“ปานเทพ” ชี้นายกฯ มาตรา 7 มีช่องโหว่เยอะ “ทักษิณ” แทรกแซงได้หลายขั้นตอน หวั่นได้คนไม่กล้าพอทำปฏิรูปล้มเหลว ย้ำเกิดรัฏฐาธิปัตย์ได้ต้องมีทหารร่วมด้วย เพื่อยึดอำนาจรัฐโดยไม่เกิดสงครามกลางเมือง
วันที่ 8 เม.ย. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกและแกนนำรุ่น 2 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวในรายการ “เกาะติดสถานการณ์การชุมนุม” ช่วงวิเคราะห์สถานการณ์ทางเอเอสทีวีว่า กรณีรอ ป.ป.ช.ชี้มูลจำนำข้าวต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะชี้มูลทั้งขบวน แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาจโดนก่อนและต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ จากนั้นเข้าสู่กระบวนการถอดถอนโดยวุฒิสภาซึ่งอาศัยเสียง 3 ใน 5 ของ ส.ว.ทั้งหมด ปรากฏว่าทั้ง ส.ว.ชุดที่กำลังจะพ้นสภาพกับ ส.ว.ชุดใหม่ เสียงไม่มีทางครบ 3 ใน 5 ตนเชื่อว่าในที่สุดก็จะมีมติไม่ถอดถอน หรือเสียงไม่ถึง 3 ใน 5 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็กลับมาปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ทันที หลังจากนั้นก็ต้องรอศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ซึ่งกว่าจะจบอาจใช้เวลาเป็นปี
หรือแม้แต่จะให้วุฒิสภาเปิดประชุมเพื่อถอดถอนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย รัฐธรรมนูญมาตรา 132 ระบุว่าการเปิดสมัยวิสามัญเพื่อถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ต้องให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่ตอนนี้ไม่มีประธานรัฐสภาและรองประธานรัฐสภา (ประธานวุฒิสภา) ที่อยู่ระหว่างการหยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะถูกชี้มูลความผิดโดย ป.ป.ช. ก็กลับมาที่ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 จะมีอำนาจเรียกประชุมได้หรือเปล่า นี่เฉพาะการถอดถอนก็ยากเย็นแสนเข็ญ เรียกได้ว่าปิดโอกาสเกิดสุญญากาศโดย ป.ป.ช.ไปได้เลย
นายปานเทพกล่าวต่อว่า มาที่กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ คดีนายถวิล เปลี่ยนศรี อันนี้จะทำให้การดำรงตำแหน่งสิ้นสุดลง บทบัญญัติรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกให้ทำอะไรต่อ คือจบเลย ต่างจากการพ้นตำแหน่งจากการยุบสภาที่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคนใหม่มาดำรงตำแหน่งแทน ฉะนั้น จะมาแถว่านายกฯ และคณะรัฐมนตรีพ้นตำแหน่งแล้วไม่ได้ มันเป็นคนละความหมายกันกับคำว่าการดำรงตำแหน่งสิ้นสุดลง เมื่อ ครม.มาจากนายกฯ เมื่อนายกฯ พ้นสภาพ ครม.ก็ต้องพ้นด้วย
แต่พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 10 วรรค 4 ระบุว่า “ในระหว่างที่คณะรัฐมนตรีต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่เพราะนายกรัฐมนตรีตาย ขาดคุณสมบัติ ต้องคำพิพากษาให้จำคุก สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง หรือวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนจากตำแหน่ง ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน” ไม่เปิดช่องให้ใช้มาตรา 7 เลย ซึ่งอันนี้เขาอาจยกมาสู้ก็ได้
นายปานเทพกล่าวอีกว่า แม้ดูความหวังเลือนราง แต่ไม่หมดหวัง ยังมีหวังเล็กๆ เพื่อนำไปสู่มาตรา 7 เป็นช่องสุดท้าย คือ รัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรค 2 ระบุว่า ในกรณีที่ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 182 ให้ดำเนินการตามมาตรา 172 และมาตรา 173 โดยอนุโลม คือกำหนดขั้นตอนการได้มาซึ่งนายกฯ คนใหม่ โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบบุคคลที่เหมาะสม แต่วันนี้ยังไม่มีสภาฯ เลือกตั้งเป็นโมฆะ จึงจะนำไปสู่การกราบบังคมทูลฯ ตามมาตรา 7 ได้
บางกลุ่มบอกว่าให้ที่ประชุมวุฒิสภาเลือกนายกฯ แม้ไม่มีสภาผู้แทนฯ ถ้ามีความคิดแบบนี้ปัญหาจะเกิดมาก คือ 1. ส.ว.สรรหาที่มีอยู่ 40-60 คน กลุ่ม 40 ส.ว.ยืนพื้น ส่วนอีก 20 คนไม่รู้ถูกซื้อได้หรือไม่ เพื่อไทยครองเสียงเยอะแต่ไม่ถึงครึ่ง ประชาธิปัตย์สัก 20 คน ถ้าเป็นอย่างนี้โอกาสที่จะได้นายกฯ ที่นำไปสู่การปฏิรูปค่อนข้างยาก อาจไม่ปฏิรูปได้จริง เพราะไม่เกรงใจเพื่อไทยก็ประชาธิปัตย์
ต่อให้ได้นายกฯ มาก็จะท้าทายมาก เพราะต้องกล้าทำหลายอย่าง เช่น งดเว้นการใช้รัฐธรรมนูญหลายมาตรา แต่ไม่มีรัฐสภา ถ้าปล่อยให้มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนฯก็จะเป็นเพื่อไทยได้เสียงข้างมาก การปฏิรูปจะไม่เกิดเลย ซ้ำร้ายกว่านั้นอีกถ้าไม่กล้าก็ไม่รู้ขึ้นมาทำไม จะมีแต่ปัญหาการถูกขับไล่ โดยที่ไม่มีอนาคต ซึ่งฝ่ายทักษิณอาจพอใจอย่างนี้ก็ได้
นายปานเทพกล่าวด้วยว่า คนที่เป็นรองประธานวุฒิสภาหรือประธานคนต่อไป ต้องกราบบังคมทูล ครม.ชุดใหม่ ในขณะที่ยังมี ครม.ชุดเก่าอยู่ ต้องใช้ความกล้าหาญของรองประธานวุฒิฯ หรือ ประธานวุฒิฯเป็นจุดชี้ขาดในการใช้มาตรา 7 ถ้าไม่กล้าใช้ สถานการณ์จะยืดเยื้อมาก
นายปานเทพกล่าวต่ออีกว่า นายสุเทพบอกจะชุมนุมยาว 15 วัน หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ถ้าไม่ยึดอำนาจรัฐก็ไม่เกิดรัฏฐาธิปัตย์ แล้วถ้าไม่มีทหารร่วมด้วยก็ทำไม่ได้ ถ้าคิดจับอาวุธสู้โดยที่ทหารไม่ร่วมด้วยเกิดสงครามกลางเมืองแน่
ตนมองว่าการสู้ด้วยมือเปล่าปราศจากอาวุธไม่เห็นเลยว่าจะเกิดรัฏฐาธิปัตย์ได้ ถ้าไม่เกิดจำนวนมวลมหาประชาชนที่ต้องการปฏิรูปแบบขาดลอยเพื่อให้ทหารตัดสินใจมายืนเคียงข้าง ส่วนการเลือกตั้งปิดหนทางไปเลย การรัฐประหารทหารไม่กล้าทำถ้าไม่มีการครองใจประชาชนแบบขาดลอยของฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ส่วนมาตรา 7 มีช่องโหว่เยอะ พ.ต.ท.ทักษิณเข้าแทรกได้หลายขั้นตอน
นายปานเทพกล่าวทิ้งท้ายว่า ตนให้กำลังใจทุกคนที่ออกมาเคลื่อนไหว ไม่ใช่ชัยชนะอยู่ที่การสร้างรัฏฐาธิปัตย์เท่านั้น ที่สำคัญกว่าคือการเปลี่ยนความคิดผู้ชมทางบ้านให้มีความเห็นพ้องต้องการปฏิรูป