รองหัวหน้าประชาธิปัตย์ สวน “ชัยเกษม” ชูศาลปกครองสูงสุดตัดสินชัดเจน “ยิ่งลักษณ์” โยกย้ายเร่งรีบไม่เป็นประโยชน์ต่อราชการ ไม่เข้าข้อยกเว้น ม.268 จวกพยายามทำลายศาลรัฐธรรมนูญ แนะ 4 ทางออก ถาม “ปู” หาหนทางป้องกันสองม็อบชนกันยังไง เตือนอย่าลอยตัวเหนือปัญหา
วันนี้ (7 เม.ย.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะพิจารณาคดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 โดยนายชัยเกษม นิติสิริ รักษาการ รมว.ยุติธรรม ออกมาระบุว่านายกฯ มีอำนาจย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เพราะมีข้อยกเว้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ว่า แม้ในรัฐธรรมนูญจะระบุดังกล่าวแต่ก็ไม่ตรงต่อข้อเท็จจริง โดยเฉพาะกรณีของนายถวิลไม่เข้าข้อยกเว้นที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าว เพราะในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดตัดสินชัดเจนว่านายกฯ ไม่ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่แถลงต่อสภาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่ากระบวนการโอนนายถวิลดำเนินการอย่างเร่งรีบไม่เป็นไปตามปกติ ปัจจัยอันเป็นที่มาการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี คือ ความประสงค์ให้ตำแหน่ง ผบ.ตร.ที่ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ว่างลงเพื่อแต่งตั้งให้บุคคลอื่นดำรงตำแหน่งแทน และการโยกย้ายไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อราชการตามนโยบายที่แถลงต่อสภา จึงไม่สอดคล้องกับหลักการจัดระเบียบข้าราชการพลเรือน และหลักคุณธรรม
“สิ่งที่ รมว.ยุติธรรมพูดเป็นการสร้างความสับสนด้วยความเท็จ เพราะคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดยืนยันชัดเจนว่า พฤติกรรม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 268 ทีบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงสามารถวินิจฉัยประเด็นนี้ได้ รัฐบาลโดยเฉพาะ รมว.ยุติธรรมกำลังทำลายน้ำหนักการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะรู้ดีว่าเมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาไว้แล้วโอกาสที่รัฐบาลจะชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเป็นไปได้ยากจึงพยายามสร้างความสับสนในเนื้อหาสาระของคำร้องที่มีถึงศาลรัฐธรรมนูญในกรณีวินิจฉัยสถานภาพน.ส.ยิ่งลักษณ์ มากกว่าที่จะแก้ข้อกล่าวหาอย่างตรงไปตรงมา” นายองอาจกล่าว
นายองอาจกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ รมว.ยุติธรรมยังอ้างว่าไม่สามารถนำรัฐธรรมนูญมาบังคับนายกรัฐมนตรีไม่ได้นั้นความจริงหากนายกฯ ไม่ทำผิดรัฐธรรมนูญ การฟ้องร้องก็เกิดขึ้นไม่ได้ แต่เป็นเพราะนายกฯ ส่อเจตนาที่จะดำเนินการโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย นายกฯ จึงต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องนี้จะชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในบ้านเมือง จึงมีความพยายามทำลายศาลรัฐธรรมนูญตลอดเวลา ทั้งนี้ นายกฯ ควรสู้คดีด้วยเนื้อหาสาระมากกว่าการสร้างขบวนการทำลายน้ำหนักศาลรัฐธรรมนูญ เพราะยิ่งชี้ให้เห็นว่านายกฯมีส่วนเกี่ยวข้องดำเนินการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามข้อกล่าวหา
ส่วนการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในวันที่ 5-6 เม.ย.นี้ โดยแกนนำประกาศในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคำร้องเรื่องนี้จะชุมนุมใหญ่เพื่อแสดงพลังและท้าทายกลุ่ม กปปส.ระดมมวลชนมาแสดงพลังเพื่อวัดจำนวนมวลชนว่าฝ่ายใดมากกว่ากันนั้น นายองอาจ กล่าวว่า เป็นความพยายามที่ไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาประเทศ แต่ทางออกคือต้องพยายามดำเนินการทุกวิถีทางที่จะให้บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งตนคิดว่าน่าจะมีทางออกอยู่ 4 ประการ คือ 1. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องพร้อมฟังความเห็นละข้อเรียกร้องของประชาชน เพราะนายกฯไม่รับฟังความต้องการของประชาชนเดินหน้ารักษาอำนาจทุกวิถีทาง 2. ต้องยอมรับกระบวนการตรวจสอบ การนำจำนวนคนออกมาไม่ใช่หนทางยุติวิกฤตประเทศ แต่การยอมรับการตรวจสอบเป็นหนทางในการแก้วิกฤตได้ 3. ต้องเคารพกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะบอกความถูกผิดของบ้านเมืองก็จะทำให้ได้ข้อยุติ และ4. ยึดแนวทางสันติวิธีในการแก้ปัญหา การนำมวลชนออกมาไม่ใช่การแก้ปัญหา
“คนที่ต้องตระหนักในเรื่องนี้ให้มากที่สุดคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี เพราะถ้าวันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมีมวลชนสองกลุ่มออกมาบนท้องถนนแสดงพลังในวันที่ศาลจะวินิจฉัยคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตนเชื่อว่าเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์อาจเกิดขึ้นได้ จึงมีคำถามถึงนายกฯ ในฐานะมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองว่า จะหาแนวทางป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์อย่างไร เพราะอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงได้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องแสดงภาวะผู้นำว่าจะหาทางระงับยับยั้งป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงได้อย่างไร นายกฯ ไม่ควรลอยตัวอยู่เหนือปัญหาอีกต่อไป เพราะสถานการณ์เมษาเดือดนั้นใกล้จะเป็นจริงเข้ามาทุกขณะแล้ว เมื่อยังกินเงินเดือนประชาชนอยู่ต้องทำอะไรมากกว่านี้ ไม่ใช่ไม่ทำอะไรเลยปล่อยให้สถานการณ์เดินหน้าก็จะทำให้โอกาสเป็นนายกฯ มีน้อยจนถึงไม่มีโอกาสเป็นนายกอีกเลย ทั้งนี้พรรคไม่อยากเห็นการเผชิญหน้าที่มีแนวโน้มจะนำไปสู่ความรุนแรง” นายองอาจกล่าว