xs
xsm
sm
md
lg

กกต.เชื่อศาล รธน.แค่วินิจฉัยเลือกตั้ง 2 วันไม่ชอบด้วย กม.เตรียมเร่งพิจารณาวันเลือกตั้งใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. (ภาพจากแฟ้ม)
กกต.ถกที่ปรึกษา กม.มองคำวินิจฉัยศาล รธน.ไม่ได้สั่งเลือกตั้งโมฆะ พ.ร.ฎ.ยุบสภายังอยู่ ส่งผลให้ กกต.ไม่ต้องคืนค่าสมัคร ส.ส.ต้องแจ้งค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง การดำเนินคดีอาญายังต้องเดินหน้า ขณะที่รัฐบาลยังเป็นรัฐบาลรักษาการที่การดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ม.181 ต้องขอความเห็นชอบ กกต.พร้อมมั่นใจไม่ต้องรับผิดชอบทางแพ่ง-อาญา ขณะที่มอง ปชป.ไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งอีกรอบก็ไม่ทำให้สิ้นสภาพพรรคการเมือง

วันนี้ (24 มี.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.แถลงภายหลัง กกต.ประชุมร่วมกับคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้บริหารสำนักงาน กกต.ถึงแนวปฏิบัติภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว กกต.ก็จะดำเนินการตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยยุติการจัดการลงคะแนนเลือกตั้งทดแทนการเลือกตั้ง 26 ม.ค.และ 2 ก.พ.ที่เสียไปทั้งหมด และจะเร่งพิจารณาเสนอให้มีการตรา พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปใหม่โดยเร็ว ซึ่งมีประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายประการและมีความละเอียดอ่อน จึงต้องรอคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญที่คาดว่าจะส่งถึง กกต.ภายในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าหากมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ กกต.จะสามารถดำเนินการได้ โดยมีการวางมาตรการในการที่จะทำให้การจัดการเลือกตั้งเกิดความสำเร็จ แต่ทั้งนี้ไม่สามารถเปิดเผยได้เพราะอาจทำให้ถูกขัดขวางได้อีก

นายวรภัทร วงศ์ปราโมทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงาน กกต.กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายมีความเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเฉพาะในส่วนของวันเลือกตั้ง 2 ก.พ.เท่านั้นที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก 28 เขตเลือกตั้งไม่มีผู้สมัคร การจะจัดเลือกตั้งในส่วนนี้จะทำให้มีวันเลือกตั้งเป็น 2 วัน ซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 108 โดยศาลไม่ได้วินิจฉัยในเรื่องกระบวนการจัดการเลือกตั้งของ กกต.ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ประชุมจึงเห็นว่าจากกรณีดังกล่าว ทำให้ กกต.ไม่ต้องคืนค่าสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเงินค่าสมัครที่ได้ก็จะนำไปรวมเป็นเงินของกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองตามกฎหมายกำหนด

ขณะเดียวกัน ผู้สมัครก็ต้องยื่นบัญชีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง รวมทั้งการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งซึ่งเป็นคดีอาญาก็จะยังคงดำเนินการได้ต่อไป เพราะเมื่อปี 49 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 เม.ย.49 เป็นโมฆะ แต่ยังมีคดีฉีกบัตรเลือกตั้ง ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งในขณะนั้นก็พิพากษาวางแนวไว้ว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะก็ไม่มีผลลบล้างการกระทำผิดตามกฎหมายอาญาแต่อย่างใด เนื่องจากความผิดได้สำเร็จแล้ว และ กกต.น่าจะได้รับการคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดทั้งแพ่งและอาญาหากมีการฟ้องชดใช้ค่าเสียหาย แต่ในส่วนของสิทธิเลือกตั้งของประชาชน ที่ประชุมยังเห็นเป็น 2 แนวทางว่า ผู้ที่ไมได้ไปเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.จะเสียสิทธิหรือไม่

ขณะเดียวกัน ก็เห็นว่า เมื่อ พ.ร.ฎ.ยุบสภาไม่ได้เสียไป เท่ากับว่าสถานะของรัฐบาลยังเป็นรัฐบาลรักษาการ ที่หากจะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ก็ต้องมาขอความเห็นชอบจาก กกต. เช่นเดิม ส่วนการดำเนินการต่างๆ ของพรรคการเมืองและผู้ที่จะลงสมัคร ก็ควรพึงระมัดระวังว่าจะเป็นการกระทำเพื่อเล็งผลให้ได้รับเลือกตั้งในการเลือกตังที่จะมีขึ้นใหม่ ส่วนระยะเวลาที่ กกต.จะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วันนับแต่ พ.ร.ฎ.ยุบสภามีผลบังคับใช้นั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยดังกล่าว ระยะเวลา 60 วันจะเริ่มนับก็ต่อเมื่อ พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปฉบับใหม่มีผลใช้บังคับ ซึ่งเป็นแนวทางตามปี 49

โดยก่อนที่จะมีการตรา พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมฯ นี้ กกต.ก็จะมีการหารือกับพรรคการเมือง ผู้แทนรัฐบาล ซึ่งอาจเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่มีหน้าที่ในการนำเสนอร่าง พ.ร.ฎ. รวมถึงกลุ่ม กปปส.เพื่อให้ได้ข้อสรุปในเรื่องของวันเลือกตั้งใหม่ที่เหมาะสม โดยที่ประชุมก็เห็นว่าระยะเวลาที่จะจัดการเลือกตั้งใหม่นั้น ไม่ควรเร็วเกินไปจนอาจทำให้กระบวนการจัดการเลือกตั้งใหม่ที่ขึ้นเสียไปได้อีก ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ช้าเกินเพราะจะทำให้รัฐบาลอยู่รักษาการนานเกินไป สำหรับประเด็นกรอบระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญมาตรา 93 กำหนดว่า กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งให้ได้ ส.ส.ในส่วนที่ยังไม่แล้วเสร็จให้ครบ 500 คนภายใน 180 วันนับแต่วันเลือกตั้งนั้น ถือว่าสิ้นผลไปโดยปริยาย และมาตรานี้จะใช้บังคับได้อีกครั้งต่อเมื่อ พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมฯ มีผลบังคับใช้

เมื่อถามว่า คำวินิจฉัยศาลฯ จะถือว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะหรือไม่ นายวรภัทร กล่าวว่า “ที่ประชุมเห็นว่าตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ถือว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ หรือเสมือนไม่เคยเกิดขึ้น แต่ถือว่าการเลือกตั้งได้เกิดขึ้นแล้วเป็น 1 ครั้ง ซึ่งก็มีการสอบถามกันว่าแล้วหากพรรคประชาปัตย์ไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งขันอีกในการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีผลให้ต้องถูกยุบพรรคตามมาตรา 91(2) ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองหรือไม่นั้น ที่ประชุมมองว่า มาตรา 91(2) เขียนไว้ว่าหากพรรคการเมืองใดไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง 2 ครั้งติดกัน หรือในระยะเวลา 8 ปีติดต่อกันสุดแต่ระยะเวลาใดยาวกว่ากัน จึงจะเป็นเหตุให้พรรคการเมืองสิ้นสภาพ ซึ่งคำว่า “หรือ” นี้ทำให้แม้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งผู้สมัครอีกก็ไม่ทำให้สิ้นสภาพพรรคการเมืองได้


กำลังโหลดความคิดเห็น