรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องถูกถอดถอน