xs
xsm
sm
md
lg

“เรืองไกร” หาช่องแถ ป.ป.ช. อ้างไต่สวน “ปู” โกงจำนำข้าว 21 วัน-“เพื่อไทย” ล็อบบี้ “ไอพียู” ช่วยคว่ำบาตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ (ภาพจากแฟ้ม)
อดีต ส.ว. ที่ปรึกษากฎหมายเพื่อไทย หาช่องแถ ป.ป.ช.เอาผิดนายกฯ โกงจำนำข้าว แค่หยิบเอกสารคำสั่ง ป.ป.ช. ระบุวันที่ 28 ม.ค. 57 แล้วบอกว่า 21 วัน โวยเอกสารมีพิรุธ อ้างตัวเลขแต่ละฤดูกาลผลิตไม่เท่ากัน ทีคดีอภิสิทธิ์ทำไมยังลอยนวล ด้านอดีต ส.ส.สารคามเผยไปสวิตซ์ ถกเลขาฯ ไอพียูเรื่อง ป.ป.ช.ฟัน 308 ส.ส.-ส.ว.ชำเรา รธน. บอกถูกรังแกไม่ให้ความเป็นธรรม ขู่จะเจอนานาชาติคว่ำบาตร

วันนี้ (3 เม.ย.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่ปรึกษากฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากที่ตนออกมาเปิดเผยความไม่ชอบมาพากล ความเร่งรีบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในโครงการรับจำนำข้าว ถึงแม้ ป.ป.ช.จะพยายามออกมาแก้ข่าวแต่ก็เกิดหลักฐานมัดตัวต่อความมั่วที่เกิด ยกตัวอย่างเช่น ป.ป.ช.ระบุมีคำสั่งไต่สวนข้อเท็จจริงจนนายกฯ มารับทราบข้อกล่าวหารวมระยะเวลาทั้งสิ้น 1 ปี 10 เดือน ไม่ใช่ 21 วัน แต่จากข้อเท็จจริงปรากฏเป็นหลักฐานเอกสารชิ้นแรก เป็นคำสั่ง ป.ป.ช. ที่ 27/57 ลงวันที่ 28 ม.ค. 57 ดังนั้นการที่ ป.ป.ช.ออกมาบอกไต่สวนนายกฯ นานแล้วจึงไม่เป็นความจริง อาจทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดได้ เพราะข้อเท็จจริงแล้วใช้เวลาแค่ 21 วันจริงๆ

นายเรืองไกรกล่าวอีกว่า เอกสารเพียง 49 แผ่น ที่ใช้กล่าวหานายกฯ บวกกับเอกสารอีก 280 แผ่นที่ได้ก่อนนายกฯ เข้าชี้แจงเพียง 3 วันปรากฏข้อพิรุธมากมาย ที่เห็นได้ชัดเจนคือเอกสารทางบัญชีของ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ที่ใช้เป็นเอกสารสำคัญพบว่าตัวเลข รายได้ รายจ่าย กำไร ขาดทุนในแต่ละฤดูการผลิต เพราะมีตัวเลขหลังการปิดบัญชีไม่ตรงกัน แสดงให้เห็นว่าหลักฐานชิ้นนี้ยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็ดันทุรังนำมาประกอบการพิจารณา แถมเอกสารชิ้นนี้ได้แสดงตัวเลขการทุจริตของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ แต่ทำไม ป.ป.ช.ยังคงปล่อยให้นายอภิสิทธิ์ลอยนวล ไม่มีการชี้มูลความผิดแต่อย่างใด

นายเรืองไกรกล่าวต่อว่า ที่น่าแปลกใจอีกเรื่องคือการไม่ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะเป็นองค์คณะไต่สวนข้อเท็จจริง แต่กรณีเดียวกันที่เกิดขึ้นกับนายอภิสิทธิ์กลับมีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน การกระทำสองมาตราฐานเช่นนี้ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ป.ป.ช .และเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้ต้องมีผู้บงการอยู่เบื้องหลังใช่หรือไม่ ดังนั้นตนจึงขอให้คำจำกัดความความต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ด้วยคำ 3 คำสั้นๆ ว่ามั่วมีธง

นางกุสุมาลวตี ศิริโกมุท อดีต ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมการบริหารหน่วยประจำชาติไทยในองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ (ไอพียู) กล่าวว่า เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม ตนและคณะได้เดินทางเข้าพบเลขาธิการไอพียู ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อรายงานข้อเท็จจริงกรณีที่ ป.ป.ช.จะตัดสินการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.-ส.ว.308 คน ซึ่งเป็นการไม่เคารพหลักนิติรัฐและหลักการประชาธิปไตย ส.ส.-ส.ว.เป็นสมาชิกวุฒิสภามีอำนาตออกกฏหมายและแก้กฏหมาย ซึ่งทางเลขาฯ ไอพียูมีความเป็นห่วงและเข้าใจปัญหาการเมืองในประเทศไทยที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่มีการปฏิวัติรัฐประหารในปี 49

ทั้งนี้ หาก ป.ป.ช.ยังเดินหน้าทำลายล้างนักการเมืองเพื่อให้เกิดสูญญากาศ สอดคล้องกับการทำลายนายกฯ เพื่อเปิดทางให้มีนายกฯ คนกลางประชาคมโลกจะไม่นิ่งเฉย และจะมีมาตรการลงโทษจากนานาชาติ จากการที่องค์กรอิสระละเมิดสิทธิมนุษยชนของ ส.ส. ตนอยากขอร้องให้ ป.ป.ช.มีวิจารณญานในการพิจารณาตามหลักนิติรัฐและนิติธรรม มิใช่ทำตามใบสั่งและทำตามอคติที่มีความเกลียดชังนักการเมืองและต้องการทำลายล้าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ แต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ดูหลักเหตุและผล ในการกระทำของ ส.ส.-ส.ว.308 คนที่ไม่ได้ทำผิดอะไร เพราะการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่มาจากประชาชน

เมื่อถามว่า ไอพียูสามารถทำอะไรได้บ้าง นางกุสุมาลวตีกล่าวว่า หากมีการตัดสินที่ไม่เป็นธรรมก็อาจถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติได้ ส่วนที่มีการมองกันว่าทำไมเอาคนนอกเข้ามาจัดการปัญหาบ้านเมืองนั้น เพราะคนในบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มีที่พึ่ง ส.ส.-ส.ว.308 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชนกลับถูกไม่ให้ความเป็นธรรม

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ประชาสัมพันธ์สื่อสารการเมืองพรรคเพื่อไทยว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 รับคำร้องนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่นั้น พรรคเพื่อไทยเห็นว่า นายกฯไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะสถานภาพนายกฯ และ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ถือว่าพ้นจากตำแหน่งแล้ว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 (2) เพราะยุบสภา แต่ถูกบังคับให้ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อทำหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 จนกว่าจะมี ครม. ชุดใหม่มาทำหน้าที่ จึงมีความเห็นว่าจะพ้นซ้อนพ้นเป็นครั้งที่ 2 ได้อย่างไร

นายอนุสรณ์กล่าวอีกว่า ที่ตนรู้สึกแปลกใจเพราะคดีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกกระทรวงกลาโหมปลดออกจากราชการเพราะมีการยื่นเอกสารเท็จ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีมติจำหน่ายคำร้อง ความเป็น ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2556 เป็นต้นไป ทำให้ความเป็นสมาชิกภาพ ส.ส.ของ นายอภิสิทธิ์ สิ้นสุดลง ไม่เป็นประโยชน์ที่จะพิจารณาคดีต่อไป จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคำร้องดังกล่าว แต่คดีของนายกฯ กลับให้เดินหน้าต่อ เมื่อเทียบเคียงกันเห็นได้ชัดว่า คนที่ละเมิดรัฐธรรมนูญมากที่สุดคือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ บ้านเมืองแตกแยก เพราะคำวินิจฉัยไม่มีบรรทัดฐาน ไม่ใช่แค่สองมาตรฐาน แต่ไร้มาตรฐาน

ทั้งนี้ การที่รัฐบาลย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาฯสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ออกจากตำแหน่งเลขาฯ สมช.เพราะเคยทำงานกับ ศอฉ. รัฐบาลที่ถูกกล่าวหาว่ามือเปื้อนเลือด แล้วจะให้รัฐบาลประชาธิปไตยไว้วางใจได้อย่างไร แล้วทำไมการย้าย พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา เปิดทางนายถวิล เปลี่ยนศรี ศาลรัฐธรรมนูญไม่นำมาเทียบเคียงด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น