“พงศ์เทพ” เมินศาลรัฐธรรมนูญ รับ-ไม่รับชี้สถานภาพ “ยิ่งลักษณ์” อ้างเด้ง “ถวิล” พ้นเลขาฯ สมช. “นายกฯ-ครม.” ไม่ได้แทรกแทง ส่วนวันเลือกตั้ง ต้องรอให้ กกต.หารือ
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รักษาการรองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.สรรหา ร่วมกับ ส.ว.อีก 28 คน เข้าชื่อต่อประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดลง จากกรณีการโยกย้ายตำแหน่งนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้เป็นที่ปรึกษานายกฯ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้คืนตำแหน่งดังกล่าวไปแล้วว่า ต้องถามว่าเขาไปร้องเรื่องอะไร แต่ปกติเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ต้องเป็นเรื่องที่ห้ามนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเข้าไปแทรกแซง แต่ทั้งนี้ต้องดูด้วยว่าการแต่งตั้งโยกย้ายเป็นอำนาจของใคร
“ยกตัวอย่างการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับปลัดกระทรวงการคลัง เป็นอำนาจของ รมว.คลัง จะไปบอกว่าแทรกแซงไม่ได้ ทั้งนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงเรื่องต้องเข้ามาที่ ครม. จึงไม่ได้แทรกแซงอะไร ถือเป็นเรื่องปกติ เป็นหน้าที่ตามกฎหมายในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย ส่วนการโยกย้ายจะชอบหรือไม่ชอบ เป็นเหตุผลอีกเรื่องหนึ่ง หากแต่งตั้งโยกย้ายโดยไม่มีเหตุผลก็เป็นเรื่องของศาลปกครองที่จะเพิกถอนคำสั่ง แต่จะบอกว่าไปแทรกแซงนั้นไม่เกี่ยวกัน เรื่องของนายถวิลถือว่าจบแล้ว เมื่อศาลปกครองมีคำสั่งมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เสนอวิธีการดำเนินการต่อไปมายัง ครม. และ ครม.ก็มีมติตามนั้น”
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องจะส่งผลอะไรหรือไม่ นายพงศ์เทพกล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าจะรับเรื่องในประเด็นไหน เพราะการแต่งตั้งโยกย้ายเกิดขึ้นในปี 2554 ส่วนที่เราพิจารณาในปี 2557 เป็นเพราะศาลปกครองมีคำสั่งมา
ผู้สื่อข่าวถามว่าคิดว่าเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับวินิจฉัยใช่หรือไม่ นายพงศ์เทพกล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าผู้ร้อง ร้องประเด็นอะไร แต่ในส่วนที่พิจารณาไปล่าสุดนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการแทรกแซงแน่นอน
ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยกลางกรณีวินิจฉัยให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 57 เป็นโมฆะ และจะมีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดการเลือกตั้งใหม่ได้เมื่อใดนั้น นายพงศ์เทพเปิดเผยว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประชุมในวันนี้ (1 เม.ย.) คงต้องรอฟังทาง กกต.ก่อน ในส่วนของรัฐบาลเมื่อมีคำพิพากษาของศาลออกมาได้ให้ทางกฤษฎีกาดูว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ซึ่งโดยปกติเมื่อ กกต.ออกพระราชกฤษฎีกาต้องผ่านทางรัฐบาล มีการหารือระหว่างสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและ กกต. เมื่อถามถึงการที่จะเชิญพรรคการเมืองมาหารือกัน รองนายกฯ กล่าวว่า เป็นส่วนของ กกต.ที่เชิญ ขณะนี้ตนยังไม่เห็นหนังสือเชิญ