“ยิ่งลักษณ์” ถก “กิตติรัตน์” ก่อนส่งแจงจำนำข้าว ป.ป.ช. “ทนายถุงขนม” เผยนายส่งคำแจงบางส่วนไปศาล รธน.แล้วหวังรักษาสิทธิ เหตุไม่ทราบศาลจะอนุญาตขยายเวลาหรือไม่ งัดแผนทยอยส่งเรื่อยๆ อ้างต้องใช้เวลารวบรวมเอกสารหลายหน่วยงาน สื่อเผยกฤษฎีกาให้ความเห็นชี้วุฒิฯ ถอด “นิคม” ไม่ได้
วันนี้่ (18 เม.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เดินทางเข้าสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เมืองทองธานี เพื่อติดตามรับฟังรายงานสถานการณ์การชุมนุมกลุ่ม กปปส. จากนั้นได้หารือร่วมกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง นายพิชิต ชื่นบาน ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย และทีมทนาย ก่อนที่บ่ายวันเดียวกัน นายกิตติรัตน์จะเดินทางเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะพยานนายกฯ ในคดีข้อกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว พร้อมทีมทนาย
ด้านนายพิชิตเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 เม.ย. น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ส่งคำชี้แจงบางส่วนไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว กรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.ร้องให้มีการวินิจฉัยสถานภาพความเป็นรัฐมนตรี ของนายกฯ และครม.จากกรณีการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ เนื่องจากยังไม่ทราบว่าศาลจะอนุญาตให้ขยายเวลายื่นคำชี้แจงอีก 15 วันตามที่ร้องขอหรือไม่ พร้อมกันนี้ได้สงวนสิทธิทำคำร้องกราบเรียนไปยังศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่าจะทยอยส่งคำชี้แจงพร้อมเอกสารประกอบเพิ่มเติมในระหว่างนี้ เนื่องจากการรวบรวมเอกสารจากหลายหน่วยงานต้องใช้เวลา ทั้งการคัดสำนวนจากศาลปกครองสูงสุด รวมถึงการคัดสำเนาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ด้วย
ขณะที่นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ตนเพิ่งได้รับหนังสือจากนางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา ที่ขอคำยืนยันและแนวทางในการเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยสามัญ ที่ต้องอาศัยอำนาจของนายกฯในฐานะฝ่ายบริหารนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 128 ประกอบมาตรา 195 เพื่อพิจารณาการถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช ออกจากตำแหน่งประธานวุฒิสภา หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด และสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ และวาระเพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงยังไม่ได้ดูในรายละเอียด
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในเบื้องต้นมายังรัฐบาลต่อการเสนอขอเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญว่า อาจทำได้เพียงการแต่งตั้งกรรมการ ป.ป.ช.เท่านั้น แต่ไม่สามารถดำเนินกระบวนการถอดถอนนายนิคมได้