xs
xsm
sm
md
lg

“พร้อมพงศ์” ป้อง ศอ.รส. ออกแถลงการณ์แค่กันนองเลือด เตรียมหอบซองถาม ป.ป.ช. คดีสมัย ปชป.ไร้คืบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (ภาพจากแฟ้ม)
โฆษกเพื่อไทยออกโรงป้องแถลงการณ์ ศอ.รส. แค่เตือนสกัดนองเลือด ไม่ได้คุกคามองค์กรอิสระ อ้างไม่เคยส่งเจ้าหน้าที่ไปกดดัน การันตีเสียเองไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งใคร อีกด้านเตรียมหอบซองน้ำตาลถาม ป.ป.ช. คดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ปชป. อ้างไม่เห็นคืบหน้าเหมือนคดียิ่งลักษณ์

วันนี้ (20 เม.ย.) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงกรณีหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์คำแถลงของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศอ.รส.) 7 ข้อเป็นการแทรกแซงการทำงานองค์กรอิสระว่า ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยตรวจสอบเนื้อหาในแถลงการณ์ของ ศอ.รส. พบว่า ไม่ได้ทำเกินหน้าที่ในการดูแลความสงบเรียบร้อยของสังคม เพราะขณะนี้บ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ

ทั้งนี้ สิ่งที่ ศอ.รส. แถลงเพื่อรักษาความสงบ คลายความกังวล เพราะมีการพูดถึงองค์กรอิสระทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง อาจทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม ดังนั้น การกล่าวหาว่า ศอ.รส. กดดันองค์กรอิสระจึงไม่เป็นจริง ศอ.รส. ไม่เคยส่งเจ้าหน้าที่ไปกดดัน แต่ ศอ.รส. อาจได้ข้อมูลบางอย่างว่าบ้านเมืองอาจเกิดการนองเลือด จึงออกแถลงการณ์เตือนให้ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา ดูแล้วเป็นเกมการเมือง กดดดันการทำงาน ศอ.รส. มากกว่า

ส่วนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุจะดำเนินคดีกับผู้บริหาร ศอ.รส. ทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ข้อหากบฏ รวมถึงเรียกร้องให้ยุบ ศอ.รส. ทิ้ง เพราะทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งเองนั้น นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า เป็นแผ่นเสียงตกร่อง เป็นเกมการมือง สมัยพรรคประชาธิปัตย์ตั้ง ศอฉ. ก็มีการเรียกประชาชนไปรายงานตัว และมีการสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิต 99 ศพ ก็ยังไม่รับผิดชอบ เชื่อว่า ศอ.รส. ทำหน้าที่ตรงไปมา ไม่ใช่เป็นคู่ขัดแย้ง ขอให้เลิกยุแหย่ได้แล้ว

นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า ในวันที่ 21 เม.ย. เวลา 10.00 น. จะไปยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อสอบถามความคืบหน้าทางคดีสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ 7 เรื่อง ได้แก่ 1. กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี สั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 53 จนมีผู้เสียชีวิต 99 ศพ

2. กรณีโรงพักทดแทน 396 แห่ง 3. กรณีนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ มีคำสั่งปิดสัญญาณดาวเทียม เป็นเหตุให้ 36 เว็บไซต์ภายในประเทศ และ 15 เว็บไซต์ต่างประเทศ 15 ประเทศ ใช้งานไม่ได้ ในช่วงการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เดือน เม.ย. ปี 53 4. กรณีนายอภิสิทธิ์ ระบุว่า รัฐบาลประชาธิปัตย์มีแนวคิดจะซื้อดาวเทียมไทยคมคืน ทั้งที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่และไม่ได้แถลงไว้ในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา

5. กรณี ครม. มีมติปี 52 ให้ออกใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่พัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างร้ายแรง โดยไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 6. กรณีนายสุเทพส่อทุจริตต่อหน้าที่เกี่ยวกับวิกฤตน้ำมันปาล์ม 7. กรณีนายสุเทพในฐานะอดีตประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ปล่อยให้มีการทุจริตในคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง ในการปรับเพิ่มอัตราจัดเก็บเงินสงเคราะห์สวนยางตาม พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์การทำงานสวนยาง โดยคดีเหล่านี้ไม่มีความคืบหน้า เมื่อเทียบกับคดีรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ ป.ป.ช. ไต่สวนอย่างรวดเร็ว