xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : ย้อนรอย 10 เม.ย. 53 ...ชายชุดดำช่วยเสื้อแดงทำร้ายทหาร!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชายชุดดำที่ร่วมอยู่ในม็อบเสื้อแดงและมีอาวุธสงครามในมือ(10 เม.ย.53)
อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน

เหตุการณ์ทหารขอคืนพื้นที่จากกลุ่มเสื้อแดงบริเวณสะพานผ่านฟ้า ถึงแยกคอกวัวเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 ซึ่งเจ้าหน้าที่มีเพียงโล่ กระบอง แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง แต่กลับถูกชายชุดดำในกลุ่มเสื้อแดงตอบโต้ด้วยอาวุธสงคราม จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ในโอกาสครบ 4 ปี เรามาย้อนเหตุการณ์ในวันนั้นกัน

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

ย้อนกลับไป เมื่อเดือน เม.ย. 2553 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ปักหลักชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และแยกราชประสงค์ เรียกร้องให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภา ก่อนมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ทหารที่ขอคืนพื้นที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศตั้งแต่ช่วงบ่ายถึงช่วงค่ำวันที่ 10 เม.ย. เพื่อให้ประชาชนใช้สัญจรไปมา แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอม โดยต่อต้านและตอบโต้ทหารด้วยอาวุธนานาชนิด ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บทั้งสองฝ่ายกว่า 800 ราย และเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 20 ราย

โดยสถานการณ์ช่วงแรกก่อนจะเคลื่อนมาถึงจุดนองเลือดนั้น เริ่มด้วยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(ผอ.รมน.) พยายามใช้กฎหมายเพื่อบังคับให้แกนนำ นปช.นำกลุ่มเสื้อแดงย้ายการชุมนุมออกจากแยกราชประสงค์ เนื่องจากการชุมนุมสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนและภาคธุรกิจจำนวนมาก โดยนายกฯ ได้ให้ผู้แทนไปดำเนินการฟ้องต่อศาลแพ่ง (5 เม.ย.) อย่างไรก็ตาม ศาลได้ยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่าข้อกำหนดและประกาศของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศอ.รส.) ที่ให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ดังกล่าว มีผลบังคับใช้อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมาร้องขอให้ศาลบังคับตามข้อกำหนดอีกแต่อย่างใด ด้านแกนนำ นปช.ได้บิดเบือนคำสั่งศาลด้วยการประกาศต่อผู้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์ว่า ศาลยกคำร้องของนายกฯ แล้ว แสดงว่าผู้ชุมนุมสามารถชุมนุมที่แยกราชประสงค์ต่อไปได้ ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด

วันเดียวกัน (5 เม.ย.) แกนนำเสื้อแดงนำโดยนายขวัญชัย ไพรพนา และนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ได้นำผู้ชุมนุมไปปิดล้อมสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อกดดันให้ กกต.เร่งชี้มูลคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาท และการใช้เงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง 29 ล้านบาทที่พรรคประชาธิปัตย์ถูกร้องเรียนว่ากระทำการขัด พ.ร.บ.พรรคการเมือง ซึ่งมีโทษถึงขั้นยุบพรรค โดยผู้ชุมนุมเรียกร้องให้นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.ออกมาให้คำตอบว่าจะชี้ขาดคดีดังกล่าวเมื่อใด แต่เมื่อเจ้าหน้าที่แจ้งว่า ไม่มี กกต.อยู่ในสำนักงาน แกนนำเสื้อแดงก็ไม่พอใจ โดยนายอริสมันต์ขู่จะนำกำลังไปบุกบ้านพักนายอภิชาต ไม่เท่านั้น นายอริสมันต์ยังสั่งให้มวลชนบุกฝ่าแนวกั้นของตำรวจเข้าไปภายในสำนักงาน กกต.ด้วย

กระทั่งภายหลัง พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ได้เข้าเจรจาให้กลุ่มคนเสื้อแดงออกจากสำนักงาน กกต.ก่อน พร้อมประกาศว่าได้รับการยืนยันจากผู้ใหญ่ใน กกต.แล้วว่าจะทำสำนวนคดีพรรคประชาธิปัตย์ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 เม.ย. แม้ฟังแล้วแกนนำเสื้อแดงจะพอใจและยอมสลายตัว โดยบอกว่าจะกลับมาฟังข่าวในวันที่ 20 เม.ย. แต่นายอริสมันต์ได้พูดทำนองข่มขู่ กกต.ว่า กกต.จะต้องมีคำตอบเดียวเท่านั้น คือยุบพรรคประชาธิปัตย์

ต่อมาวันที่ 7 เม.ย. มีการประชุม ครม.ที่รัฐสภา ปรากฏว่า กลุ่มเสื้อแดงนำโดยนายนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง, นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสาน, นายพายัพ ปั้นเกตุ และนายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก ได้เคลื่อนพลไปปิดล้อมรัฐสภา ทั้งที่แกนนำเสื้อแดงได้ประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะไม่ไปปิดล้อมรัฐสภาเหมือนที่กลุ่มพันธมิตรฯ เคยทำ แต่ปรากฏว่ากลุ่มเสื้อแดงทำยิ่งกว่าพันธมิตรฯ เพราะนอกจากกลุ่มเสื้อแดงจะปิดล้อมรัฐสภาแล้ว ยังได้บุกเข้าไปภายในรัฐสภาด้วย จากนั้น นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย ได้นำ นปช. 5 คน ซึ่งแต่ละคนมีกลิ่นเหล้าคละคลุ้งไปควานหาตัวนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง โชคดีนายสุเทพ ออกจากรัฐสภาไปก่อน ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็ได้เดินทางออกจากรัฐสภา ไปประชุม ศอ.รส.ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) ก่อนหน้าที่กลุ่มเสื้อแดงจะเคลื่อนมายังรัฐสภาเช่นกัน

ทั้งนี้ การที่กลุ่มเสื้อแดงบุกเข้าไปภายในรัฐสภา ส่งผลให้นายอภิสิทธิ์ต้องเรียกประชุม ครม.นัดพิเศษ (7 เม.ย.) ที่ ศอ.รศ. ก่อนตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยครอบคลุมเขตพื้นที่ กทม., นนทบุรี และบางอำเภอของจังหวัดในเขตปริมณฑล ประกอบด้วยสมุทรปราการ, ปทุมธานี, นครปฐม และพระนครศรีอยุธยา

หลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รัฐบาลได้ประสานบริษัท ไทยคม ให้ตัดสัญญาณสถานีโทรทัศน์พีเพิลแชนแนลของกลุ่มเสื้อแดง เนื่องจากแกนนำปราศรัยปลุกระดมมวลชนด้วยการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและขัดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้านกลุ่มเสื้อแดงไม่พอใจที่พีเพิลแชนแนลถูกตัดสัญญาณ จึงเคลื่อนมวลชนด้วยรถบรรทุก รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ไปยังสถานีไทยคม ที่ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 9 เม.ย. เพื่อทวงสัญญาณคืน จึงได้เกิดการประจันหน้ากับทหารที่รักษาการณ์อยู่ที่สถานีไทยคม แม้ทหารจะสกัดผู้ชุมนุมด้วยการฉีดน้ำ และยิงแก๊สน้ำตา แต่ก็ไม่สามารถสกัดกลุ่มเสื้อแดงได้ เนื่องจากผู้ชุมนุมมีจำนวนมาก จากนั้นแกนนำเสื้อแดงได้นำรถโอบีมาอัพลิงก์สัญญาณภาพและเสียงเพื่อยิงขึ้นสู่ดาวเทียมไทยคมอีกครั้ง ทั้งนี้ ผลจากการปะทะระหว่างทหารกับกลุ่มเสื้อแดงที่บุกยึดสถานีไทยคม ทำให้มีผู้บาดเจ็บเล็กน้อยทั้งสองฝ่ายจำนวน 23 ราย

วันต่อมา (10 เม.ย.) ซึ่งเป็นวันที่จบด้วยการนองเลือด เริ่มด้วยกลุ่มเสื้อแดงนำโดยนายขวัญชัย ไพรพนา ได้นำผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศไปยังกองทัพภาคที่ 1 โดยอ้างว่า มีข่าวว่าทหารจะปฏิบัติการสลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง เมื่อไปถึง กลุ่มเสื้อแดงได้พยายามผลักดันไม่ให้ทหารออกจากกองทัพภาคที่ 1 จึงเกิดการปะทะกัน โดยทหารได้ฉีดน้ำเข้าใส่ผู้ชุมนุม ก่อนใช้แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง ตามหลักปฏิบัติจากเบาไปหาหนัก ทำให้ผู้ชุมนุมถอยร่นออกมา จากนั้นทหารได้เดินแถวเรียงหน้ากระดาน เพื่อยึดพื้นที่คืนจากกลุ่มเสื้อแดง ไล่ตั้งแต่บริเวณแยกมิสกวัน ไปถึงบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ทำให้เกิดการปะทะกันเป็นระยะๆ แม้จะมีผู้บาดเจ็บบ้างแต่ก็ไม่หนักหนาสาหัส

แต่เหตุการณ์เริ่มตึงเครียดและปะทะกันอย่างหนักในช่วงค่ำ โดยเจ้าหน้าที่ทหารที่เข้าขอคืนพื้นที่มีเพียงโล่ กระบอง แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง แต่ฝ่ายผู้ชุมนุมกลับมีอาวุธนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นก้อนหิน ไม้ ไปจนถึงอาวุธสงครามที่มีการยิงใส่กลุ่มทหารจนได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก รวมทั้งการนำถังแก๊สอัดดินระเบิดแล้วจุดไฟกลิ้งเข้าใส่ทหาร โดยจุดปะทะหลักๆ อยู่บริเวณแยกคอกวัว ผลจากการปะทะทำให้มีผู้บาดเจ็บทั้งสองฝ่าย 863 ราย (ยอด ณ วันที่ 12 เม.ย.) ขณะที่ผู้เสียชีวิตมี 21 ราย (เป็นพลเรือน 16 คน ทหาร 5 คน) สาเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่ถูกกระสุนปืน ระเบิด และถูกของแข็งกระแทก

ทั้งนี้ ในบรรดาผู้เสียชีวิตมีทหารระดับนายพันเสียชีวิตด้วย คือ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ โดยถูกยิงด้วยระเบิดเอ็ม 79 ที่ศีรษะ นอกจากนี้ยังมีนักข่าวชาวญี่ปุ่นของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่ติดตามทำข่าวเสียชีวิตจากการถูกยิงเช่นกัน ทราบชื่อคือ นายฮิโรยูกิ มารูโมโตะ ไม่เท่านั้น ยังมีทหารชั้นสัญญาบัตรที่บาดเจ็บสาหัส เช่น พล.ต.วลิต โรจนภักดี ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ บาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดเอ็ม 79 ทำให้ขาหัก 3 ท่อน, พ.อ.เกรียงศักดิ์ นันทโพธิเดช ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ ถูกสะเก็ดระเบิดที่สมอง และ พ.ท.นพสิทธิ์ สิทธิพงศ์โสภณ ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 3 รักษาพระองค์ โดนสะเก็ดระเบิดที่ขาทั้งสองข้าง

จากนั้น คืนวันเดียวกัน (10 เม.ย.) พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้เปิดแถลงหลังพบว่าการปะทะกันระหว่างทหารและผู้ชุมนุมทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก โดยบอกว่า มีผู้ชุมนุมบางส่วนยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่ทหาร รวมทั้งมีการใช้ระเบิดเอ็ม 67 และระเบิดแสวงเครื่องด้วยจนมีผู้มีบาดเจ็บจำนวนมาก ดังนั้น ศอฉ.จึงมีมติมอบหมายให้เลขาธิการนายกฯ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ประสานกับแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง เพื่อหยุดการปฏิบัติการของทั้ง 2 ฝ่าย

หลังสถานการณ์คลี่คลาย แกนนำ นปช.ยืนยันว่าจะไม่เจรจากับรัฐบาล พร้อมเปลี่ยนข้อเรียกร้องจากการยุบสภาภายใน 15 วัน เป็นการยุบสภาทันที และให้นายอภิสิทธิ์เดินทางออกนอกประเทศ ทั้งนี้ แกนนำเสื้อแดงยังพยายามปลุกระดมผู้ชุมนุมว่าทหารใช้อาวุธสงครามทำร้ายประชาชน พร้อมกันนี้ยังมีการนำมวลชนบุกไปชิงศพที่โรงพยาบาลหัวเฉียว โดยอ้างว่ามีเสื้อแดงเสียชีวิตที่นั่น 2 ศพ ก่อนนำศพมายังเวทีคนเสื้อแดงเพื่อปลุกอารมณ์ผู้ชุมนุมให้โกรธแค้นทหารและรัฐบาล ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.ประกาศจะนำศพคนเสื้อแดงที่เสียชีวิต 14 ศพใส่โลงสีแดงแห่ศพไปรอบกรุงเทพฯ ในวันที่ 12 เม.ย. ก่อนทำพิธีสวดศพที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เป็นที่น่าสังเกตว่า สื่อมวลชนหลายสำนัก เช่น สำนักข่าวรอยเตอร์ โมเดิร์นไนน์ทีวี สามารถบันทึกภาพเหตุการณ์ขณะทหารปฏิบัติการขอคืนพื้นที่จากผู้ชุมนุมจนเกิดการปะทะกัน โดยพบว่ามีชายสวมชุดดำไม่ต่ำกว่า 2 คน บางคนเหน็บผ้าแดงที่เอวร่วมอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม โดยชายดังกล่าวได้ใช้อาวุธสงคราม เช่น ปืนอาก้า ยิงเข้าใส่ทหาร ซึ่งปืนอาก้าเป็นปืนที่ไม่มีใช้ในกองทัพ ส่งผลให้ทหารได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

ด้าน พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ได้ออกมายอมรับว่า มีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายช่วยคนเสื้อแดงยิงตอบโต้ฝ่ายทหารจริง เสธ.แดงยังขู่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและทหารด้วยว่า “วันนี้นายอภิสิทธิ์ไปไหนไม่ได้ ต้องยุบสภา เหตุการณ์ถึงจะสงบลง วันนี้คนเสื้อแดงยึดปืนได้หมด หากทหารจะเข้ามาสลายการชุมนุมอีกครั้ง จะมีคนตายมากกว่าเก่าเป็นร้อยเท่า เพราะเขามีปืนกล มีปืนต่อสู้อากาศยานที่สามารถยิงเฮลิคอปเตอร์ได้”

หลังจากนั้น 12 เม.ย. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ ว่า ขณะนี้ประชาชนได้เห็นเหตุการณ์แล้วว่ามีผู้ก่อการร้ายที่อาศัยผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงเป็นเครื่องมือก่อความไม่สงบ เพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ดังนั้น รัฐจะมีมาตรการแยกผู้ก่อการร้ายออกจากผู้บริสุทธิ์ พร้อมขอให้ผู้บริสุทธิ์อย่าเข้าร่วม และว่า เมื่อแยกผู้ก่อการร้ายได้แล้ว จะกำหนดมาตรการในการดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป นายอภิสิทธิ์ยังย้ำด้วยว่า ระหว่างดำเนินการต่อผู้ก่อการร้ายนี้ รัฐบาลจะพิจารณาปัญหาข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่เคยเสนอไว้ในการเจรจากับแกนนำกลุ่มเสื้อแดงแบบคู่ขนานไปด้วย ส่วนเหตุการณ์ที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เม.ย.นั้น รัฐได้ตั้งคณะกรรมการประมวลเหตุการณ์ และพร้อมให้ความร่วมมือในการตรวจสอบชี้แจงกับองค์กรอิสระต่างๆ รวมทั้งช่วยเหลือเยียวยาแก่ทุกฝ่าย โดยรัฐบาลจะเดินหน้าสะสางสถานการณ์โดยเร็ว

เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะที่ทหารขอคืนพื้นที่บริเวณผ่านฟ้าลีลาศเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงกลับต่อต้าน ไม่ยอมคืนพื้นที่ จนเกิดการปะทะกัน แต่จู่ๆ ให้หลังแค่ 4 วัน (14 เม.ย.) แกนนำ นปช.กลับยอมทิ้งพื้นที่ชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ แล้วย้ายไปสมทบชุมนุมที่แยกราชประสงค์เพียงแห่งเดียว โดยอ้างว่าเพื่อให้การชุมนุมมีเอกภาพและง่ายต่อการรักษาความปลอดภัย

วันเดียวกัน (14 เม.ย.) พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้เปิดแถลงโดยนำคลิปวิดีโอเหตุการณ์การปะทะระหว่างทหารและกลุ่มเสื้อแดงเมื่อวันที่ 10 เม.ย. จำนวน 5 คลิปมาเปิดต่อสาธารณชน เช่น คลิปชายชุดดำยืนอยู่ท่ามกลางคนเสื้อแดงกำลังยิงระเบิดเอ็ม 79 และคลิปที่คนเสื้อแดงถูกยิง ซึ่งดูจากทิศทางกระสุนปืนแล้ว ไม่ใช่การยิงจากฝ่ายทหาร แต่เป็นการยิงจากฝั่งเดียวกับผู้ชุมนุม เป็นต้น

ทั้งนี้ พ.อ.สรรเสริญ ได้นำคลิปดังกล่าวมาเปิดอีกครั้งระหว่างแถลงผลประชุม ศอฉ.ในวันต่อมา (15 เม.ย.) โดยนอกจากเป็นคลิปที่ยืนยันว่าทหารไม่ได้ยิงประชาชนแล้ว ยังมีคลิปที่ยืนยันได้ว่า แกนนำเสื้อแดงมีส่วนรู้เห็นกับกรณีกลุ่มก่อการร้ายที่แฝงตัวอยู่กับผู้ชุมนุม โดยเป็นคลิปที่นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง นำผู้ชุมนุมมาประท้วงที่กองทัพบกเมื่อวันที่ 29 มี.ค.พร้อมปราศรัยบอกข่าวดีต่อผู้ชุมนุมว่า “เดิมทีคนเสื้อแดงมีแค่พรรคการเมืองและมวลชนเท่านั้น แต่บัดนี้แก้วอีกประการหนึ่งที่เรารอ คือกองกำลังไม่ทราบฝ่ายเขาพร้อมสนับสนุนคนเสื้อแดง และพร้อมเป็นปฏิปักษ์กับกองทัพ ถ้ากองทัพเข้าล้อมประชาชน”

แม้เหตุการณ์ 10 เม.ย. 2553 จะผ่านไปกี่ปี และมีพยานหลักฐานมากมายเพียงใด คนเสื้อแดงก็ยังไม่ยอมรับว่า ชายชุดดำหรือผู้ก่อการร้ายดังกล่าวคือเนื้อเดียวกับกลุ่มคนเสื้อแดง แถมยังอ้างว่า เหตุการณ์วันดังกล่าว เป็นวันทหารฆ่าประชาชน!?
อีก 1 ชายชุดดำในกลุ่มเสื้อแดง สวมหมวกไหมพรมปิดหน้า ผูกผ้าแดงที่แขนขวา พร้อมอาวุธสงครามในมือ(10 เม.ย.53)
พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ถูกยิงด้วยระเบิดเอ็ม 79 ที่ศีรษะเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เม.ย.53
หลังเหตุการณ์ปะทะ 10 เม.ย.53 กลุ่มเสื้อแดงได้ยึดรถทหารหลายสิบคันและทุบทำลายทิ้งไว้ในพื้นที่ชุมนุมทั้งบริเวณถนนราชดำเนินและบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า
สื่อมวลชนจับภาพ เสธ.แดง มาโผล่ใกล้พรรคประชาธิปัตย์ ก่อนคนร้ายยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่พรรคประชาธิปัตย์ไม่นาน(6 เม.ย.53)
กำลังโหลดความคิดเห็น