“ปานเทพ” จี้ กปปส.กำหนดธงให้ชัดว่าจะให้ประชาชนไปเลือก ส.ว.ฝ่ายต้านทักษิณให้ได้มากที่สุด หรือจะขัดขวาง 8 จังหวัดขึ้นไปเพื่อเปิดประชุมวุฒิสภาไม่ได้ หวั่นเสียงแตกได้คน “ทักษิณ” ขึ้นเป็นประธานวุฒิฯ ทำหน้าที่กราบบังคมทูลฯนายกฯ เตือนหากตัดสินใจผิดพลาดอาจเสียหายถึงขั้นจบสิ้นการใช้มาตรา 7
วันนี้ (11 มี.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกและแกนนำรุ่น 2 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” ว่า ...
มะม่วงยังไม่หล่น?
ดูเหมือนว่าหลายคนจะคาดหวังค่อนข้างสูงมากจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าจะต้องวินิจฉัยให้คณะรัฐมนตรีพ้นสภาพ ด้วย “เงื่อนไขเวลา” ตามาตรา ๑๒๗ และ ๑๗๒
มาตรา ๑๒๗ วรรคแรกบัญญัติ “เงื่อนไขเวลา” ว่า :
“ภายใน ๓๐ วันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก”
ซึ่งตรงกับวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๗ ผ่านไปแล้ว ไม่มีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก
มาตรา ๑๗๒ วรรคแรกบัญญัติ “เงื่อนไขเวลา” ว่า :
“ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกตามมาตรา ๑๒๗”
ซึ่งตรงกับวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๗ แต่เนื่องจากไม่มีการประชุมรัฐสภาครั้งแรกในวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๗ ก็เลยทำให้ไม่ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามเงื่อนไขเวลาไปด้วย
ตรงนี้แหละที่ แกนนำ กปปส.บางคนจึงเชื่อว่ารักษาการคณะรัฐมนตรีจะต้องพ้นสภาพไปทั้งหมดโดยการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
โจทย์สำคัญคือความจริงแล้วคณะรัฐมนตรีจะพ้นสภาพรักษาการเมื่อไหร่?
มาตรา ๑๘๑ วรรคหนึ่ง บัญญัติเอาไว้ว่า:
“คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า “คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่” แต่ในกรณีพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๘๐(๒) (ยุบสภา) คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ดังต่อไปนี้”
ข้อความค่อนข้างชัดเจนมากว่ารัฐธรรมนูญมาตรานี้ “ไม่ได้กำหนดระยะเวลา” แต่กำหนด “เงื่อนไขเหตุการณ์” คือต้องมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับหน้าที่เมื่อไหร่ คณะรัฐมนตรีรักษาการก็จะพ้นสภาพไปเมื่อนั้น
หมายความว่าจะคาดหวังให้คณะรัฐมนตรีรักษาการพ้นสภาพก่อนโดยหวังคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แล้วจากนั้นค่อยบีบให้ประธานวุฒิสภาใช้มาตรา ๗ เสนอนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะ “เงื่อนไขเหตุการณ์” คือต้องได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ก่อน ชุดเก่าจึงจะพ้นสภาพไปเท่านั้น ตราบใดยังไม่ได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ คณะรัฐมนตรีรักษาการก็จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้รักษาการพ้นสภาพก่อน
เหตุการณ์จึงต้องกลับด้านกันคือ ประธานวุฒิจึงต้องเสนอทูลเกล้าฯตามมาตรา ๗ เสียก่อน “ตามเงื่อนไขเวลา” เมื่อได้แล้วคณะรัฐมนตรีรักษาการจึงจะพ้นสภาพ “ตามเงื่อนไขเหตุการณ์”
คำถามคือประธานวุฒิคนไหน จึงจะมั่นใจได้ว่าจะเป็นผู้นำความกราบบังคมทูลตามมาตรา ๗ เพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ แบบไหน?
ดูจากสภาพแล้วประธานวุฒิสภาคนปัจจุบันคงจะไม่เสนอนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และต่อให้เสนอก็อาจเป็นคนที่ฝ่ายทักษิณพอใจมากกว่า (ยกเว้นว่าจะกลับใจฉับพลันด้วยเงื่อนไขพิเศษบางอย่าง)
ดูจากสภาพแล้วรองประธานวุฒิสภาคงจะไม่กล้าเสนอนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จนกว่า ปปช.จะชี้มูลรักษาการประธานวุฒิสภา (ระหว่างวันนี้จนถึงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๗) เพราะประธานวุฒิสภาไดับอกแล้วว่าจะยึดเอา “เงื่อนไขเหตุการณ์” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๒๔ วรรค ๓ บัญญัติว่า :
“ประธานและรองประธานวุฒิสภาดำรงตำแหน่งจนถึงวันก่อนวันเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาใหม่”
และถ้ารอให้มีประธานวุฒิสภาคนใหม่หลังการเลือกตั้ง ส.ว.ในวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๗ ไปแล้ว รองประธานวุฒิสภาคนปัจจุบันก็จะไม่ได้ทำหน้าที่ในการใช้มาตรา ๗ อยู่ดี
คำถามคือเราจะไว้ใจใครมากกว่ากันในการใช้มาตรา ๗
ก) รักษาการประธานวุฒิสภาคนปัจจุบัน ซึ่งยังไม่ทำอะไร
ข) รองประธานวุฒิสภาคนปัจจุบัน ซึ่งหลายคนเชื่อมั่นแต่ต้องมีเงื่อนไขที่ประธานวุฒิสภาคนปัจจุบันพ้นสภาพโดยรอให้ ปปช.ชี้มูลก่อนวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๗ แล้วใช้มาตรา ๗ ทันที
แต่หาก ปปช.จะชี้มูลช้าเลยวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๗ ก็ตัองมีเงื่อนไขที่ประธานวุฒิสภาคนใหม่เข้าสู่อำนาจไม่ได้ด้วย (เช่น โดยการขวางการเลือกตั้ง ส.ว.ให้ได้ ๘ จังหวัดขึ้นไป ทำให้ ส.ว.ไม่ครบ ๙๕% ทำให้เปิดประชุมวุฒิสภาไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๑๑ จึงเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่ไม่ได้) แล้วจึงไปรอ ปปช.ชี้มูลรักษาการประธานวุฒิสภาหลังวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๗
ค) ประธานวุฒิสภาคนใหม่ ซึ่งก็ยังไม่รู้เป็นใคร ซึ่งต้องมั่นใจก่อนว่า “ภายใต้ระบบเลือกตั้งแบบเดิม” ส.ว.เสียงข้างมากรวมทั้งสรรหาและเลือกตั้งจะอยู่ฝ่ายต่อต้านระบอบทักษิณ เมื่อเลือกตั้งและเปิดประชุมวุฒิสภาแล้วจะไม่ถูกซื้อเสียง และมีประธานวุฒิคนใหม่ที่กล้าหาญใช้มาตรา ๗
“การเลือก ส.ว.ฝ่ายต่อต้านทักษิณให้มากที่สุด” หรือ “ขัดขวางการเลือกตั้ง ส.ว.” ใน วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๗ จะต้องมีธงเดียวที่เป็นเอกภาพเท่านั้น การนิ่งเฉยหรือปล่อยตามธรรมชาติจะทำให้เสียงแตก ทั้งโหวตโน, โนโหวต, เลือกคน ปชป., เลือกคน กปปส., เลือกคนมีชื่อเสียง, ทำบัตรเสีย, คัดค้านการเลือกตั้งและการนับคะแนน ฯลฯ สุดท้ายจะไม่ได้อะไร นอกจากฝ่ายทักษิณจะครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาได้ และเปิดประชุมวุฒิสภาสำเร็จ
และไม่ว่าจะนิ่งเฉยหรือกำหนดธงอย่างไร กปปส. ซึ่งเป็นคณะบุคคลที่ถือธงนำประชาชนคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส.ก่อนการปฏิรูปอยู่ หากไร้ทิศทางเสียงจะแตกอย่างแน่นอน หรือหากกำหนดธงผิดพลาดก็อาจเสียหายจนถึงขั้นจบสิ้นการใช้รัฐธรรมนูญมาตรา ๗ ได้
ความสำคัญของวุฒิสภาในเวลานี้ไม่ใช่การใช้มาตรา ๗ เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และการแต่งตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอีกด้วย
กปปส.ยังพอมีเวลาอยู่ไม่มากนักที่จะต้องตัดสินใจในเรื่องนี้ให้ชัดเจน!!!