xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ห่วงธุรกิจดอดพบ “ปู” ปัดเข้าข้าง “ปึ้ง” คุยไม่เอาปฏิวัติ ฟ้องรัฏฐาธิปัตย์ไร้ ปชต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม(แฟ้มภาพ)
นายกฯ-ปลัด กห.ให้ตัวแทนมะกันพบ “สุรพงษ์” ดอดแจม ก่อนจ้อ รมว.กต.มะกันยื่นหนังสือห่วงสถานการณ์ ไม่เอาปฏิวัติ หวัง ปชต.เดินหน้า ห่วงปัญหาไทยกระทบอาเซียน ไร้ รบ.ใหม่ถก ตปท.ไม่ได้ ฟ้องมะกัน กปปส.ตั้งรัฏฐาธิปัตย์ ไม่ ปชต. ถอดคำจ้อส่งทูตทุกชาติ จ่อเป็นกบฏรอบสอง ยุ หน.ปชป.ตัดหาง เตือน ขรก.อย่าหนุน โลกไม่เอา โต้ดึง ตปท.จุ้น ชี้ศาลตัดสินนายกฯไม่ถูก ชาติมีวิบากกรม มะกันปัดเข้าข้างใคร แค่ห่วงธุรกิจ หนุนเจรจา

วันนี้ (8 เม.ย.) ที่กระทรวงกลาโหม หลังจาก พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร. และ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เดินทางกลับหลังร่วมงานวันสถาปนากระทรวงกลาโหมแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้เปิดโอกาสให้นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ฝ่ายกิจการเอเซียแปซิฟิก นางคริสตี เคนนีย์ เอกอัคราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย พร้อมคณะเข้าพบและหารือ โดยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ได้เดินทางมาสมทบเพื่อเข้าร่วมหารือด้วย

นายสุรพงษ์เปิดเผยว่า ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ สหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียแปซิฟิก ได้นำหนังสือของนายจอห์น เคอร์รี รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นหนังสือที่ทำในนามรัฐบาลสหรัฐฯ มายื่นให้นายกรัฐมนตรีของไทย เพื่อแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์การเมืองของไทย และไม่ต้องการให้มีการยึดอำนาจ หรือปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งถือเป็นประเด็นที่สหรัฐฯ ห่วงมาก พร้อมกันนั้นสหรัฐฯ ยังสนับสนุนให้ไทยเดินไปในแนวทางประชาธิปไตย ใช้การเจรจาแก้ไขปัญหา ไม่ให้เกิดความรุนแรงและความวุ่นวาย ทะเลาะเบาะแว้งขึ้น

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ถือว่าไทยเป็นมิตรประเทศยาวนาน อยากเห็นกระบวนการประชาธิปไตยเดินหน้า รวมทั้งมีความเป็นห่วงอาเซียน เพราะไทยเป็นประเทศที่สำคัญในภูมิภาคนี้ หากเกิดปัญหาก็จะเกิดผลกระทบตามมา โดยการประชุมในระดับอาเซียน การประชุมบิมเทค ตน และ รมว.กลาโหม ก็ไม่สามารถเดินทางไปประชุมในเวทีระดับอาเซียนได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ได้ห้ามเรื่องการการริเริ่มนโยบายต่างๆ ดังนั้นการจะไปแถลงการณ์หรือลงนามใดๆ นั้นไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องรอรัฐบาลใหม่ จึงถือว่าเป็นความเสียหายมาก รวมถึงการหารือระหว่าอาเซียนกับคู่เจรจา หรือในกรณีที่สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ต้องประชุมด้วยในประเด็นสำคัญๆ เช่น หัวข้อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประกาศ เป็นต้น

รมว.ต่างประเทศยังกล่าวถึงกรณีที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.ออกมาประกาศการจัดตั้งรัฏฐาธิปัตย์ว่า มีความชัดเจนว่าไม่เป็นประชาธิปไตยซึ่งตนได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวมาหารือในที่ประชุมวันนี้เพื่อให้สหรัฐฯ ทราบว่าแนวคิดของกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ภายใต้การนำของนายสุเทพไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นการยอมรับของนายสุเทพเองว่าจะยึดอำนาจและตั้งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และสภาประชาชนด้วยตนเอง

เมื่อถามว่า การกระทำของนายสุเทพถือว่าเป็นกบฏหรือไม่ นายสุรพงษ์กล่าวว่า แน่นอน และจะคิดเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เพราะสิ่งที่พูดไม่ได้อยู่ภายใต้กรอบประชาธิปไตย และการที่ใช้วิธีสร้างรัฏฐาธิปัตย์ขึ้นมา ชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่นายสุเทพต้องการเป็นใหญ่เอง ที่ผ่านมาก็ไม่ฟังใครอยู่แล้ว เอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ ในการหารือกับรัฐบาลก็เอาความคิดของตนเป็นที่ตั้ง ไม่ยอมเปิดหรืออ่อนข้อ ถือว่าเป็นวิธีการของเผด็จการ

“หลายฝ่ายทั้งข้าราชการ และกองทัพควรจะคิดให้หนักในสิ่งที่คุณสุเทพให้เลือกข้าง และพยายามดึงพวกท่านมาเป็นเครื่องมือเพื่อแสวงหาอำนาจ และยึดอำนาจด้วยตนเอง สังคมโลกไม่ยอมรับเพราะไม่เป็นประชาธิปไตย ผมได้แปลคำแถลงการณ์ของคุณสุเทพที่ได้ประกาศเมื่อวันเสาร์ที่ 5 เมษายน บนเวที กปปส.แบบคำต่อคำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว วันนี้จะส่งไปให้ทูตทุกประเทศที่ประจำอยู่ประเทศไทย ให้ได้รับแนวคิดของคุณสุเทพที่ยอมรับสารภาพออกมา ทั้งนี้ ผมเล่าสถานการณ์ให้ฑูตทุกประเทศฟังหมดแล้ว เขาเข้าใจเหตุการณ์ทั้งหมด และเมื่อแปลคำพูดคุณสุเทพคำต่อคำส่งไปให้ จะเป็นการสรุปข้อมูลทั้งหมดที่ผมเคยรวบรวมเป้าหมายของคุณสุเทพได้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น” รมว.ต่างประเทศกล่าว

เมื่อถามว่าจะดำเนินการอย่างไรเพราะแนวคิดดังกล่าวเป็นภัยต่อความมั่นคง นายสุรพงษ์กล่าวว่า จะนำเข้าไปหารือในที่ประชุมศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ว่าจะใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ จัดการกับนายสุเทพอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะมีคำพูดใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ต้องดำเนินการให้ถึงที่สุด อยากฝากไปถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้เดินหน้ากลับมาหาประชาธิปไตย เพราะตอนนี้เห็นแล้วว่านายสุเทพ ไปสุดโต่ง เพราะฉะนั้น นายอภิสิทธิ์ และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทุกคน จะไปร่วมกับนายสุเทพเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เมื่อถามว่าความผิดของนายสุเทพเข้าข่ายความผิดมาตรา 113 ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายสุรพงษ์กล่าวว่า ที่ผ่านมานายสุเทพและกลุ่มของนายสุเทพได้ถูกตั้งข้อหาเป็นกบฏอยู่แล้วจากพฤติกรรมที่ผ่านมา วันนี้ยิ่งเป็นการตอกย้ำการเป็นกบฏชัดเจนมากยิ่งขึ้น และอาจจะเป็นกบฏรอบสองด้วยซ้ำ

เมื่อถามว่า การที่นำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับสหรัฐฯ ถือเป็นการดึงต่างประเทศเข้ามาหรือไม่ นายสุรพงษ์กล่าวว่า คงไม่ต้องดึง เพราะองค์กรต่างๆ ที่เข้ามาประเทศไทยล้วนเป็นมิตรประเทศที่เป็นประชาธิปไตย จึงต้องการให้ไทยเดินไปในแนวทางประชาธิปไตย การที่นายสุเทพพยายามโยงว่าสหประชาชาติ หรือยูเอ็น รวมถึงต่างชาติไม่ควรเข้ามาแทรกแซงนั้น ตนอยากถามว่าการที่ดึงนายสาธิต เซกัล ซึ่งเป็นคนอินเดียขึ้นเวทีมีความแตกต่างกันตรงไหน

“ตอนนี้ถือว่าสถานะของนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลของเราดีขึ้น หลังจากที่นายสุเทพแถลงวันนั้น ผมอยากเห็นพรรคประชาธิปัตย์มาลงเลือกตั้ง ทุกอย่างจะได้จบ สหรัฐฯ อยากเห็นการพูดคุยกันโดยเฉพาะการเลือกตั้ง ซึ่งเขาอยากเห็นรัฐบาลมาจากประชาธิปไตยและก้าวต่อไป เราก็ขอบคุณเขาเพราะเห็นด้วยและสนับสนุนอยู่แล้ว ทั้งนี้เชื่อว่ากองทัพจะเข้าใจรัฐบาลมากขึ้น หลังจากที่นายสุเทพพูดมา ทาง ผบ.เหล่าทัพ ฟังแล้วคงถึงบางอ้อ สิ่งเหล่านี้ทางกองทัพ หน่วยราชการ องค์กรอิสระ ต้องไปคิดกันให้รอบคอบ ทำให้ถูกต้องยึดหลักกฎหมาย ซื่อตรง โปร่งใส ทุกอย่างก็จะจบ บ้านเมืองจะได้อยู่ได้ ในส่วนกองทัพ ผมคิดว่าคนเรานั้นอาจจะเข้าใจผิดกันได้ แต่เมื่อความจริงปรากฏทุกคนก็ต้องหันกลับมา” นายสุรพงษ์กล่าว

เมื่อถามว่าเป็นห่วงหรือไม่กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย สถานภาพของนายกรัฐมนตรี นายสุรพงษ์กล่าวว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญทำอย่างตรงไปตรงมา ใช้มาตรฐานเดียว สังคมยอมรับได้ ปัญหาก็ไม่เกิดขึ้น ขณะนี้ประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ถ้ามีอะไรผิดไป หรือไม่ถูกต้อง ก็จะเป็นสิ่งที่อยากลำบากในอนาคต ประเทศชาติจะต้องเจอกับวิบากกรมต่อไป ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเป็นห่วงสถานการณ์ความรุนแรงกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมสองฝ่ายจะออกมาชุมนุมหลังสงกรานต์นั้น ตนจะได้นำเรื่องดังกล่าวหารือในที่ประชุม ศอ.รส.วันนี้ เพื่อเตรียมความพร้อม เพราะจะมีคนเดินทางเข้ามาจำนวนมาก เราจะไม่ประมาทไม่ได้

ด้านนายแดเนียลกล่าวว่า ประเทศไทยกับสหรัฐฯ ถือเป็นเพื่อนที่มีความสัมพันธ์ร่วมกันมายาวนานที่มาในวันนี้นั้นก็มาพูดคุยเรื่องสถานการณ์การเมือง ซึ่งสหรัฐฯ ยืนยันว่าไม่ได้เข้าข้างใคร แต่สิ่งที่มีความเป็นห่วงคือเรื่องการธุรกิจ ที่ปัจจุบันสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น บางอย่างเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์และความมั่นคงของประชาธิปไตยในไทย และความมั่นคงของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ความมั่นคงของไทยส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ จึงอยากเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายมีการเจรจากัน มีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและความสัมพันธ์ของนานาชาติเป็นหลัก


กำลังโหลดความคิดเห็น