สัมมนาวิชาการ 16 ปีศาล รธน.เรื่องการปฏิรูปการเมืองภายใต้หลักนิติธรรม “ชวน” ชี้การใช้หลักนิติธรรมมีปัญหา ทั้งผู้คุมนโยบายและผู้ปฏิบัติ ทำประชาชนคิดตั้งกองกำลังป้องกันตัวเอง พร้อมให้กำลังใจการทำหน้าที่ อย่าเกรงใจคนชั่ว “บวรศักดิ์” ระบุ รธน.ยกสถานะ ศาล รธน.เป็นองค์กรทำหน้าที่เทียบเท่ารัฐสภา ควบคุมการแก้ไข รธน. ป้องกันเผด็จการรัฐสภา แนะ 7 แนวทางปฏิรูป เริ่มจากทำ รธน.ให้เป็นกฎหมายทรงธรรม ถ้าจะแก้ต้องลงประชามติ พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไตย ยกเลิกประชานิยม เปลี่ยนเป็นรัฐสวัสดิการ สภามาจากพรรคการเมือง ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรค ส่วนวุฒิฯมาจากผู้เชี่ยวชาญ ขณะเดียวกันต้องปฎิรูปสื่อ และปฏิรูปตำรวจ ด้าน ช่อง 11 แสบตัดฉับถ่ายทอดสดช่วง “ชวน” พูด อ้างสัญญาณดาวเทียมขัดข้อง
วันนี้ (24 เม.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญได้จัดสัมมนาวิชาการในวาระครบรอบ 16 ปีศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง “การปฏิรูปการเมืองภายใต้หลักนิติธรรม” นายจรูญ อินทจาร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดการสัมมนาว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูป การเมืองไทยสอดคล้องกับปรากฏการณ์การเมืองไทยที่เกิดขึ้นขณะนี้ รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นจุดเริ่มต้นการปฏิรูปการเมืองไทย เป็นครั้งแรกที่การร่างรัฐธรรมนูญ เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนในชาติเพื่อปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นและมีประสิทธิภาพ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เสริมสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมให้เข้มแข็งขึ้น และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นครั้งแรก ปัจจุบันรัฐธรรมนูญปี 2550 มีเจตนารมณ์ต่อเนื่องจากฉบับที่แล้ว มุ่งเน้นหลักนิติธรรม ดังปรากฎตามมาตรา 3 วรรคสอง ดังนั้นการสัมมนาหัวข้อดังกล่าวจึงมีความสำคัญต่อการสนองตอบเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว
จากนั้นนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวติดตลกว่า หวังว่าพูดจบแล้วเอ็ม 79 จะไม่ลงบ้าน เพราะไม่ใช่บ้านตน เป็นบ้านเช่า ตนขอพูดในฐานะผู้ปฏิบัติและขอแสดงความยินดีที่สถาบันนี้ก่อตั้งมา 16 ปี ถ้านับอายุสถาบันหนึ่งก็ไม่นานนัก แต่ก่อนที่จะมาเป็นสถาบันก็เคยมีภารกิจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เมื่อมีการกำหนดตัวตนชัดเจน กำหนดบทบาทชัดเจน ทำให้ความเป็นองค์กร สถาบันได้รับการยอมรับ ประสบการณ์ 16 ปี เป็นประการณ์ไม่มาก ประเด็นผ่านการพิจารณาไม่มากมายเหมือนอายุการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 81 ปี ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ความเห็นของนักวิชาการจะยังแตกต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่สถานการณ์ขณะนี้ไม่ปกติธรรมดา เป็นปรากฏการณ์ที่สถาบันท่านต้องพบช่วงหนึ่ง ถ้าผ่านช่วงนี้ไปได้อนาคตน่าจะไม่เลวร้ายกว่านี้
นายชวนกล่าวว่า ในฐานะที่ทำงานด้านกฎหมาย และเป็นนักกฎหมายเชื่อว่าการปกครองที่จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนน่าจะจบลงด้วยการปกครองที่ยึดกฎเกณฎ์กติกา ทุกคนอยู่ภายใต้กฎกติกา ยึดหลักนิติธรรม กฎเกณฑ์ไม่ดีต้องแก้ไข เมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมาเป็นวันเกิดพรรคประชาธิปัตย์ นิมนต์พระมา โดยพระคุณเจ้าแสดงความเห็นเรื่องการปฏิรูปว่าต้องพูดให้ชัดว่าจะปฏิรูปอะไร เพราะฝ่ายโกงก็จะปฏิรูปการโกงให้แยบคายขึ้น ซึ่งการปฏิรูปคือการทำให้เกิดความเหมาะสมที่ดีขึ้น ไม่ใช่ทางที่ร้าย
นายชวนกล่าวว่า 81 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ล้มลุกคลุกคลาน เป็นการปรับปรุงตัวเองทั้งในทางบวกและลบ แม้มีสิ่งไม่พึงประสงค์เช่นการยึดอำนาจ ทหารกลายเป็นอุปสรรคในประชาธิปไตยสมัยนั้น ยุคสมัยที่ตนเป็น ส.ส.แรกๆ หรือ 45 ปีที่ผ่านมาเป็นประชาธิปไตยที่ไม่ได้มาจากประชาชนอย่างภาคภูมิใจ แต่ดีกว่าก่อนนั้นที่มีการปฏิวัติ ต่อมาการปฏิรูปหลักนิติธรรมมาพร้อมปฏิรูปการเมือง จากกึ่งเผด็จการ กลายมาเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น สอนคนไทยให้รู้ว่าประชาธิปไตยมีความหมาย การเมืองมีส่วนพัฒนาหรือปฏิรูปกลไกหลักนิติธรรมมาโดยลำดับในการให้สิทธิประชาชน แต่ถ้าเจาะจงเฉพาะว่าหลักนิติธรรมที่พูดถึง 80 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลักนิติธรรมมีการปฏิรูปมากน้อยแค่ไหน ต้องแยกเป็นประเด็น
“ยอมรับว่าการให้สิทธิประชาชนมีมากขึ้น แต่บางเรื่องไม่ได้ดีขึ้นกว่าเดิม เช่นกฎเกณฑ์กติการการเลือกตั้ง ซึ่งปัจจุบันทำผิดกฎหมายเลือกตั้งมากกว่ายุคก่อน ตนคิดรอบคอบแล้ว เมื่อเป็นนายกฯ จึงประกาศว่าไม่สามารถทำให้ทุกคนร่ำรวยเท่ากันได้ แต่ทำให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน คงเป็นรัฐบาลเดียวที่ประกาศอุดมคติ”
อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เหตุการณ์บ้านเมืองบางเรื่องวันนี้ไม่ได้เกิดจากภัยธรรมชาติ ความสูญเสียในภาคใต้ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ แต่เกิดจากความผิดพลาดของฝ่ายบริหาร ใช้วิธีการนอกกฎหมาย อย่างนโยบายปราบปรามยาเสพติดที่ใช้การฆ่าตัดตอน หรือนโยบายแก้ไขปัญหาภาคใต้ ที่ฝ่ายบริหารออกคำสั่งนอกเหนือกฎหมาย มีการสั่งให้ยิงทิ้ง จนกลายเป็นปัญหาในปัจจุบัน ทำให้เกิดการก่อตั้งกลุ่มอาร์เคเคเพื่อมาตอบโต้ ความผิดพลาดเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เลวร้าย ผลจากการปฏิบัตินอกหลักนิติธรรม ชัดเจนที่สุด
นายชวนกล่าวว่า การแก้ปัญหาโดยยึดหลักนิติธรรมนั้น ถ้าพูดรัฐบาลในช่วง 80 ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่ก็ไม่ยึดหลักนี้ ปัจจุบันแม้รัฐธรรมนูญมาตรา 3 จะกำหนดไว้ชัดเจนว่าทุกองค์กรต้องยึดหลักนิติธรรมเป็นการยอมรับความสำคัญก็จริงแต่ภาคปฏิบัติไมได้เป็นอย่างนั้น เพราะในทางปฏิบัติมีการละเมิดหลักนิติธรรมมากกว่าตอนยังไม่ได้เขียนไว้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องว่าแม้มีเขียนไว้แต่ถ้าผู้ปฏิบัติไม่ทำก็ไม่เป็นผล ซึ่งผู้ปฏิบัติไม่ได้หมายถึงผู้คุมนโยบบาย แต่ยังรวมถึงผู้รักษากฎหมายทุกคนด้วย จึงไม่แปลกที่ นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ จะลุกขึ้นมาขอมีกองกำลังของตนเอง เพราะพระคุณเจ้าในภาคใต้ก็คิดแบบเดียวกัน โทรศัพท์มาหาตนพร้อมกับบอกว่า อาตมาเห็นว่าเราควรฝึกอาวุธคนบ้านเราไว้ป้องกันตัว จะปล่อยให้เขามาทำเราฝ่ายเดียวได้อย่างไร ทำให้เราต้องมาคุยกันแล้วก็เห็นด้วย แต่มีเงื่อนไขว่า ถ้าจะฝึกก็ต้องให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ฝึก ดังนั้นการมองหลักนิติธรรมจึงไม่อยากให้มองแคบต้องปฏิบัติตามกฎหมายอาญาแต่เพียงอย่างแต่ แต่ควรขยายความหมายถึงสิทธิความชอบธรรมที่เขาควรได้รับตามกฎหมาย
นายชวนกล่าวอีกว่า 16 ปี ของศาลรัฐธรรมนูญ แม้จะมีประสบการณ์ไม่มาก แต่เมื่อพิจารณาถึงคุณสมบัติของผู้มาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่มือสมัครเล่น แต่เป็นมืออาชีพ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีในทุกองค์กร แต่สิ่งที่เป็นห่วงแม้ว่าจะผ่านประสบการณ์มานานแล้ว แต่ประสบการณ์ที่มีคนจ้องทำร้ายทำลายครอบครัวลูกเมียถึงขนาดตั้งกลุ่มคนคอยเล่นงานทุกวัน เชื่อว่าคงไม่เคยเจอ จึงขอให้กำลังใจการทำงานขององค์กรอิสระต่างๆ ว่า ขอให้เชื่อมั่นการทำสิ่งที่ถูกต้อง ให้อ่านพระราชดำรัส 4 ธ.ค. 2548 พระองค์พูดถึง The King can do no wrong ซึ่งมหากษัตริย์ทำผิดได้ แต่พระองค์ไม่ทำ ถือเป็นการเตือนคนทำงานว่าให้ระมัดระวังและทำสิ่งที่ถูกต้อง เราทุกคนเมื่อยึดหลักธรรมาภิบาลแล้วก็อย่าเกรงใจหรือหวั่นไหวกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
“ประสบการณ์แต่ละครั้งเป็นตัววัดอุดมการณ์ และความมั่นคงของคน อย่าให้คนต้องฝึกอาวุธเพื่อป้องกันตัวเอง อย่างน้อยให้มีสถาบันศาลที่คนรู้ว่าพึ่งพา เชื่อถือปกป้องความเป็นธรรมและทำสิ่งที่ถูกให้ถูก ทำสิ่งผิดให้ผิด อย่าไปกลัว อย่าไปเกรงใจ ผมรู้ว่าการคุกคามมีหลายรูปแบบไม่ใช้กำลังอย่างเดียว แต่มีการให้ผลประโยชน์ และวิธีการอื่น พฤติกรรมคนกลุ่มนี้มีอยู่ในสังคม ไม่มีอะไรดีเท่ากับเราต้องหยิบพระราชดำรัสในหลวงมาเป็นกำลังใจว่าบ้านเมืองมีทั้งคนดีและไม่ดีฯ ซึ่งพระราชดำรัสมีความหมายต่อทุกองค์กร ไม่ใช่ฉพาะการเมือง ข้าราชการ รวมทั้งสื่อฯ องค์กรศาสนา การให้ความรู้ความจริงประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ บ้านเราวิกฤติเพราะผู้มีหน้าที่ไม่ทำหน้าที่นั้น ละเลยหน้าที่ของตนเอง บ้านเมืองเราไม่ได้มีแค่เสาหลักแค่นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ยังมีอีกหลายเสา ถ้าแต่ละเสาไม่ทำหน้าที่ตนเองบ้านเมืองก็ทรุด ถ้าตระหนักว่าตนเองมีหน้าที่อะไร แล้วทำอย่างซื่อสัตย์สุจริตก็เชื่อว่าบ้านเมืองจะมีสิ่งคุ้มกันได้ อย่าหวังโยนความรับผิดชอบให้พระสยามเทวาธิราชมากเกินไป เพราะในที่สุดเราจะไม่รู้จักพึ่งตนเองไปพึ่งท่านทุกเรื่องไม่ได้ ประชาชนต้องตระหนักเรียนรู้ความจริงและยึดความถูกต้องเป็นสำคัญ”
ด้านนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ กล่าวตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ในประเทศไทย มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศ ทั้งฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาล คือ กลุ่ม กปปส. และตัวรัฐบาลเอง ที่ก่อนหน้านี้เคยพยายามตั้งสภาปฏิรูป ซึ่งตลอด 20 ปีที่ผ่านมานี้ กระแสปฏิรูปในโลกมีความรุนแรงขึ้น สิ่งสำคัญของการปฏิรูปมีจุดหมายเดียวกัน คือ เพื่อเพิ่มอำนาจความทรงธรรม และกำจัดอำนาจเสียงข้างมากให้อ่อนลง ถ้าหากพิจารณาประชาธิปไตย พัฒนาการประชาธปิไตยเคียงคู่กับหลักนิติธรรมตลอด การปฏิรูปประชาธิปไตยคือการปฏิรูปนิติธรรม ที่ผ่านมายังมีปัญหาและมีการหาทางออกมาโดยตลอด
การตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ควบคุมการตรารัฐธรรมนูญ ไม่ให้ขัดกับรัฐธรรมนูญ พร้อมกำหนดให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายผูกพันทุกองค์กร ทั้งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ได้บัญญัติไว้ แสดงให้เห็นว่าการยกสถานะศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เท่าเทียมกับรัฐสภา เพื่อพิทักษ์กฎหมาย ควบคุมกฎหมายเพื่อไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการควบคุมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นการป้องกันเผด็จการรัฐสภา เพื่อไม่ให้องค์กรที่รัฐธรรมนูญตั้งขึ้นมานั่นทำลายรัฐธรรมนูญเสียเอง
นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยพยายามจัดตั้งสภาปฏิรูป โดยก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่มุ่งเน้นในเรื่องการตรวจสอบทุจริต โดยมีการตั้งองค์กรตรวจสอบขึ้นมา เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวมทั้งการกำหนดมาตราการตรวจสอบ เช่น การยื่นบัญชีทรัพย์สิน
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ยังมุ่งเน้นไม่ให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ครอบงำองค์กรต่างๆ รวมถึงสื่อมวลชน เพราะในสมัยนั้นเคยมีรัฐบาลแรกที่เป็นประวัติศาสตร์อยู่ครบ 4 ปี เป็นนรัฐบาลที่ไม่สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภาได้ ทำให้หลักนิติธรรมถูกทำลาย และจบลงด้วยการปฏิวัติรัฐปหาร 19 ก.ย. 2549 ซึ่งทั้งหมดนี้รัฐธรรมนูญ ปี 250 ก็บัญญัติไว้เช่นกัน แต่เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบด้านจริยธรรมมากขึ้น เพื่อเพิ่มอำนาจการตรวจสอบและตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาโดยปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง แต่ปัจจุบันความขัดแย้งทางการเมืองก็ยังไม่จบสิ้น เพราะพรรคการเมืองชอบอ้างความชอบธรรมของเสียงข้างมาก ไม่รับฟังเสียงข้างน้อย ยังขยายอำนาจของตัวเองเช่นเดิม
นายบวรศักดิ์กล่าวด้วยว่า คิดว่าประเทศไทยควรจะปฏิรูปด้านความเป็นธรรม คือ 1. ปฏิรูปรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายทรงธรรม เหนือองค์กรทุกองค์กรที่รัฐธรรมนูญตั้งขึ้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในแต่ละครั้งต้องมีการลงประชามติจากประชาชน และพระมหมากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไตยทุกครั้ง ซึ่งถ้าประชาชนไม่เห็นชอบและพระมหากษัตริย์ไม่ลงพระปรมาภิไท ให้ถือว่าร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป นอกจากนั้น ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาทุกครั้งโดยอัตโตมัติ ก่อนการลงประชามติของประชาชน ถึงแม้ในขณะนี้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการตรวจสอบอยู่แล้ว แต่ต้องมีผู้ยื่นเรื่องเข้ามาถึงจะตรวจสอบได้
2. เห็นว่าการปฏิรูปต้องไม่ทำตามอำเภอใจของทุกองค์กร ทั้งที่ก่อนหน้านี้แม้แต่ระบอบราชาธิปไตย นิติธรรมยังอยู่เหนือพระมหากษัตริย์ ยิ่งในระบอบประชาธิปไตย จึงมิอาจปฏิเสธหลักนิติธรรมได้ แต่หลักนิติธรรม ไม่ใช่ลายลักอักษร แต่เป็นแนวทางในการปกครองที่มาจากหลักนิติธรรมตามธรรมชาติ ปราศจากอคติมาแอบแฝง ซึ่งทุกองค์กรต้องยึดในแนวทางปฏิบัติ ดังนั้น หลักนิติธรรมจึงอยู่เหนือกฎหมายที่เป็นลายลักอักษร ที่จะออกมาเพื่อขัดรัฐธรรมนูญไม่ได้
3. การปฏิรูปใหม่ จะต้องจัดการผลประโยชน์ ยกเลิกประชานิยม เปลี่ยนเป็นรัฐสวัสดิการ รัฐธรรมนูญ ปี 2540 และปี 2550 ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าถึงทรัพยากร เป็นช่องว่างให้พรรคการเมืองนักการเมืองฉวยโอกาสหาเสียงนโยบายประชาานิยม ดังนั้น การปฏิรูปการเมือง ต้องยกเลิกประชานินยม และการหาเสียงประชานิยมต้องระบุค่าใช้จ่ายในนโยบายอย่างละเอียด ให้หัวหน้าพรรคที่มีเสียงในรัฐสภา ต้องดีเบตนโยบายประชานิยมทางทีวี และต้องกำหนดว่าการกู้เงินของรัฐบาล ต้องทำเพื่อลงทุนเท่านั้น จะไปกู้เงินมาใช้เรื่องอื่นไม่ได้ พร้อมกันนี้ต้องจัดตั้งองค์กรจัดสรรทรัพยากร ที่มีอำนาจในการเสนอแนะและจัดสรรให้แกประชาชน โดยตราเป็นกฎหมาย ไม่ใช่ให้ตามอำเภอใจ
4. ควรปฏิรูปการแบ่งแยกอำนาจจากพรรคการเมือง และกลุ่มอาชีพต่างๆ โดยให้สภาผู้แทนมาจากพรรคการเมือง ส่วนวุฒิสภามาจากผู้เเชี่ยวชาญจากสาขาอาชีพต่างๆ เพื่อคานอำนาจกัน และในสภาผู้แทนณ ต้องยกเลิกให้ผู้สมัครส.ส.ต้องสังกัดพรรค เพื่อให้อิสระในการทำงาน พร้อมกันนี้ต้องมีการคุ้มครองฝ่ายเสียงข้างน้อยทางการเมือง โดยเฉพาะเฉลี่ยเวลาการออกสื่อฯทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลให้เท่าเทียมกัน นอกจากนั้นให้ข้าราชการตั้งสหภาพได้ เพื่อตรวจสอบการทำงานฝ่ายบริหาร และจัดให้มีการประเมินเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล รัฐสภา ได้ตลอดเวลา
5. ต้องปฏิรูปสื่อ ต้องให้สื่อฯ เป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงจากรัฐ และนายทุน ถึงแม้วันนี้จะมีสื่อฯ ที่ไม่ถูกแทรกแซงการทำงานจากรัฐ แต่สื่อฯก็ต้องตกอยู่ภายใต้นายทุน ทำให้ไม่เป็นอิสระในการนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา นอกจากนี้ต้องยุติสื่อฯที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง สื่อฯเลือกข้าง ไม่ว่าจะเป็นสื่อสีแดง สีน้ำเงิน สีเลือง
6. ต้องออกกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และ 7. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมต้นทาง คือ ตำรวจ ต้องปฏิรูปทุกระดับ
“ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญ ปี 2550 วางรากฐานไว้ดีแล้ว แต่เราต้องช่วยกันใส่เครื่องมือลงไป ฝ่ายบริหารต้องเคารพกฎหมาย ไม่หลีกเลี่ยงกฎหมาย ต้องเคารพคำวินิจฉัย เพราะถ้าฝ่ายบริหารไม่เคารพกฎหมาย หลักนิติธรรมจะล่มสลาย รัฐจะล้มเหลว ไม่อาจเป็นรัฐได้ ปัญหาต่างจะเกิดขึ้นกับสังคมโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เราคงไม่อยากเห็นคนไทยทุกคน ต้องตั้งกองกำลังของตนเอง ถ้ากฎหมายศักดิ์สิทธิก็ไม่จำเป็นตั้งกองกำลัง ถ้ารัฐเป็นผู้พิทักษ์กฎหมายเสียอง”
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการเสวนาในวันนี้ได้มีการถ่ายทอดสดจากสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 11) ซึ่งช่วงที่นายชวนบรรยายได้ระยะหนึ่งโดยกำลังพูดถึงพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น กลับพบว่าทางช่อง 11 ได้ตัดการถ่ายทอดสดทันที โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเพราะรัฐบาลอาจไม่ต้องการให้มีการเผยแพร่การบรรยายของนายชวน โดยเมื่อสอบถามไปยังนายปัญญา อุดชาชน ที่ปรึกษาศาลรัฐธรรมนูญ ได้ชี้แจงว่าการจัดงานในครั้งนี้ทางช่อง 11 ให้การสนับสนุนสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในการถ่ายทอดสดเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เนื่องจากมีคิวรายการต่างๆ รออยู่ อย่างไรก็ตาม ทางช่อง 11 ได้มีการบันทึกเทปการเสวนาครั้งนี้ไว้หมดแล้ว คาดว่าน่าจะมีการออกอากาศในภายหลัง
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ช่อง 11 มีการตัดการบรรยายของนายชวน พบว่ายังอยู่ในช่วงเวลา 1 ชั่วโมงที่ทางช่องจัดถ่ายทอดสดให้ โดยมีรายงานว่าทางฝ่ายเทคนิคได้แจ้งว่า เกิดจากสัญญาณดาวเทียมขัดข้อง