รายงานการเมือง
ทำเอาองคาพยพในหมากกระดานต่อสู้ เพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมืองของประเทศไทย อดสงสัยไม่ได้ว่า จู่ๆ ทำไม “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” (นปช.) ก็เปลี่ยน “ผู้นำ” กลางศึก
เปลี่ยนจาก “ป้านกแสก-ธิดา ถาวรเศรษฐ” ที่นั่งตำแหน่ง ประธาน นปช.มาเกือบ 3 ปี สลับตำแหน่งให้ “คางคกตู่-จตุพร พรหมพันธุ์” มานั่งตำแหน่งประธาน นปช.แทน แถมเพิ่มตำแหน่งตามโครงสร้างใหม่อีกหลายตำแหน่ง โดยมอบให้ “อำมาตย์เต้น-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” รมช.พาณิชย์ นั่งตำแหน่ง “เลขาฯ นปช.” เป็นแม่บ้านคู่ใจของ “ทั่นประธานตู่” แถมยังรักษาน้ำใจดันก้น “ธิดา” ให้นั่งตำแหน่งที่ปรึกษา นปช.
หากย้อนกลับไปในช่วงควบปีที่ผ่านมาชื่อของ “ตุ๊ดตู่” ถูกปล่อยออกมาว่าจะเข้ามานั่งประธาน นปช.คนใหม่ตลอดเวลา นั่นเพราะการนำของ “ธิดาแดง” มีหลายพรรคหลายพวกใน นปช.ไม่ชอบขี้หน้า
ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2553 ซึ่ง “วีระกานต์ มุสิกพงศ์” ลาออกจากตำแหน่งประธาน นปช.ทิ้ง “แดง นปช.” ไปกะทันกันก่อนที่จะจบศึกฟาดฟันกับ “รัฐบาลอภิสิทธิ์” เมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.53 ทำให้มีการเซ็ตทีมงานกันใหม่ทั้งหมด
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในระดับแกนนำก็ถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 ขั้วชัดเจน ฝั่งหนึ่งเป็น “แกนนำ นปช.ขั้วการเมือง” นำโดย “จตุพร-ณัฐวุฒิ-เหวง”สนับสนุนให้ “ธิดา” ซึ่งในขณะนั้นมีบทบาทอย่างสูงขึ้นนั่งเป็นประธาน นปช.เพราะทั้ง “จตุพร-ณัฐวุฒิ-เหวง” ไม่อยากเปลืองตัวลงมาเล่นในบทบาทนี้เอง จึงต้องหา“หุ่นเชิด” ที่มีความเหมาะสมมากที่สุดและสามารถควบคุมชักใยอยู่เบื้องหลังได้ ชื่อ “ธิดา” จึงถูกโหวตให้รับตำแหน่งประธาน นปช.อย่างเหนือความคาดหมาย
อีกฝั่งหนึ่งเป็น “แกนนำ นปช.ฮาร์ดคอร์” มี “แรมโบ้อีสาน-สุภร อัตถาวงศ์” และ “ขวัญชัย ไพรพนา” นำทีม ซึ่งไม่พอใจการขึ้นนำของ “ป้าธิดา” จนมีข่าวกระฉ่อนถึงขั้นว่ายกทีมวอล์คเอาท์ออกจากห้องประชุมกันเลยทีเดียว
กระนั้นบทบาทหลักของ “ป้าธิดา” ก็แค่ดูแลพี่น้องคนเสื้อแดงที่ยังติดอยู่ในคุกจากข้อหาชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เหลือก็เป็นแค่หุ่นเชิดของ “ตุ๊ดตู่-ไอ้เต้น” การตัดสินใจเคลื่อนไหวในนาม นปช.แทบไม่มีบทบาทเลย หนำซ้ำยังมีข่าวหลุด-ข่าวรั่วมาโดยตลอดว่าเขม่นกับแกนนำ นปช.หลายคน เพราะแม้จะรู้ตัวว่าเป็นได้แค่หุ่นเชิด แต่ไม่วายชอบใช้อำนาจบาตรใหญ่ข่มขู่แกนนำ นปช.อยู่ร่ำไป จึงสร้างความขุ่นเคืองใจกับ “แดงฮาร์ดคอร์” ที่ไม่เอา “ป้าธิดา” เป็นทุนอยู่แล้ว
บรรดาโจกท์ของ “ป้าธิดา” ก็เบอร์ต้นๆ อย่าง “สุภร-ขวัญชัย” แถมระยะหลังเพิ่มตัวละครใหม่ อาทิ “พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์-ชินวัฒน์ หาบุญพาด” เข้ามาอีก ทะเลาะกันแรงถึงขั้น “แดงฮาร์ดคอร์” ออกมาปล่อยข่าวพร้อมแยกตัวออกจาก นปช. แต่ก็ยังเกรงใจบารมีของ “ตุ๊ดตู่-ไอ้เต้น” อยู่บ้าง
กระทั่งมาถึงศึกใหญ่ของ นปช.ที่ต้องรักษาอำนาจทางการเมืองให้ “นายใหญ่” ซึ่งมีคู่ต่อสู้ที่สมน้ำสมเนื้ออย่างมวลมหาประชาชนในนาม กปปส.นำโดย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ที่เคยพะบู๊กันมาตั้งแต่ปี 53-53 เลยเทิดลามปรามไปเผาเมืองจนวายวอดมาแล้ว แถมยังมีบรรดา “องค์กรอิสระ” จ้องจะฟัน-ทุบ “ระบอบทักษิณ” ให้หมดสิ้นจากสังคมไทยอีก
สถานการณ์เข้มข้นทุกขณะ แกนนำนปช.ก็สุมหัวปรึกษาหารืออัพเดทกันตลอด หลายๆวงก็มองไปในทางเดียวกันว่า หากยังปล่อยให้ “ป้าธิดา” เป็นจ่าฝูงกุมบังเหียนต่อไป หากต้องยกทัพจับศึกขึ้นมาจริง จะไม่สามารถประสาน “แกนนำแดงฮาร์ดคอร์” ได้ทั้งหมด
เพราะทุกคนใน นปช.เห็นพ้องว่า “ม็อบกำนัน” ทรงพลานุภาพอย่างมาก ทั้งมวลมหาประชาชนที่เป่านกหวีดทีก็แห่แหนกันมาแบบมืดฟ้ามัวดิน ทั้งยังหวาดระแวง “มือที่มองไม่เห็น” ซึ่งเป็นแบ็คอัพอยู่เบื้องหลังอีก
หากถึงวันดีเดย์แล้วยังมัวแตกคอกันอยู่ไม่เป็นการดีแน่ จึงต้องปรับโครงสร้างฐานอำนาจทั้งหมด ชื่อของ “ตุ๊ดตู่” จึงถูกจุดพลุเสนอเข้าในวงประชุม เพราะคงไม่มีใครเหมาะสมไปกว่านี้แล้ว แม้ว่าจะมีชื่อ “อำมาตย์เต้น” ขึ้นมาเทียบเคียงวัดสเปก แต่พะนะทั่นก็รีบชิงออกตัวว่า ยังมีตำแหน่งใน ครม. กอดเก้าอี้อำมาตย์ไว้อย่างเหนียวแน่น
แน่นอนว่าการปรับโครงสร้าง นปช.ครั้งนี้ก็เพื่อกระชับอำนาจ มีการรื้อผังโครงสร้างให้ดูมีหัวนอนปลายเท้ามากขึ้น อีกทางก็เพื่อสมานแผลในใจของ “แดงฮาร์ดคอร์” ให้เข้ามาร่วมเคลื่อนไหวขบวนอย่างเต็มที่มากขึ้น
ทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่า แนวทางของ “คนเสื้อแดง” นับแต่นี้ไปจะเก็บพับตำราวิชาการ ลดบทบาทการพูดพล่ามจามแนวทางเดิมของ “ป้านกแสก” เข้ากรุ เพื่อเปิดทางให้ “แดงฮาร์ดคอร์” มาเป็นทัพหน้าปรับโหมดเล่นเกมแรงเต็มสูบตามกมลสันดาน อีกทั้งมองว่า “ม็อบกำนัน” ที่แม้จะมี “ของ” เช่นกัน แต่โดยรวมก็ยังเต็มไปด้วยลุงๆ ป้าๆ หรือคนเมืองเป็นส่วนใหญ่ จะเรียกว่า “ม็อบผู้ดี” ก็คงไม่ผิด
การหยิบเอาจุดเด่นถ่อย-เถื่อนมาใช้ในห้วงเวลานี้ก็น่าจะได้ผลชะงัก เพราะในวันนี้รัฐบาลง่อยเปลี้ยเสียขาขยับอะไรได้ไม่เต็มเต็มหน่วย จึงต้องหน้าที่ นปช.ก็ต้องออกมากองกำลังพิทักษ์อำนาจให้แก่ “ระบอบทักษิณ” อีกทั้งยังต้องปลุกความสามัคคีรวมพลังสร้างผลงานให้ประทับใจ “นายใหญ่” เช่นเคย
เมื่อเสร็จศึกจะได้เข้าคิววางบิลเคลมผลงานได้เต็มที่
คำถามมีว่า บรรดาโจกแดงทั้งหลายยังจะทุ่มเทสุดตัวเพื่อ “นายใหญ่” อีกหรือไม่ เพราะแต่ละคนเปลี่ยนไปไม่เหมือนก่อน เดิมเป็นพวกสิ้นไร้ไม้ตอกหาทางสร้างผลงานหวังลาภยศสรรเสริญ รวมถึง “น้ำเลี้ยง” ที่จะผ่านเข้ากระเป๋าตัวเอง แต่บัดนี้แต่ละคนขึ้นชั้นเป็น “เศรษฐีเงินล้าน” กันถ้วนหน้าแล้ว
ครั้นจะสุ่มเสี่ยงทุ่มสรรพกำลังเต็มที่ก็ใช่ที อีกทั้งแต่ละรายก็มีคดีติดตัวเป็นหางว่าว ยังมีการเงื่อนไขถอนประกันค้ำคออยู่
น่าสนใจอีกกับบทบาทของ “ไอ้ตู่” ที่ขึ้นวอเป็นผู้นำองค์กร ที่เริ่มเปิดหัวโชว์ผลงานด้วยกับ “ชกข้ามรุ่น” จองเวร “บิ๊กตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผบ.ทบ. โดยกล่าวหากองทัพอย่างสาดเสียเทเสีย ทำให้มองได้ว่า กลยุทธ์ของเสื้อแดงในยุค “ตุ๊ดตู่” อาจจะไม่ได้มุ่งประหัตประหารฟาดปากกับ กปปส.ที่วันนี้ติดลมบนไปแล้วโดยตรง
แต่เลือกเป้าจี้ไปที่ “ประยุทธ์” ซึ่งเป็นคีย์แมนสำคัญที่จะตัดสินใจว่าทหารจะออกมาเอ็กเซอร์ไซส์หรือไม่
ทางหนึ่งก็หวังใช้ความโอหังข่ม ผบ.ทบ.ให้อยู่ในที่ตั้งไม่ออกมาแอคชั่นอะไรมากมาย เพราะรู้ดีว่าตอนนี้ “ประยุทธ์” หวังแค่ประคองตัวให้เกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย.นี้ บนตำแหน่งสุดสูงของกองทัพบกแบบไม่มีรอยด่างพร้อย
แต่อีกทางหนึ่งก็อาจจะมองข้ามช็อตตามคำบัญชาของ “ทักษิณ” ที่หวังสะกิดเรียกให้ทหารออกมารัฐประหารยึดอำนาจให้รู้แล้วรู้รอด เพื่อหวังใช้สถานการณ์พลิกเกมเรียกร้องหาความเห็นใจว่าตกเป็นผู้ถูกกระทำอีกครั้ง เตรียมร้องแรกแหกกระเฌอให้ชาวโลกเห็นใจ และพลิกให้ทหารกลายเป็นผู้ร้ายตามท้องเรื่อง
เพราะเกมนี้ “ทักษิณ” คงประเมินแล้วว่าหากยืดเยื้อต่อไป ฝ่ายตัวเองจะเสียเปรียบขึ้นทุกขณะ ด้วยคดีความที่เรียงคิวให้ฝ่ายศาล-องค์กรอิสระหยิบยกขึ้นมาเชือด “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” เป็นว่าเล่น ฝ่าย กปปส.เองก็พร้อมที่ประวิงเวลารอให้ผลกรรมย้อนศรมาทำลาย “ระบอบแม้ว” ให้สิ้นซากไปเอง
จึงงัดเกมเสี่ยงเพิ่มแรงกดดันไปที่ “ท็อปบูต” เพื่อหวังให้เกิด “จุดเปลี่ยน” ที่อาจจะทำให้ฝ่ายตัวเองได้เปรียบขึ้นมา